ผอ.โครงการโรคเอดส์ของสหประชาชาติกล่าวว่ารัฐบาลในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิคจำกัดสิทธิ์ของผู้ที่ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงสูงจะติดเชื้อโรคเอดส์

  • Daniel Schearf
    Nittaya Maphungphong

ผอ.โครงการโรคเอดส์ของสหประชาชาติกล่าวว่ารัฐบาลในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิคจำกัดสิทธิ์ของผู้ที่ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงสูงจะติดเชื้อโรคเอดส์

โครงการโรคเอดส์ของสหประชาชาติระบุว่า 90% ของประเทศต่างๆในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค มีกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่กีดกั้นการป้องกันและการบำบัดรักษาโรคเอดส์ และว่ากฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิของประชาชน ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัส HIV ที่ทำให้เป็นโรค AIDS เพิ่มขึ้น และว่าควรจะปรับเปลี่ยนกฎหมายเหล่านี้ เพื่อไม่ให้มีแต่การลงโทษ แต่จะต้องปกป้องคุ้มครองประชาชนด้วย

โครงการโรคเอดส์ของสหประชาชาติระบุว่า 90% ของประเทศต่างๆในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค มีกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่กีดกั้นการป้องกันและการบำบัดรักษาโรคเอดส์ และหลังจากที่เชื้อไวรัส HIV ที่ทำให้เป็นโรค AIDS ปรากฏขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว จนถึงขณะนี้ ยังมีประเทศในเอเชีย-แปซิฟิค 19 ประเทศที่มีกฎหมายกำหนดให้การมีเพศสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรม และ 16 ประเทศที่จำกัดการเดินทางของผู้ที่ติดเชื้อ HIV อยู่ต่อไป

นาย Michel Sidibe ผอ. โครงการโรคเอดส์ของสหประชาชาติ กล่าวในที่ประชุมของคณะกรรมการเรื่องโรค AIDS และกฎหมาย ที่กรุงเทพมหานครเมื่อเร็วๆนี้ว่า กฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิของประชาชน ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัส HIV ที่ทำให้เป็นโรค AIDS เพิ่มขึ้น และว่าควรจะปรับเปลี่ยนกฎหมายเหล่านี้ เพื่อไม่ให้มีแต่การลงโทษ แต่จะต้องปกป้องคุ้มครองประชาชนด้วย ไม่สร้างบรรยากาศแวดล้อมที่ทำให้ผู้คนต้องหลบลงใต้ดิน และเข้าไม่ถึงบริการป้องกันและการบำบัดรักษา

นาย Michel Sidibe ผอ. โครงการโรคเอดส์ของสหประชาชาติ ยกตัวอย่างในประเทศไทย ที่การขายบริการทางเพศเป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่สังคมไม่ถึงกับปรักปรำดำเนินคดี ปรากฎว่า การติดเชื้อ HIV ในหมู่ผู้ขายบริการทางเพศเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวในช่วงห้าปีที่ผ่านมา

อดีตวุฒิสมาชิกจอน อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมชั้นแนวหน้าในเรื่องโรค AIDS ให้ความเห็นว่า แม้ประเทศไทยจะให้ยาต้านเอดส์แก่ทุกคนที่ต้องการ แต่นโยบายนี้ให้ใช้กับพลเมืองของประเทศเท่านั้น ในขณะที่แรงงานอพยพมากกว่าสองล้านคน และบรรดาผู้ลี้ภัยขอรับบริการที่ว่านี้ไม่ได้ และยังมีการใช้แนวนโยบายเดียวกันนี้กับนักโทษในเรือนจำด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติในเรื่องการรณรงค์ต่อต้านโรค AIDS รวมทั้งการใช้ถุงยางอนามัย

การประชุมเรื่องโรค AIDS และกฎหมายครั้งนี้ นับเป็นการประชุมในระดับภูมิภาคเป็นครั้งแรกที่มุ่งเน้นในเรื่องข้อจำกัดทางกฎหมายและสังคม ซึ่งยังจะมีต่อไปอีกในอนาคตอย่างแน่นอน