ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ รับผลช้ำจากสงครามยูเครน

FILE - GMC Hummer EVs are seen on an assembly line at he General Motors Factory ZERO electric vehicle assembly plant in Detroit, Michigan, Nov. 17, 2021.

อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก เจอปัจจัยรุมเร้าหลายด้าน ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 การขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ และล่าสุด ผลพวงจากสงครามยูเครน เข้ามาซ้ำเติมธุรกิจยานยนต์อีกระลอกแล้ว

ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกต้องเผชิญกับการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะไมโครชิป และทุกวันนี้เมื่อมาตรการที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดค่อยๆคลายตัว ผู้คนเริ่มกลับมาทำงาน ทำให้เกิดความต้องการรถยนต์เพิ่มมากขึ้น จนสินค้านั้นไม่เพียงพอต่อตลาด

บิลล์ วอล์ช จูเนียร์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ที่ต้องประสานงานกับคลังรถยนต์จำนวน 27 แห่ง ในประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยกับสำนักข่าว VOA ว่า ปกติในช่วงเข้าฤดูใบไม้ผลิแบบนี้ เราต้องมีรถยนต์ในคลังรถ 2,000 คัน แต่ปรากฏว่าเรามีแค่ 600 คัน เขาอยากที่จะเห็นจำนวนรถยนต์ในสต็อค กลับสู่ภาวะปกติเสียที

ในขณะที่ความต้องการของตลาดกำลังร้อนแรง แต่สินค้าในคลังรถกลับมีน้อยกว่าช่วงเวลาปกติร้อยละ 65 ปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง คือการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ หรือ “ชิปประมวลผล” ที่จำเป็นสำหรับระบบไฟฟ้าของรถยนต์รุ่นใหม่ โดยปัญหานี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการผลิตที่ชะงักไปในช่วงการระบาดใหญ่

สำหรับเรื่องของยอดขาย วอล์ชชี้ว่าลดลงประมาณเดือนละ 200 คัน ซึ่งฝ่ายการผลิตยอมรับว่าปัญหาที่เผชิญอยู่ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในเร็ววัน แม้จะมีความพยายามแก้ไขในเรื่องห่วงโซ่อุปทาน ที่เจอทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงาน การขนส่ง และยังมีภัยจากธรรมชาติเข้ามา เขามองว่าสถานการณ์นี้อาจจะดีขึ้นในปีหน้า หรืออีก 2 ปีข้างหน้า แต่เชื่อว่าจำนวนรถยนต์ที่ผลิตใหม่ อาจไม่กลับไปอยู่ในระดับ เหมือนกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19

ย้อนกลับไปในปี 2021 ธุรกิจขนส่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก ส่วนหนึ่งมาจากการปิดคลองสุเอซหลายสัปดาห์ และล่าสุดในปีนี้อีกปัจจัยที่ส่งผลลบคือการสู้รบในสงครามยูเครน

ฮานิ มามาสซานิ หัวหน้าโครงการกิตติมศักดิ์ด้านการขนส่ง จากมหาวิทยาลัย Northwestern University ในรัฐอิลลินอยส์ ให้ทัศนะว่า ยูเครนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญ และในภาวะที่ห่วงโซ่อุปทานของทั้งโลกมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันเช่นนี้ เมื่อมีจุดใดที่สะดุดหยุดชะงักลง ย่อมที่จะส่งผลกระทบต่อทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หัวหน้าโครงการกิตติมศักดิ์ด้านการขนส่ง จากมหาวิทยาลัย Northwestern University เพิ่มเติมด้วยว่า ระบบห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยานยนต์ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ออกแบบมาให้ใช้ต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพสูงสุด จนขาดความยืดหยุ่นและไม่เหลือช่องว่างที่จะรับมือกับการหยุดชะงักใดๆได้

ด้านบริษัท Avnet Silica ที่จัดจำหน่ายสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในภาคพื้นยุโรป รายงานว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ อุตสาหกรรมรถยนต์สูญเสียรายได้ไปแล้ว มากกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์

ขณะที่ผู้ที่ต้องรับผลกระทบในท้ายที่สุด คงหนีไม่พ้นผู้บริโภค ที่ต้องรอสินค้าที่การผลิตล่าช้าออกไป อีกทั้งยังต้องควักเงินในกระเป๋าเพื่อจ่ายสำหรับรถที่ต้องการในราคาที่แพงขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับรถยนต์ที่ปรับสูงขึ้นไปพร้อมๆกัน ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 40 ปี