ไอเอ็มเอฟไฟเขียวเงินกู้ $15,600 ล้านให้ยูเครน

FILE PHOTO: The IMF logo is seen outside the headquarters building in Washington

ยูเครนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ บรรลุข้อตกลงเงินกู้ให้กับยูเครนมูลค่า 15,600 ล้านดอลลาร์ มุ่งเป้าสนับสนุนด้านการเงินให้กับรัฐบาลกรุงเคียฟที่ตึงเครียดหนักจากการรุกรานของรัสเซีย ตามรายงานของเอพี

กระทรวงการคลังยูเครน ระบุในวันพุธว่า โครงการสินเชื่อช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟจะ “ช่วยระดมทุนจากหุ้นส่วนนานาประเทศของยูเครน เช่นเดียวกับรักษาเสถียรภาพด้านการเงินระดับมหภาค และสร้างความเชื่อมั่นถึงหนทางในการฟื้นฟูประเทศหลังจากภาวะสงครามหลังจากที่ยูเครนได้รับชัยชนะในการต่อสู้กับผู้รุกราน”

โครงการเงินกู้ดังกล่าวเป็นไปในระยะเวลา 4 ปี โดยในช่วง 12-18 เดือน จะมุ่งเน้นเรื่องการช่วยเหลือยูเครนในการจัดการภาวะขาดดุลงบประมาณขนาดใหญ่ และผ่อนคลายแรงตึงเครียดในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อการใช้จ่ายในยูเครน ส่วนเงินกู้ที่เหลือในโครงการนี้จะเน้นเรื่องการสนับสนุนยูเครนในการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป รวมทั้งการฟื้นฟูประเทศหลังภาวะสงคราม ตามแถลงการณ์ของไอเอ็มเอฟเมื่อวันอังคาร

อย่างไรก็ตาม การพิมพ์เงินเพื่อใช้เป็นเงินบำนาญของประชาชน เงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบริการขั้นพื้นฐานในประเทศ อาจทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจยูเครนเลวร้ายลงได้เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและสั่นคลอนเสถียรภาพด้านค่าเงินของยูเครนได้

ทั้งนี้ ยูเครนเพิ่มงบประมาณด้านการทหารในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจประเทศหดตัวลงมาที่ราว 30% ในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งกระทบต่อรายได้ภาษีของรัฐบาลยูเครน นำไปสู่ภาวะขาดดุลงบประมาณครั้งใหญ่ ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และชาติพันธมิตรอื่น ๆ ของยูเครน

SEE ALSO: รัสเซียส่งโดรน 20 ลำโจมตียูเครน - สีหารือปูตินวันที่สาม

ความช่วยเหลือฉุกเฉินเหล่านี้ได้ทำให้ยูเครนยุติการพึ่งพาเงินที่ผลิตโดยธนาคารกลางยูเครนและเงินกู้จากภาครัฐ และถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนในช่วงเริ่มต้นของสงคราม แต่อาจเป็นการเพิ่มภาวะเงินเฟ้อและทำให้ค่าเงินยูเครนร่วงหนักหากดำเนินมาตรการดังกล่าวต่อไปเป็นเวลานาน

ส่วนเรื่องนโยบายเศรษฐกิจและความโปร่งใสของยูเครน ก่อนสงครามปะทุขึ้น ยูเครนมีความก้าวหน้าในการปฏิรูประบบธนาคารและทำให้รูปแบบสัญญาจ้างของรัฐมีความโปร่งใส แต่ยูเครนยังคงอยู่ในอันดับ 122 จาก 180 ประเทศของโลกในดัชนี Corruption Perceptions Index หรือ CPI ของหน่วยงาน Transparency International

อย่างไรก็ตาม ทางไอเอ็มเอฟ ระบุว่า หลังจากการปรึกษาเบื้องต้น รัฐบาลยูเครนมี “ความก้าวหน้าในการปฏิรูปเพื่อสร้างเสริมธรรมาภิบาล ต่อต้านคอร์รัปชันและเคารพหลักนิติธรรม รวมทั้งวางรากฐานการเติบโตของเศรษฐกิจหลังสงคราม ซึ่งวาระของการปฏิรูปในด้านเหล่านี้จะยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง”

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ได้รับเลือกเป็นผู้นำประเทศเมื่อปี 2019 จากบทบาทผู้ต่อต้านกฎระเบียบเดิมๆ และผลักดันการต่อต้านการคอร์รัปชันในประเทศ และเมื่อเดือนมกราคม ยูเครนสั่งปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายราย รวมทั้งผู้ช่วยรัฐมนตรีและผู้ว่าการรัฐในภูมิภาคเป็นที่แนวหน้าในสงครามยูเครนเนื่องจากประเด็นการทุจริต ซึ่งบางส่วนเกี่ยวข้องกับงบประมาณด้านการทหารยูเครน และสร้างความอับอายให้กับรัฐบาลกรุงเคียฟอย่างยิ่ง

  • ที่มา: เอพี