วิเคราะห์ความท้าทายของ 'บอริส จอห์นสัน' หลังพรรคอนุรักษ์นิยมชนะเลือกตั้งถล่มทลาย

Your browser doesn’t support HTML5

UK Elections analysis


นักวิเคราะห์มองว่าชัยชนะของพรรคอนุรักษ์นิยม หรือ Conservative Party ภายใต้แกนนำของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าจอห์นสันคิดถูกที่หาเสียงด้วยนโยบายผลักดันให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (อียู)​ให้สำเร็จ หรือ Get Brexit done

กลยุทธ์ของจอห์นสัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมองว่าแม้แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับ Brexit ในการลงประชามติเมื่อ 3 ปีก่อน ก็ยังรู้สึกเอือมระอากับการเจรจานำอังกฤษออกจากอียูที่ยืดเยื้อยาวนาน จนอยากให้ Brexit จบ ๆ ไป

การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมจึงได้ที่นั่งในสภาไป 365 ที่นั่ง และมีเสียงข้างมากถึง 40 เสียง โดยจอห์นสันให้คำมั่นว่าอังกฤษจะออกจากอียูภายในสิ้นเดือนมกราคมในปีหน้า โดยไม่มีคำว่า “ถ้า” “แต่” หรือ “บางที” อีกต่อไป

แต่ถึงจะเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ นักวิเคราะห์มองว่ายังมีความท้าทายอื่น ๆ รออยู่ โดยเฉพาะรายละเอียดของการหย่าขาดออกจากอียู และอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร

ในการเจรจา Brexit นักวิเคราะห์คาดว่าจอห์นสันจะต้องเจอกับความขัดแย้งภายในพรรคอนุรักษ์นิยม เพราะครึ่งหนึ่งของคณะรัฐมนตรีของเขาเห็นชอบกับเงื่อนไขแบบ soft Brexit ที่จะให้อังกฤษต้องรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองที่ใกล้ชิดกับอียู

นายกรัฐมนตรีจอห์นสันตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับอียูภายในสิ้นปีหน้า แต่ผู้นำกลุ่มประเทศอียูมองว่าเป็นเป้าหมายที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะการเจรจาการค้าใช้เวลานานหลายปี พวกเขายังหวังว่าสหราชอาณาจักรและอียูจะยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันในอนาคต

ความท้าทายอีกประการหนึ่ง คือสัญญาณที่นักวิเคราะห์มองว่าสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเคยลงมติว่าต้องการอยู่กับอียูต่อไป อาจจะต้องการแยกตัวออกจากอังกฤษมากขึ้น หรืออย่างถาวร

ในประเทศสกอตแลนด์ พรรค Scottish Nationalists หรือ SNP เอาชนะอย่างท่วมท้น ได้ไป 48 ที่นั่งจากทั้งหมด 59 ที่นั่ง ทำให้มีการคาดคะเนกันว่า พรรค SNP จะต้องการแยกสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักรอีกครั้ง ซึ่งอาจจะนำไปสู่วิกฤติการต่อสู้ทางรัฐธรรมนูญได้ หลังจากที่เมื่อ 5 ปีก่อนมีการลงประชามติไปแล้ว ซึ่งครั้งนั้น เสียงข้างมากร้อยละ 55 ของชาวสก็อตเลือกที่จะอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไป

นิโคลา สเตอร์เจียน (Nicola Sturgeon) หัวหน้าพรรค SNP ได้กล่าวว่า ภายในสิ้นปีนี้ เธอจะขอให้มีการจัดการลงประชามติครั้งที่สอง

สเตอร์เจียนกล่าวว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้แสดงให้เห็น “เส้นทางที่แยกออกจากกันชัดเจน” ระหว่างอังกฤษและสกอตแลนด์ เธอยังให้สัมภาษณ์บีบีซีว่า ในขณะที่บอริส จอห์นสันมีภารกิจ Brexit ที่ต้องจัดการ เธอเองก็มีภารกิจของเธอ คือการเสนอทางเลือกให้กับชาวสก็อต ก่อนหน้านี้ บอริส จอห์นสันเคยบอกว่าเขาจะไม่ยอมให้มีการจัดการลงประชามติดังกล่าวในสกอตแลนด์

ส่วนในไอร์แลนด์เหนือ การเลือกตั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ผู้สมัครแนวคิดชาตินิยมได้คะแนนเสียงข้างมาก ผู้สมัครชาตินิยมเป็นผู้ที่ต้องการเห็นไอร์แลนด์เหนือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไอร์แลนด์ มากกว่าที่จะให้เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร และยังเป็นผู้ลงมติไม่เห็นด้วยกับ Brexit

ชัยชนะการเลือกครั้งนี้ เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของพรรคอนุรักษ์นิยม แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวตอที่เป็นอันตรายต่อความเป็นสหราชอาณาจักร ของอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือด้วยเช่นกัน