สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ สองศตวรรษแห่งมิตรภาพและ 185 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและสหรัฐฯ ภายในอาคารหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ ที่เปิดเป็นพิเศษสำหรับการฉลองครั้งนี้ ท่ามกลางตัวแทนระดับสูงของไทยและสหรัฐฯที่ร่วมงานได้ไมตรีจิต
บรรยากาศในห้องโถงใหญ่ของอาคารโธมัส เจฟเฟอร์สัน ในหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯในกรุงวอชิงตัน ในค่ำคืนวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ดูสวยงามและคึกคักเป็นพิเศษ ในค่ำคืนการจัดเลี้ยงเฉลิมฉลองสองศตวรรษแห่งมิตรภาพและ 185 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและสหรัฐฯ
บทเพลงพระราชนิพนธ์ 'แสงเทียน' และเพลงพระราชนิพนธ์อีกหลายเพลง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่อันเชิญมาบรรเลงในโอกาสพิเศษ โดยคณะวงดนตรีแจ๊ส John Di Martino Quartet ศิลปินแจ๊สระดับโลกชาวอเมริกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสีสันในบรรยากาศแห่งมิตรภาพ และการร่วมน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระมหากษัตริย์ไทย โดยมีจุลพรรณน์ ติละพรพัฒน์ และสุภาวดี เลิศสิทธิชัย 2 ศิลปินชาวไทยจากนครนิวยอร์กได้รับเชิญร่วมบรรเลงด้วย
'รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงของเรา จริงๆแล้วก็เล่นมาหลายครั้งเหมือนกันแต่วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีมากที่เล่นให้ชาวต่างชาติได้ฟังอีกครั้งหนึ่ง' สุภาวดี เลิศสิทธิชัย นักดนตรีแซกโซโฟนและนักร้องนำในมินิคอนเสิร์ท ให้สัมภาษณ์กับ วีโอเอ ไทย
จุลพรรณน์ ติละพรพัฒน์ นักกีตาร์ ดีกรีวิทยาลัยการดนตรีเบิร์กลีย์ เราก็สื่อสารกับหัวหน้าวง จอห์น ดิ มาร์ติโน ได้เป็นอย่างดี ก็ส่งโน็ตดนตรีเพื่อซักซ้อมกันล่วงหน้า
'ตื่นเต้นมากครับ เพราะที่หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯก็มีการจัดแสดงดนตรีแจ๊สมาหลายครั้งแล้ว เคยดูในประวัติศาสตร์เหมือนกัน รู้สึกเป็นเกียรติมาก'
เช่นเดียวกับการจัดแสดงเครื่องดนตรีไทยทั้ง 10 ชิ้น ซึ่งเป็นของขวัญล้ำค่าที่ทางหอสมุดรัฐภาได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมื่อปีพุทธศักราช 2503 และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน เลือกอาคารแห่งนี้เป็นสถานที่จัดงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ที่ยืนยาวของทั้งสองประเทศ
ท่ามกลางผู้แทนระดับสูงจากรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐสภาสหรัฐฯ รวมทั้งแขกผู้มีเกียรติชาวไทยและชาวอเมริกันจำนวนมากที่ได้รับเชิญไปร่วมงานด้วยไมตรีจิต
นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ไทย ถึงการร่วมเฉลิมฉลองในงานสำคัญครั้งนี้
'สถานที่แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เพราะเมื่อปี พ.ศ.2503 (ค.ศ.1960) ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จที่นี่ แล้วก็ได้พระราชทานเครื่องดนตรีไทยให้กับหอสมุดรัฐสภาแห่งนี้ ซึ่งเป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ของสัมพันธไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสหรัฐฯ
Your browser doesn’t support HTML5
ทางสถานทูตฯ เราก็เลยขอใช้สถานที่นี่เพื่อรำลึกถึงการเสด็จเยือนครั้งนั้น เพื่อให้เพื่อนอเมริกันทั้งในรัฐสภา รัฐบาล และภาคเอกชนได้มาร่วมกันฉลอง 185 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทย-สหรัฐฯ และ 200 ปีของการติดต่อกันครั้งแรกของ 2 มิตรประเทศ' รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เปิดเผยกับวีโอเอ ภาคภาษาไทย
นางแมรี่ รอยซ์ (Marie Royce) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กิจการด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ในฐานะตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯที่เดินทางไปร่วมเป็นเกียรติ
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่า อาคารหอสมุดรัฐสภา ถือเป็นสถานที่สำคัญและเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการจัดงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อันยาวนานของทั้งสองประเทศ ที่มีมากว่า 185 ปีในด้านการทูต และกว่า 2 ศตวรรษนับตั้งแต่มีการติดต่อระหว่างกันก่อนจะเป็นมิตรประเทศต่อกันมาช้านาน
ทางด้าน พ.ท. หญิง แทมมี ลัดดา ดักเวิร์ธ สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ลูกครึ่งไทย จากรัฐอิลลินอยส์ บอกว่า ภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในบรรยากาศการเฉลิมฉลองมิตรภาพทั้งในฐานะคนที่มีเชื้อสายทั้งไทยและสหรัฐฯ
'รู้สึกภูมิใจมากนะคะที่ว่าตัวเองได้เป็นคนมีเชื้อสายมาจาก 2 ประเทศ และ 2 ประเทศที่รักของแทมมีได้มาฉลองกันว่า 200 ปีแล้วที่เราช่วยกัน เป็นเพื่อนกัน แล้วก็นึกถึงว่าต่อไปจากนี้ก็ขอให้มีอีก 200 ปี ที่อเมริกากับเมืองไทยจะเป็นเพื่อนใกล้ชิดกันตลอด'
กิจกรรมการเฉลิมฉลอง "สองศตวรรษแห่งมิตรภาพและ 185 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและสหรัฐฯ" ของทั้งสองประเทศจะจัดขึ้นต่อเนื่องตลอดปีนี้ เพื่อร่วมฉลองไมตรีจิตและมิตรภาพอันยาวนาน หลังมีเอกสารทางปะวัติศาสตรฺยืนยันการเริ่มต้นติดต่อระหว่างกันเป็นครั้งแรกในสมัยแผ่นดินรัชกาลที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2361 ก่อนจะพัฒนาเป็นสถาปนาและลงนามใน สนธิสัญญาการค้าและการพาณิชย์ ระหว่างราชอาณาจจักรสยามกับสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2376 หรือในอีก 15 ปีต่อมา โดยถือเป็นสนธิสัญญาการลงนามเป็นพันธมิตรและไมตรีจิตที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศแถบเอเชียของสหรัฐฯ