Your browser doesn’t support HTML5
รายงานการศึกษาเกี่ยวกับผลของการออกกำลังกายที่เคยทำมาหลายครั้ง มักจะใช้วิธีตอบแบบสอบถามหรือสัมภาษณ์ หรือติดตามประวัติการแพทย์ของกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่จะติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงๆ จัง ที่เกิดขึ้นกับร่างกายหรือสมองของกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทางพื้นฐานครอบครัว สภาพแวดล้อมที่เติบโตมา และลักษณะพันธุกรรม
รายงานที่จัดทำโดย University of Jyvaskyla และตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Medicine & Science in Sports & Exercise เน้นศึกษากลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะพันธุกรรมหรือ DNA เหมือนกันมากที่สุด นั่นคือคู่แฝดเหมือน โดยในงานวิจัยที่ใช้ชื่อว่า FinnTwin 16 นักวิจัยได้นำกลุ่มตัวอย่างที่เป็นแฝดเหมือนหลายคู่ อายุประมาณ 16 ปี มาติดตามเก็บข้อมูลจนมีอายุ 20 กว่าๆ
นักวิจัยได้คัดเลือกคู่แฝดที่มีพฤติกรรมการออกกำลังกายที่ต่างกันเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่มาทั้งหมด 10 คู่ โดยแฝดคนหนึ่งออกกำลังกายเป็นประจำตั้งแต่อายุ 16 ปี ส่วนอีกคนออกบ้างไม่ออกบ้าง จากนั้นเปรียบเทียบคู่แฝดกลุ่มนี้
ผลวิจัยพบว่า คู่แฝดที่ออกกำลังกายต่างกันมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและสมองต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังจะมีไขมันมากกว่า และเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับระบบเผาผลาญอาหาร แม้ว่าคู่แฝดส่วนใหญ่ในการทดลอง ต่างทานอาหารคล้ายกันในบริมาณพอๆ กัน
นอกจากด้านร่างกายแล้ว นักวิจัยฟินแลนด์พบว่าคู่แฝดกลุ่มนี้มีลักษณะการทำงานของสมองแตกต่างกัน กล่าวคือคนออกกำลังกายบ่อยๆ จะมีเซลประสาทมากกว่าแฝดคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายบ่อยๆ โดยเฉพาะประสาทส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและทำงานประสานกัน
ดร. Urho Kujala แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา University of Jyvaskyla ซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานวิจัยครั้งนี้บอกว่า แม้การศึกษาครั้งนี้จะมีขนาดเล็กคือใช้กลุ่มตัวอย่างไม่มาก แต่ตนเชื่อว่าผลการศึกษาที่ได้สามารถยืนยันได้ชัดถึงประโยชน์ของการออกกำลังกาย และที่สำคัญช่วยเน้นย้ำว่า “การมีร่างกายแข็งแรง สมองที่สดใสนั้น ไม่ได้กำหนดโดยสภาพแวดล้อมและพันธุกรรม แต่ยังขึ้นอยู่กับว่าใครออกกำลังกายมากกว่ากัน”
รายงานจาก NY Times / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล