Your browser doesn’t support HTML5
อดีตประธานาธิบดีทีโอดอร์ โรสเวลของสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ว่าตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นเหมือนกับการมี bully pulpit ซึ่งหมายถึงการมีโอกาสหรือสถานะพิเศษที่โดดเด่นมากกว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใดในการเรียกร้องความสนใจจากสื่อและจากสาธารณชนในสิ่งที่ผู้นำฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ต้องการเพื่อสนับสนุนวาระของตน
และคาลวิน คูลริดจ์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อราว 90 ปีที่แล้วผู้ได้รับการตั้งสมญาว่า “Silent Cal” หรือคาลผู้เงียบเชียบก็เคยให้ความเห็นไว้เช่นกันหลังจากพ้นตำแหน่งแล้วว่า คำพูดของประธานาธิบดีนั้นมีน้ำหนักมากมายและผู้นำสหรัฐฯ ไม่ควรแสดงความเห็นอย่างพร่ำเพรื่อมากเกินควร
เท่าที่ผ่านมาประธานาธิบดีคนต่างๆ ของสหรัฐฯ ก็ได้ใช้สถานะดังกล่าวในรูปแบบที่แตกต่างกันไป อย่างเช่นประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้อาศัยประโยชน์จากบุคลิกที่น่าดึงดูดของตนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ผ่านทางจอโทรทัศน์ ส่วนประธานาธิบดีบิล คลินตันนั้นดูจะพยายามวางตัวแบบสัมผัสใกล้ชิดและสื่อสารอย่างเรียบง่ายกับผู้คน
แต่ในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งการแสดงความเห็นทางโลกดิจิตัลสามารถทำได้อย่างง่ายดายแม้อาจจะถูกจำกัดโดยบางแพลตฟอร์มให้ไม่เกิน 280 ตัวอักษรนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ได้สร้างตัวอย่างและบรรทัดฐานใหม่เกี่ยวกับการสื่อสารของประธานาธิบดี ซึ่ง Ted Anthony ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมสื่อดิจิตัลของ AP ได้เสนอรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่าในยุคที่การสื่อสารระหว่างผู้ส่งและผู้รับสาสน์สามารถทำได้แทบจะทันทีผ่านทางสื่อดิจิตัลโดยไม่ต้องอาศัยสื่อกระแสหลัก
อย่างเช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์เหมือนสมัยก่อนนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เปิดยุคใหม่ของการสื่อสารโดยตรงกับประชาชนทางบัญชีทวิตเตอร์ @realDonaldTrump ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 88 ล้านราย
โดยนักวิเคราะห์ด้านสื่อดิจิตัลกล่าวว่าข้อความทวีตของประธานาธิบดีทรัมป์นั้นดูจะเน้นที่ปริมาณมากกว่าเนื้อหาหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และถึงแม้ในบรรดาผู้ติดตามทวีตของประธานาธิบดีทรัมป์กว่า 88 ล้านรายนี้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นสื่อมวลชนหรือนักวิเคราะห์การเมืองไม่ใช่ผู้ที่นิยมเลื่อมใสในตัวประธานาธิบดีทั้งหมดก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งซึ่งอาจปฏิเสธไม่ได้ก็คือแม้ผู้ติดตามจะชอบหรือไม่ชอบทวีตจากผู้นำสหรัฐฯ ที่มักออกมาให้ความเห็นตอนตีสองของวันก็ตาม แต่ข้อความเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ยากจะละเลยได้เพราะในแต่ละทวีตซึ่งอาจมีหลายครั้งในแต่ละวันนั้นมักจะมีข้อมูลหรือความเห็นในเรื่องราวต่างๆหลากหลายซึ่งทำให้เกิดหัวข้อข่าวหรือการสนทนาโต้แย้งเป็นประจำ
สำหรับผู้ที่สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์แล้ววิธีที่ว่านี้คือการสื่อสารโดยตรงจากผู้นำถึงประชาชนโดยปราศจากการกลั่นกรองหรืออคติของสื่อมวลชน ซึ่งมักถูกโจมตีว่าเป็นพวกเอียงซ้ายหรือมีอคติต่อประธานาธิบดี และผู้นิยมในตัวโดนัลด์ ทรัมป์ก็บอกว่านี่คือตัวอย่างของความโปร่งใสซึ่งทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและเข้าใจความคิดของประธานาธิบดีได้ แต่สำหรับอีกฝ่ายหนึ่งแล้วการทวีตอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักจากประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือการสร้างข้อมูลอย่างท่วมท้นและทำให้เกิดความเหนื่อยล้าในระดับชาติขึ้นมา
นายอันโตนิโอ ดีมาจิโอ นักรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Lehigh ผู้สอนวิชาการสื่อสารทางการเมืองและการโฆษณาชวนเชื่อชี้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์มีบุคลิกที่โดดเด่นเป็นพิเศษและถึงแม้การสื่อสารของประธานาธิบดีทรัมป์อาจไม่ช่วยให้ทุกคนเข้าใจปัญหาที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนเกี่ยวกับการบริหารและการเมืองก็ตาม แต่ทวีตที่ว่านี้ก็ทำให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับการรับและการบริโภคของผู้ติดตาม
แต่คำถามที่ท้าทายในขณะนี้ก็คือหากประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งไปหลังวันที่ 20 มกราคมปีหน้าแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์จะยังคงสร้างข่าวอย่างต่อเนื่องผ่านทางทวีตของตนอยู่หรือไม่ซึ่งเรื่องนี้อาจารย์คาโรไลน ลี ผู้สอนวิชาสังคมวิทยาด้านการเมืองและวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัย Lafayette ในรัฐเพนซิลวาเนียก็เชื่อว่าโดนัลด์ ทรัมป์น่าจะยังคงครอบครองพื้นที่สื่อเพื่อเรียกร้องความสนใจและสร้างข่าวอยู่ต่อไป และคงจะมีเรื่องที่อยากจะแสดงออกอีกมากมายเพราะเนื้อหาดังกล่าวยังจะมีผู้คนอีกมากซึ่งอยากรับฟัง
แต่เรื่องที่จะแตกต่างอย่างสำคัญก็คือเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ไม่ได้ครอบครองสิ่งที่เรียกว่า bully pulpit หรือสถานะของความเป็นประธานาธิบดีแล้วคนอเมริกันจำนวนหนึ่งก็จะสามารถเลือกที่จะละเลยข้อมูลหรือความเห็นดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วอาจไม่มีใครที่สามารถทำได้สำเร็จเหมือนกับ @realDonaldTrump เลย