Your browser doesn’t support HTML5
รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม Jeff Sessions ประกาศนโยบายใหม่ในวันอังคาร โดยกล่าวว่านโยบายสมัยโอบามาที่ให้เรื่องเชื้อชาติเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณารับผู้เข้าเรียน เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่เหมาะสม ล้าสมัย และไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่มีอยู่
การเปลี่ยนนโยบายครั้งนี้จะทำให้วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในอเมริกาที่ยังคงนำเรื่องเชื้อชาติเป็นปัจจัยคัดนักศึกษาเพื่อสร้างความหลากหลายในการเรียนเสี่ยงต่อการถูกตัดเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง
ขณะเดียวกันนโยบายนี้เปิดทางให้สถาบันอุดมศึกษามองข้ามเรื่องเชื้อชาติสีผิวของผู้สมัครได้
Anurima Bhargava ผู้นำการผลักดันเรื่องสิทธิประชาชนในภาคการศึกษาสมัยประธานาธิบดีโอบามา กล่าวว่า แนวทางของทรัมป์เป็นการโจมตีทางการเมืองที่ไม่มีใครได้ประโยชน์
เธอกล่าวว่านโยบายสมัยโอบามาช่วยให้เกิดช่องทางกฎหมายสำหรับสถาบันต่างๆ ในการยึดหลักให้โอกาสผู้สมัครอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มที่มักถูกกีดกันในสังคม หรือที่เรียกว่าหลักการ ‘affirmative action’
องค์กรด้านสิทธิประชาชนออกมาประณามนโยบายใหม่อย่างรวดเร็ว
Lily Eskelsen Garcia ประธานสมาคม Nation Education Association กล่าวว่าหลักการ ‘affirmative action’ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่จะทำให้เกิดความหลากหลายในห้องเรียนและให้คนทุกส่วนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบ
ศาลสูงสหรัฐฯ เคยพิจารณาหลายกรณีที่เกี่ยวกับเชื้อชาติที่เป็นปัจจัยในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียน ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970
และเมื่อสองปีก่อน ศาลสูงยืนยันหลักการ ‘affirmative action’ แต่ผู้พิพากษา Anthony Kennedy เปิดทางให้สถาบันการศึกษาพิจารณาชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียของหลักการดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้พิพากษา Kennedy ประกาศลาออกจากตำแหน่งและคาดว่าประธานาธิบดีทรัมป์ จะเสนอชื่อบุคคลรับตำแหน่งแทนอีกไม่กี่วันนี้ อย่างไรก็ตามตำแหน่งดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองจากสภาอเมริกัน
ผู้เชี่ยวชาญบางรายสนับสนุนความคิดเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดตามรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์
Ilya Shapiro นักวิเคราะห์จากสถาบัน Cato Institute ที่กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า มีแนวทางอื่นนอกจาก ‘affirmative action’ ที่สร้างความหลากหลายในห้องเรียนมหาวิทยาลัยได้ เช่น การทำกิจกรรมเพื่อข้าถึงโรงเรียนมัธยมต่างๆ ให้ดีขึ้น รวมถึงการลดจำนวนนักเรียนที่รับมา เนื่องจากคนในครอบครัวเคยเรียนสถาบันเดียวกัน
การเปลี่ยนโยบายการศึกษาล่าสุดนี้เกิดขึ้น ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กำลังพิจารณาว่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ กีดกันโอกาสเข้าเรียนของนักเรียนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย หรือไม่ด้วยการสร้างมาตรฐานที่สูงกว่าปกติในการคัดเลือกผู้สมัครกลุ่มนี้ และยังมีกรณีที่คล้ายกันเช่นนี้อื่นๆ อีกด้วย
สำหรับประเด็นที่อาจกระทบต่อนักเรียนต่างชาติที่ต้องการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในอเมริกา John Beckman โฆษก ของมหาวิทยาลัย New York University และ นักกฎหมายด้านการศึกษา Scott Schneider ที่เมืองนิวออร์ลีนส์ บอกว่าไม่น่ากระทบต่อผู้สมัครกลุ่มนี้
นั่นอาจจะเป็นเพราะว่ากระบวนการพิจารณาความหลากหลายจะยึดตัวแปรตามกลุ่มชาติพันธุ์ในอเมริกา ส่วนนักเรียนต่างชาติไม่ว่าจะมาจากที่ใดมักถูกระบุเป็นกลุ่ม ‘นักเรียนต่างชาติ’ เช่นเดียวกันหมด
รายงานโดยผู้สื่อข่าว Wayne Lee / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง