เส้นทางชีวิตคู่รักหญิงข้ามเพศชาวยูเครน-หญิงแท้ชาวไทย ฝ่าฟันวิกฤตสงครามยูเครน 

Netchanok "Love" Promkao and Dmytro "Jane" Denysov hug each other in a YouTube video clip, where they talk about their marriage situation

ในโอกาสส่งท้ายเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศนี้ วีโอเอไทยได้พูดคุยกับ “เลิฟ” เนตรชนก พรมขาว หญิงไทยที่ย้ายมาใช้ชีวิตคู่ที่กรุงเคียฟในยูเครนกับสามีคือ “เจน” ดมีโทร เดนีซอฟ ผู้ระบุว่าตนเองคือ “ทรานเซ็กชวล” (transsexual) หรือหญิงข้ามเพศ ทั้งการปรับตัวเข้าหากันในการใช้ชีวิตคู่ การดำรงชีวิตในช่วงสงคราม การรับมือกับภาวะซึมเศร้าของคุณเจน การพิสูจน์ตัวตนของคุณเจนเพื่อให้อพยพออกมาจากยูเครนเพื่อมายังประเทศที่สามอย่างสวิตเซอร์แลนด์ และอนาคตที่พวกเขาวางแผนต่อจากนี้

เมื่อสามปีที่แล้ว ที่ร้านอาหารในเขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกที่ “เลิฟ” เนตรชนก พรมขาว พบกับ ดมีโทร เดรีซอฟ ชายชาวยูเครน ก่อนที่จะทำความรู้จักกันเป็นเพื่อนและคบกันแบบคู่รักในเวลาต่อมา ผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ มาด้วยกัน ทั้งการคบหาทางไกลในช่วงของการระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนที่ดมีโทรจะเดินทางจากยูเครนกลับไทยอีกครั้งเพื่อทดลองอยู่ด้วยกันกับเนตรชนก

หลังจากมาอยู่กับเนตรชนกได้สามเดือน ดมีโทรตัดสินใจเปิดเผยตัวตนว่า อัตลักษณ์ที่เเท้จริงของเขาคือหญิงข้ามเพศ (transsexual) ที่ต้องการแต่งตัว มีเสียง มีหน้าอก เช่นผู้หญิงมาตั้งแต่ตนอายุ 12 ปี แต่ก็รู้ตัวดีว่ายังต้องการคบกับผู้หญิง หลังจากที่ลองคบกับบุคคลเพศต่าง ๆ มาแล้ว และดมีโทรต้องการมีชื่อเล่นใหม่ว่า “เจน”

“ฉันเป็นคนยูเครน ยูเครนเคยเป็นส่วนหนึ่งสหภาพโซเวียต เรื่อง (ความหลากหลายทางเพศ) จึงถูกจำกัดอย่างมาก แต่พอฉันเริ่มออกเดินทางไปที่ต่าง ๆ ฉันถึงเพิ่งรู้ว่า การที่ผู้คนอยากเป็นอย่างที่ตัวเองอยากเป็นก็เป็นเรื่องปกตินี่นา ฉันเลยเริ่มเปิดเผยตัวตน ใช้ชีวิตในแบบที่อยากเป็นมากขึ้น” เจนกล่าว

“ฉันเริ่มใช้ฮอร์โมนเพศหญิงเมื่อปีที่แล้ว ตอนที่อยู่ที่หัวหิน เรื่องเดียวเลยที่ฉันเสียใจหลังจากใช้ฮอร์โมนก็คือ ทำไมฉันถึงไม่เริ่มใช้ฮอร์โมนให้เร็วกว่านี้นะ”

Dmytro "Jane" Denysov when she appears as a man (left) and when she comes out as a transsexual person (right)

ทั้งนี้ ผลสำรวจของกลุ่มสังคมวิทยา “Rating” ที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 47% ในยูเครน มีความเห็นในเชิงลบต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ กลุ่มอนุรักษ์นิยมในยูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ธอดอกซ์เป็นหลัก ยังมักแสดงความเห็นต่อต้านกลุ่มคนดังกล่าว และกลุ่มขวาจัดมักโจมตีกลุ่มและงานที่จัดโดยผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ตามรายงานของรอยเตอร์

ทั้งเนตรชนก วัย 33 ปี และ “เจน” วัย 37 ปี ต่างมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตคู่มาแล้ว ทั้งสองเคยผ่านชีวิตแต่งงานกันมาแล้วทั้งคู่ โดยเจนเคยแต่งงานกับหญิงชาวยูเครนเมื่อเก้าปีที่แล้วก่อนจะเลิกลากันไป ส่วนเนตรชนกก็มีลูกสาวอยู่แล้วสองคน

เนตรชนกกล่าวว่า เธอตัดสินใจจะคบกับเจนต่อไป โดยที่เจนแต่งตัวเป็นผู้หญิงและเริ่มรับฮอร์โมนเพศหญิง เพราะเธอมองว่า “เจนเป็นคนที่ดูแลเราได้ดีที่สุด” และ “ไม่มีใครที่ไม่มีปัญหาชีวิตหรือเรื่องความรัก ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ 100% ก็เลยอยากเลือกคนที่เข้าใจเราได้มากที่สุด เลิฟก็เลยคิดว่าเจนเข้าใจเราได้มากที่สุดมากกว่าคนอื่น ต่อให้เลิฟไปหาผู้ชายคนใหม่ เลิฟก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ไปเรียนรู้ใหม่”

การปรับตัวกับเพศวิถี – โรคซึมเศร้าของ “เจน” ทั้งก่อนและหลังสงคราม

เนตรชนกตัดสินใจเดินทางไปยูเครนเพื่อไปพูดคุยกับครอบครัวของเจนเกี่ยวกับตัวตนของว่าที่สามีของเธอ ซึ่งเนตรชนกอธิบายว่า ครอบครัวของดมีโทร “ช็อค แต่ก็รับได้” และสนับสนุนทั้งสองจนแต่งงานกันเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

“ตอนที่ฉันไปพบกับพ่อแม่ของฉัน ฉันสวมชุดตัวใหญ่เพื่อปิดบังหน้าอกของฉัน” เจนกล่าวกับวีโอเอไทย “พวกท่านค่อนข้างอายุมากแล้วและมาจากสหภาพโซเวียต ฉันคิดว่าแม่ฉันรู้มาก่อนแล้วนะ แต่พ่อไม่น่าจะรู้มาก่อน ฉันค่อนข้างมีระยะห่างกับพ่อและไม่ได้คุยกับท่านบ่อยเท่าใด… ตอนที่แม่ฉันตามบัญชีติ๊กตอกของฉัน และคำแปลอัตโนมัติในติ๊กตอกแปลคำว่า ‘ตุ๊ด’ เป็น ‘คนรักร่วมเพศ’… ฉันยังต้องอธิบายให้แม่ฟังเลยว่า ไม่ใช่นะ”

หลังจากเนตรชนกตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่ยูเครนได้นานห้าเดือน รัสเซียก็ประกาศปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทั้งสองเผชิญปัญหาต่าง ๆ ทั้งปัญหาการเงินที่ไม่สามารถถอนเงินสดออกจากธนาคารได้ในช่วงที่เริ่มสงคราม เงินเก็บส่วนตัวของเธอก็หมดไปกับค่าวีซ่า ขณะที่เงินเก็บของเจนก็หมดไปกับการซื้ออพาร์ทเมนท์ช่วงก่อนสงครามจนเกือบหมด

นอกจากนี้ เนตรชนกยังต้องรับมือกับภาวะซึมเศร้าของเจน ซึ่งเป็นโรคที่เธอมีอาการมาตั้งแต่เด็ก และการนำเจนอพยพออกนอกประเทศ ขณะที่ยูเครนมีกฎหมายห้ามพลเมืองชายอายุ 18-60 ปี เดินทางออกนอกยูเครนในช่วงสงคราม

จุดหมายแรกของทั้งสองอยู่ที่เมืองลวีฟ ซึ่งเป็นเมืองปลายทางของการอพยพของชาวยูเครนในช่วงสงคราม เพื่อทำเรื่องขอเดินทางกลับไทยผ่านทางสถานทูตไทยในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ซึ่งจัดการศูนย์พักพิงของคนไทยที่เมืองลวีฟในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม สถานทูตไทยไม่สามารถนำเจนซึ่งเป็นชาวยูเครนเดินทางไปยังไทยได้ เนตรชนกจึงตัดสินใจอยู่ที่ยูเครนเคียงข้างกับเจนต่อไป

Netchanok "Love" Promkao and Dmytro "Jane" Denysov before they head to Dnipro, Ukraine to seek for medical assistance for Jane, who has coped with depression

“เราปลอบใจเจนว่า คุณแต่งงานแล้วนะ คุณจะทิ้งกันไม่ได้ ยังไงคุณก็ต้องไปกับฉัน เพราะอย่างน้อยคุณต้องรับผิดชอบชีวิตของภรรยาของคุณ ยังไงก็ไม่ทิ้งกัน ถ้าคุณไม่ไป ฉันก็ไม่ไป” เนตรชนกกล่าว “ถ้าเลิฟกลับไปก่อน ตัวเราจะเป็นกังวลมาก เพราะเจนเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว ถ้าทิ้งเขาไปแบบนี้ ตัวเรานี่และจะไม่เป็นอันกินอันนอนเพราะเป็นห่วงเขา”

เนตรชนกเล่าต่อถึงการรับมือกับโรคซึมเศร้าของเจน ในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเดือนแรกของเหตุสงครามในยูเครน ว่าเธอไม่สามารถเข้าถึงได้ทั้งยาและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เจนมักดื่มเพื่อบรรเทาอาการซึมเศร้าของตน

“เจนก็เลยกลายเป็นแบบ ร้องไห้ซึมเศร้าทุกวัน บางทีก็จะมีกรีดแขนตัวเอง แต่ไม่ได้ฆ่าตัวตาย มันก็หนักมากสำหรับเลิฟ เพราะทั้งสงคราม งาน ครอบครัวก็เป็นห่วง ต้องรองรับอารมณ์ของเจนให้ได้ นางก็นอนไม่หลับ มั่วซั่ว ร้องไห้ ดราม่า อีเหละเขละขละไปหมด” เนตรชนกเล่าถึงสถานการณ์ ณ ขณะนั้น ก่อนที่เธอจะหาโรงพยาบาลรักษาอาการให้เจนได้ในเดือนถัดมา โดยหลังจากใช้ความพยายามในการนำเจนเข้ารับการรักษาหลายครั้ง สุดท้ายเนตรชนกก็นำเจนไปปรึกษาที่แผนกจิตเวชของโรงพยาบาลทหารในเมืองดนิโปร

“เราไปขอเขา ให้ทำเอกสารให้เจนไม่เป็นทหารได้ไหม เลิฟจะพาเจนไปรักษาโรคซึมเศร้าที่ไทย…แล้วถึงเจนจะอยู่ในยูเครน เจนก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เป็นทหารไม่ได้ และอาจฆ่าตัวตายก็ได้ แล้วเราก็เอาคลิปที่เจนถูกทำร้ายไปให้ทางหมอ…เขาเลยช่วยทำเอกสารให้ไม่ต้องเป็นทหาร” เนตรชนกอธิบายขั้นตอนการทำเอกสารทางการแพทย์เพื่อนำส่งทางการยูเครน ก่อนที่ทางการจะอนุมัติถอดเจนออกจากการปฏิบัติหน้าที่ทางทหารในเวลาต่อมา

หลังจากใช้เวลาที่เมืองดนิโปรสามสัปดาห์เพื่อเดินเรื่องดังกล่าว เนตรชนกและเจนก็เดินทางกลับมายังเมืองลวีฟ ก่อนจะเดินทางด้วยรถบัสเป็นเวลาสามวันต่อไปยังโปแลนด์ เยอรมนี และจบที่จุดหมายปลายทางในขณะนั้นคือ สวิตเซอร์แลนด์


ชีวิตบทใหม่ที่ยังไม่ใช่บทสรุปในสวิตเซอร์แลนด์ของ “เลิฟเจน”

ทั้งสองตัดสินใจเลือกสวิตเซอร์แลนด์เป็นจุดหมายปลายทาง เนื่องจากได้รับคำแนะนำจากคนรู้จักที่เป็นบุคคลข้ามเพศเช่นกันว่า สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีสวัสดิการและกฎหมายยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น สามารถเข้าถึงแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนเพศได้ ซึ่งเจนมีแผนทำศัลยกรรมใบหน้า เสียง และหน้าอก ให้มีความเป็นหญิงมากขึ้น แต่ไม่ได้ต้องการศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศของตนเนื่องจากมีภรรยาแล้ว

นอกจากนี้ กฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ยังอนุญาตให้ผู้ที่อยู่อาศัยในสวิตเซอร์แลนด์สามารถเปลี่ยนเพศทางกฎหมายได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดแปลงเพศ เข้ารับการบำบัดด้วยฮอร์โมน หรือได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์มาก่อน อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายสวิตเซอร์แลนด์จะรองรับสิทธิ์ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่การเลือกระบุเพศในเอกสารราชการ ยังคงเลือกได้ว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิงเท่านั้น

เนตรชนกและเจนอาศัยอยู่ที่นครเจนีวามาได้หนึ่งเดือนแล้ว และกำลังรอใบอนุญาต “Permit S” ซึ่งเป็นใบอนุญาตให้ผู้ถือสามารถอาศัยและทำงานในสวิตเซอร์แลนด์ได้ช่วงเวลาหนึ่งขณะลี้ภัยจากสงครามในประเทศบ้านเกิดของตน โดยใบอนุญาตดังกล่าวมีอายุหนึ่งปี และสามารถต่ออายุออกไปได้

Netchanok "Love" Promkao and Dmytro "Jane" Denysov when they are in Switzerland

เจนกล่าวว่า เธอชอบสวิตเซอร์แลนด์เพราะนอกจากจะมีกฎหมายรองรับแล้ว เธอยังสามารถเป็นตัวของตัวเองในที่สาธารณะได้อย่างเปิดเผยโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเลือกปฏิบัติเหมือนครั้งที่เธออยู่ที่กรุงเคียฟ

“รัฐบาลคุ้มครองฉัน แค่นั้นก็พอแล้วค่ะ ฉันไม่กลัวที่จะเดินบนถนน ออกไปพูดคุยกับใครต่อใคร ทักทายทุกคน มันทำให้ฉันรู้สึกได้พลังงานที่ดีมากเลย” เจนกล่าว “ฉันต้องเรียนรู้การเป็นตัวเองใหม่ มันอาจฟังดูแปลก แต่มันเป็นเรื่องจริง เพราะตอนอยู่ที่กรุงเคียฟ เวลาฉันจะไปไหนมาไหนก็มีคนหัวเราะเยาะฉันตลอด”

“ที่สวิตเซอร์แลนด์ไม่ค่อยมีคนยูเครนมากเท่าไหร่ค่ะ ฉันรู้สึกเป็นอิสระ เราถึงตัดสินใจอยู่ที่นี่กัน เราชอบอากาศ ชอบเจอคนที่หลากหลาย และชอบทุกอย่างที่นี่”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงแผนในระยะยาวของทั้งคู่ เจนเห็นว่า แม้เธอยังไม่เห็นทางออกของสงครามในยูเครนครั้งนี้ แต่หากสงครามสิ้นสุดลง ทั้งคู่ก็ต้องการใช้ชีวิตไป-กลับระหว่างไทยและยูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่มีครอบครัวของทั้งสองอยู่ โดยเฉพาะในไทยที่ทั้งสองมีสถานะเป็น “เน็ตไอดอล” ทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างเพจเฟซบุ๊ก ติ๊กตอก และยูทูปที่มีฐานผู้ติดตามอยู่แล้ว และตัวของเนตรชนกเองก็เคยประกอบธุรกิจร้านอาหารไทยมาก่อนและมีเครือข่ายทางธุรกิจอยู่ที่ไทย

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทั้งสองต้องการกลับไปใช้ชีวิตที่ไทย นอกจากเรื่องของครอบครัว ธุรกิจ และเหตุผลที่ชาวต่างชาติมักติดใจในไทยอย่างอาหารและสถานที่ท่องเที่ยว ก็คือ การเปิดรับทางสังคมต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายรองรับกลุ่มบุคคลดังกล่าว เช่น การรับรองเปลี่ยนสถานะทางเพศตามกฎหมาย หรือการรับรองการสมรสในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศให้เท่ากับการสมรสระหว่างหญิงและชาย ก็ตาม

Netchanok "Love" Promkao and Dmytro "Jane" Denysov enjoy their time together prior to wartime in Ukraine

“เวลาฉันอยู่ที่ไทย ฉันแค่มีความสุขเวลาได้เป็นตัวของตัวเอง ได้พูดคุยกับผู้คน แล้วยอมรับว่ามีความสุขจนไม่ได้สนใจ (ประเด็นการเมืองและกฎหมาย) พวกนี้เลยค่ะ” เจนยอมรับ “ที่สวิตเซอร์แลนด์มีกฎหมายคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศก็จริง แต่ฉันก็ไม่ค่อยพบกับคนที่คล้ายฉันที่นี่ ทำให้ยังไม่ค่อยมีสังคม อาจเป็นเพราะฉันอยู่ที่นี่มาไม่นานพอ แต่ไม่รู้สิ ฉันยังอยากกลับไปที่ไทย”

สำหรับแผนของเนตรชนกนั้น เธอต้องการหาช่องทางในการเปิดร้านนวดที่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อเพิ่มต้นทุนทางรายได้และประสบการณ์ให้ตน และหากสงครามในยูเครนสิ้นสุดลงแล้ว เธอวางแผนกลับไปบุกตลาดร้านนวดที่ยูเครนและอาจให้ลูกมาช่วยดูแลกิจการเมื่อพวกเธอเติบโตขึ้น

ทั้งสองยอมรับว่า ถึงจะวางแผนการใช้ชีวิตในอนาคตไว้แล้ว แต่ก็ยังมองไม่เห็นหนทางว่า สงครามในยูเครนจะสิ้นสุดลงได้อย่างไรและเมื่อใด ซึ่งทั้งคู่ยังคงต้องใช้ชีวิตในสวิตเซอร์แลนด์และอาจกลับไทยเป็นครั้งคราวไปก่อนจนกว่าจะสามารถตั้งหลักปักฐานได้มากกว่านี้

“เราไม่ค่อยมีความหวังกับ (สถานการณ์ใน) ยูเครนเท่าไหร่” เนตรชนกยอมรับ “เรื่องย้ายกลับยูเครนเลยต้องดูว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร จะไปท่าไหน เพราะตอนนี้ที่ยูเครน ทหารต่างชาติก็เยอะ อาวุธก็เยอะ…คิดว่าคงยังไม่ใช่สิ้นปีนี้แน่นอน”

  • รายงานโดย วรรษมน อุจจรินทร์ VOA Thai