องค์กรต้านคอร์รัปชั่นระบุรายชื่อประเทศที่การบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการติดสินบนอ่อนแอ

Your browser doesn’t support HTML5

องค์กรต้านคอร์รัปชั่นระบุรายชื่อประเทศที่การบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการติดสินบนอ่อนแอ

รายงานขององค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่น Transparency International ระบุว่า สหรัฐฯ คือ 1 ใน 7 ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่มีกฎหมายเข้มงวดสำหรับบริษัทที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่ต่างชาติเพื่อแลกกับการการทำสัญญาทางธุรกิจ

องค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่น Transparency International ที่สำรวจระดับความเข้มงวดในการบังคับใช้กฏหมายเพื่อปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นทางธุรกิจ ระบุว่า สหรัฐฯ คือ 1 ใน 7 ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่มีกฎหมายเข้มงวดสำหรับบริษัทที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่ต่างประเทศเพื่อแลกกับการทำสัญญาทางธุรกิจ

นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ยังมีอีก 6 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี อิสราเอล อิตาลี นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ ซึ่ง 7 ประเทศนี้มีมูลค่าการส่งออกรวมกันคิดเป็นร้อยละ 27 ของปริมาณการส่งออกสินค้าทั่วโลก

โดยนับตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2014-2017 พบว่า สหรัฐฯ มีการสืบสวนสอบสวนคดีให้สินบนเจ้าหน้าที่ในช่วงดังกล่าวอย่างน้อย 32 คดี เป็นคดีที่เปิดการสืบสวนขึ้นมาใหม่ 13 คดี และปิดคดีสำเร็จไป 98 คดีที่เป็นการติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อการทำธุรกิจต่างชาติ ซึ่งในปี 2016 ถือเป็นช่วงที่มีการบังคับใช้กฏหมายเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีการบังคับใช้โทษปรับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

หนึ่งในบรรดาคดีที่โด่งดังในช่วงนั้น คือ การเปิดโปงบริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ผู้ผลิตยานยนต์และอากาศยานสัญชาติอังกฤษ ที่ติดสินบนเจ้าหน้าที่ต่างชาติเพื่อขายเครื่องยนต์อย่างไม่โปร่งใสในหลายสิบประเทศ ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ทำให้โรลส์-รอยซ์ ต้องยอมจ่ายค่าปรับเพื่อยุติคดีความให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา, ทางการบราซิลและอังกฤษ

Transparency International บอกว่า ออสเตรเลีย บราซิล โปรตุเกส และสวีเดน ที่บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการติดสินบนในระดับปานกลาง และมี 11 ประเทศ บังคับใช้กฎหมายลงโทษบริษัทที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่ต่างชาติเพื่อแลกกับการทำสัญญาทางธุรกิจในระดับจำกัด

ขณะที่อีก 22 ประเทศ รวมถึง รัสเซีย จีน อินเดีย และสิงคโปร์ มีการบังคับใช้กฏหมายในระดับต่ำหรืออาจไม่มีเลย

ในการสำรวจฉบับล่าสุดนี้ เก็บข้อมูลจากทั้งหมด 44 ประเทศที่ทำการสำรวจ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือ OECD และเป็นปีแรกที่มีการเก็บข้อมูลจากจีน ฮ่องกง อินเดีย และสิงคโปร์ ซึ่งไม่ได้เป็นประเทศในกลุ่มผู้ร่วมลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนของ OECD

โดยเฉพาะจีน ที่ทาง Transparency International ระบุว่า หลังจากจีนริเริ่มโครงการหนึ่งถนนหนึ่งวงแหวนขึ้นมาในปี ค.ศ. 2013 ซึ่งจะมีการลงทุนในต่างประเทศจำนวนมหาศาล แต่ในปี 2014-2017 นั้น รัฐบาลจีนกลับไม่มีรายงานการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการติดสินบนเจ้าพนักงานต่างชาติเลย