ในวันศุกร์ โยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เผยว่าจะมีการประกาศ “สถานการณ์กึ่งฉุกเฉิน” ในกรุงโตเกียวเป็นเวลาหนึ่งเดือนเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น
ผู้นำญี่ปุ่นระบุว่า มาตรการใหม่นี้จะจำกัดชั่วโมงเปิดทำการของบาร์และร้านอาหารและกำหนดโทษปรับสำหรับผู้ละเมิดกฎ โดยผู้ติดเชื้อในกรุงโตเกียวหลายคนมีประวัติเกี่ยวข้องกับสถานที่เที่ยวกลางคืน
นายซูกะกล่าวว่า มาตรการใหม่นี้มีความจำเป็นเนื่องจากอัตราการระบาดเชื้อโคโรนาไวรัสพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ใหม่ โดยก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นไม่เคยประกาศใช้มาตรการจำกัดอย่างคุมเข้มมาก่อน
เยอรมนีอาจล็อคดาวน์อีกครั้งหลังเผชิญการระบาดระลอกสาม
และในวันศุกร์ตามเวลาในเยอรมนี เจนส์ สแปน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เยอรมนีต้องใช้มาตรการปิดเมืองทั่วประเทศเพื่อจำกัดการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สาม
โลธาร์ วีเลอร์ ประธานสถาบันโรคติดต่อ Robert Koch Institute for Infectious Diseases ระบุว่า มาตรการปิดเมืองเป็นเวลาสองถึงสี่สัปดาห์น่าจะเพียงพอต่อการควบคุมการระบาด โดยขณะนี้แผนกผู้ป่วยวิกฤติในโรงพยาบาลของเยอรมนีมีผู้ป่วยใหม่ 4,500 คนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอายุน้อย
อย่างไรก็ตาม มาตรการปิดเมืองครั้งใหม่นี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ขณะที่รัฐบาลกลางเยอรมนีเห็นด้วยกับการยกระดับมาตรการเพื่อควบคุมการระบาด แต่ผู้นำในระดับภูมิภาคกลับสนับสนุนให้มีการคลายมาตรการ และบางส่วนได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการลงแล้ว
สถานการณ์การระบาดในอินเดีย และการแจกจ่ายวัคซีนในประเทศต่างๆ
เมื่อวันศุกร์ กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียระบุว่า อินเดียมียอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 ต่อวันสูงที่สุด โดยมีผู้ติดเชื้อใหม่อย่างน้อย 131,968 คนในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่ายอดผู้ป่วยใหม่ที่ 126,789 คนที่เคยบันทึกเมื่อวันพฤหัสบดี
ในขณะเดียวกัน หลายประเทศได้ออกแนวทางการใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติอังกฤษ-สวีเดน และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หลังองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป หรือ EMA ระบุว่า วัคซีนดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับการเกิดลิ่มเลือด แม้ว่าจะเป็นกรณีที่พบได้น้อยมากก็ตาม แต่ก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
ทางการอังกฤษระบุว่าจะนำวัคซีนสูตรอื่นมาฉีดให้ประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีแทน ส่วนนักวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดก็ระงับการทดลองวัคซีนสูตรนี้ในเด็กและวัยรุ่น ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาของอังกฤษกำลังทบทวนการใช้วัคซีนนี้อย่างปลอดภัย
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สเปนและฟิลิปปินส์จะฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาแก่ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น หนังสือพิมพ์ เดอะ วอชิงตัน โพสต์ รายงานว่า อิตาลีใช้แนวทางเดียวกันในการแจกจ่ายวัคซีนแก่ประชาชน
ทั้งนี้ EMA ระบุว่า การเกิดลิ่มเลือดเป็นผลข้างเคียงที่พบได้น้อยมากจากวัคซีนของแอสตราเซเนกา แต่ก็เน้นว่าประโยชน์ของวัคซีนสูตรนี้มีมากกว่าความเสี่ยง โดยอาการลิ่มเลือดนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้คนอย่างน้อย 14 คนในยุโรป
วัคซีนของแอสตราเซเนกามีส่วนสำคัญในแผนเร่งฉีดวัคซีนของอังกฤษ ที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปมาก อย่างไรก็ตาม วัคซีนสูตรนี้ยังไม่ได้รับการรับรองในหลายประเทศ โดยเบื่องต้นเป็นเพราะยังไม่มีข้อมูลจากการทดลองคลีนิคขั้นสุดท้ายต่อผลข้างเคียงในผู้สูงอายุ ทำให้การแจกจ่ายวัคซีนทั่วยุโรปเป็นไปอย่างล่าช้า และหลายประเทศงดฉีดวัคซีนสูตรนี้หลังเริ่มมีรายงานว่าผู้รีับวัคซีนบางส่วนมีลิ่มเลือด
ทางด้านสหรัฐฯ และเปอร์โตริโก ซึ่งเป็นเครือรัฐของสหรัฐฯ ระบุว่า จะเริ่มเปิดให้ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป รับวัคซีนได้ตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นไป