เมื่อวันศุกร์ที่แล้วรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า หากช่วงฤดูร้อนปีนี้ทุกบ้านในกรุงโตเกียวพร้อมใจกันเปิดเครื่องปรับอากาศทำความเย็นเพื่อต่อสู้กับอากาศร้อนอบอ้าวเหมือนที่ทำเป็นประจำทุกปี จะมีผลให้ความต้องการพลังงานในญี่ปุ่นสูงกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าราว 25% เนื่องจากการไฟฟ้ากรุงโตเกียวสูญเสียกำลังการผลิตราว 1 ใน 3 ไปกับภัยพิบัติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าบางแห่งเริ่มเปิดดำเนินการตามปกติ แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากรวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หลายแห่งที่อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีกว่าที่จะสามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้อีก ยังไม่นับรวมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Fukushima Daiichi ที่อาจต้องปิดตายถาวร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นนาย Banri Kaieda กล่าวว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าในปีนี้อาจสามารถรองรับความต้องการไฟฟ้าระดับปกติในกรุงโตเกียวได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น และว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจใช้มาตรการต่างๆเพื่อชะลอความต้องการพลังงาน เช่นการขึ้นค่าไฟหรือกำหนดให้มีวันหยุดเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าได้ส่งผลต่อวิถีการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นจำนวนมากแล้ว ร้านค้าและบริษัทในหลายพื้นที่รอบกรุงโตเกียวที่ไฟฟ้ายังดับพากันปิดบริการก่อนตะวันตกดิน สำนักงานต่างๆงดใช้ลิฟต์ มีรถไฟให้บริการน้อยกว่าเดิม กิจกรรมทางสังคมและการแข่งขันกีฬาหลายรายการถูกยกเลิก ป้ายไฟของร้านรวงต่างๆที่เคยคึกคักสว่างไสวตอนกลางคืนก็กลับมืดมิด หลายคนคาดว่าการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้น
นาย Yukio Edano เลขานุการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นชี้ว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาใช้ Daylight Savings Time หรือช่วงเวลาออมแสงเหมือนประเทศทางตะวันตก เพื่อให้มีเวลาช่วงกลางวันนานขึ้น ซึ่งญี่ปุ่นไม่เคยใช้มาตรการนี้มาก่อนนับตั้งแต่แยกออกจากการยึดครองของสหรัฐเมื่อช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยแนวคิดนี้ถูกหยิบยกมาพิจารณาเป็นบางครั้งในอดีต แต่ก็ไม่เคยนำมาปฏิบัติใช้เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่
คาดว่าราวหนึ่งเดือนจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจะประกาศมาตรการที่ใช้รับมือกับความต้องการพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นมาตรการใดและจะได้รับการสนับสนุนหรือไม่ แต่ที่แน่ๆสำหรับชาวญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว เชื่อว่าฤดูร้อนปีนี้คงจะเป็นฤดูร้อนที่อบอ้าวและยาวนานกว่าปีที่ผ่านๆมา