ศาลาว่าการกรุงโตเกียวกำลังเร่งพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ที่มีชื่อว่า “Tokyo Futari Story” ซึ่งเป็นแนวคิดริเริ่มใหม่เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีคู่รักเกิดใหม่ในเมืองหลวงของญี่ปุ่น ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
คำว่า “futari” ในภาษาญี่ปุ่นนั้น มีความหมายว่า “คู่” หรือ “สองคน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศที่เต็มไปด้วย “hitori” หรือ “คนเดียว” หรือ “โดดเดี่ยว” นี้
รายงานข่าวระบุว่า ขณะที่ ทางการญี่ปุ่นได้นำเสนอบริการให้คำปรึกษาและข้อมูลทั่ว ๆ ไปสำหรับผู้ที่ต้องการหาใครสักคนมาร่วมชีวิตผ่านระบบออนไลน์อยู่แล้ว แนวคิดเปิด “แอป” นี้ยังอยู่ในกระบวนการพัฒนาอยู่
ศาลาว่าการกรุงโตเกียวหวังว่า จะสามารถเปิดตัวใช้งานแอปดังกล่าวภายในปลายปีนี้ โดยผู้ใช้งานจะเลือกใช้ทางโทรศัพท์มือถือหรือทางเว็บก็ได้ ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่
ในเวลานี้ ยังไม่มีข้อสรุปรายละเอียดของแอปนี้ และศาลาว่าการกรุงโตเกียวก็ปฏิเสธคำร้องขอความเห็นเกี่ยวกับรายงานของสื่อญี่ปุ่นที่ระบุว่า แอปดังกล่าวจะบังคับให้ผู้ใช้งานต้องยืนยันตัวตนด้วยการกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขบัตรประจำตัวผู้ขับขี่และรายละเอียดการจ่ายภาษีเพื่อพิสูจน์รายได้ และยังต้องมีการลงนามในแบบฟอร์มที่ยืนยันว่า บุคคลผู้นั้นพร้อมจะแต่งงานแล้ว
ทั้งนี้ อัตราการสมรสในญี่ปุ่นดิ่งลงมาอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับอัตราการเกิดใหม่ที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นที่เปิดเผยออกมาในวันพุธ
เมื่อปีที่แล้ว มีผู้จดทะเบียนสมรสในญี่ปุ่นทั้งหมด 474,717 คู่ ลดลงจากระดับ 504,930 คู่ในปี 2022 ส่วนอัตราการเกิดใหม่นั้นอยู่ที่ 727,277 คน ซึ่งลดลงจาก 770,759 คน
รายงานโดยสื่อต่าง ๆ ในญี่ปุ่นยังชี้ว่า แอปใหม่นี้อาจถามข้อมูลอื่น ๆ ของผู้ใช้งาน เช่น ความสูง งานและการศึกษา แต่เจ้าหน้าที่ศาลาว่าการกรุงโตเกียวปฏิเสธเรื่องนี้และกล่าวว่า ยังไม่มีการตัดสินใจสรุปรายละเอียดใด ๆ ทั้งนั้น
ในส่วนของสถานการณ์ในระดับชาตินั้น รัฐบาลกลางญี่ปุ่นก็พยายามแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วยการนำเสนอแผนแจกเงินช่วยครอบครัวที่มีเด็กเล็กและจัดตั้งสถานดูแลเด็กให้ ทั้งยังมีการผ่อนคลายนโยบายตรวจคนเข้าเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพื่อเปิดทางให้คนงานต่างชาติหลั่งไหลเข้าประเทศมากขึ้น
ในช่วง “baby boom” เมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1970 นั้น ญี่ปุ่นบันทึกตัวเลขเด็กเกิดใหม่ถึงกว่า 2 ล้านคนต่อปี แต่ในปัจจุบัน คนญี่ปุ่นก็มีแนวความคิดคล้าย ๆ กับผู้ใหญ่ในวัยไล่เลี่ยกันทั่วโลกที่ไม่สนใจเรื่องการแต่งงานตามประเพณีนิยมหรือแม้แต่การมีลูกนัก
เอพีระบุว่า ประเด็นที่เป็นสาเหตุของเรื่องนี้อาจเป็นวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นที่ผู้คนต้องอยู่ในที่ทำงานนานหลายชั่วโมงกว่าปกติจนไม่มีเวลาพบเจอผู้คนภายนอก ขณะที่ ต้นทุนการเลี้ยงเด็กก็จัดว่าแพงมาก
นอกจากนั้น ศาลาว่าการกรุงโตเกียวยังเป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมที่สนับสนุนให้คนโสดมาพบปะกัน และให้คู่รักรับคำปรึกษาเรื่องการแต่งงาน รวมทั้งการให้คู่รักนำเรื่องราวการพบกันครั้งแรกมาทำเป็นหนังสือการ์ตูนมังงะหรือเป็นเพลงก็ได้ด้วย
ที่มา: เอพี