Your browser doesn’t support HTML5
รายงานวิทยาศาสตร์ชิ้นใหม่ค้นพบว่า บนดวงจันทร์ “ไททัน” ของดาวเสาร์ มีทรายปกคลุมเป็นบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล และทรายเหล่านั้นเป็น “ทรายไฟฟ้า” คือเต็มไปด้วยไฟฟ้าสถิตที่ทำให้ทรายเหล่านั้นเกาะตัวกันแน่น
นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีรัฐจอร์เจีย หรือ Georgia Tech ระบุว่า ทรายบนดวงจันทร์ “ไททัน” ซึ่งเป็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์นั้น ไม่มีธาตุซิลิเคตเหมือนกับทรายบนโลก แต่เป็นทรายที่เต็มไปด้วยไฟฟ้าสถิต
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าไฟฟ้าในทรายนั้นเกิดจากกระแสลมบนดวงจันทร์ไททัน ที่มีความเร็วลมเฉลี่ย 30 กม./ชม. และเมื่อเม็ดทรายเกิดการเคลื่อนไหวเพราะถูกพัดพาไปกระทบกับเม็ดทรายอื่นๆ ก็จะสะสมไฟฟ้าเอาไว้ในตัวเอง
นักวิจัยบอกด้วยว่า ไฟฟ้าทีเกิดขึ้นกับทรายบนดวงจันทร์ไททัน อาจช่วยอธิบายว่าทำไมสันทรายบนดวงจันทร์ดวงนั้นจึงมีความสูงชัน บางแห่งสูงกว่า 90 เมตร และก่อตัวในทิศทางที่ตรงข้ามกับทิศทางลม
คุณ Josh Mendez Harper นักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าของ Georgia Tech และผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ กล่าวว่า
“ไฟฟ้าสถิตช่วยเพิ่มแรงเสียดทานพื้นผิวของเม็ดทราย หรือที่เรียกว่า ‘แรงเสียดทานสถิต’ ทำให้เม็ดทรายแต่ละเม็ดมีแรงเกาะเกี่ยวกันในระดับสูงเหมือนกาว และมีเพียงกระแสลมแรงจัดเท่านั้นที่จะทำให้ทรายเหล่านั้นเคลื่อนไหวได้"
ทรายบนโลกของเราก็มีไฟฟ้าสถิตสะสมอยู่เช่นกัน แต่เนื่องจากมีปริมาณน้อยและเม็ดทรายมีขนาดเล็กมาก ไฟฟ้านั้นจึงสลายไปในเวลาอันรวดเร็ว ต่างกับเม็ดทรายบนดวงจันทร์ไททันที่มีขนาดใหญ่กว่า และสามารถกักเก็บไฟฟ้าได้นานหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน
ในรายงานที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature Geoscience นักวิจัยกลุ่มนี้ทดสอบสมมติฐานเรื่องทรายไฟฟ้าดังกล่าว ด้วยการสร้างแบบจำลองสภาพอากาศบนดวงจันทร์ไททันขึ้นมา แล้วใส่ทรายเข้าไป จากนั้นวัดระดับไฟฟ้าในทรายนั้น พบว่ามีประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และมีทรายบางส่วนที่ติดแน่นกันเป็นกลุ่มก้อน แม้ไม่มีน้ำหรือสารเคมีที่ช่วยในการเกาะตัว
ศาสตราจารย์ Jeff Dufek แห่ง Georgia Tech หนึ่งในผู้จัดทำรายงานวิจัยชิ้นนี้ บอกว่า
“หากคุณก่อปราสาททรายบนดวงจันทร์ไททัน ปราสาททรายหลังนั้นอาจติดแน่นทนทานนานหลายสัปดาห์ โดยที่ไม่ต้องใช้น้ำช่วย นั่นเป็นเพราะไฟฟ้าที่สถิตอยู่ในทรายเหล่านั้น”
นักวิจัยผู้นี้ยังบอกด้วยว่า “หากใครสามารถนำยานอวกาศลงจอดบนผืนทรายของดวงจันทร์ไททันได้ ยานอวกาศลำนั้นจะไม่มีวันสะอาด เพราะจะถูกทรายเกาะติดอยู่ตลอดเวลา”
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากห้องข่าววีโอเอ)