อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ครั้งแรกให้บทเรียนที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา-ไดอิจิพึงนำไปพิจารณาศึกษา

  • แกรี่ โธมาส
    เจษฎา สีวาลี

อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ครั้งแรกให้บทเรียนที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา-ไดอิจิพึงนำไปพิจารณาศึกษา

ปัญหาที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประสบอยู่หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามินั้นทำให้หวนไปคิดถึงเมื่อครั้งที่เกิดอุบัติเหตุที่เกาะThree Mile เมื่อสามสิบสองปีมาแล้ว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุครั้งนั้นกล่าวว่า อุบัติเหตุดังกล่าวและเหตุการณ์ที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา-ไดอิจินั้นมีส่วนละม้ายคล้ายกันหลายประการและก็มีข้อแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงหลายประการเช่นกัน และในทั้งสองกรณี มีทั้งเรื่องความเสียหายทางการเมืองและความเสียหายทางกายภาพด้วย

เมื่อตอนก่อนย่ำรุ่งของวันที่ 28 เดือนมีนาคม ปีพุทธศักราช 2522 ลิ้นปิดเปิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เตาหนึ่งในจำนวนสองเตาที่เกาะ Three Mile รัฐเพนซิลเวเนียเกิดขัดข้องทำให้เกิดปฏิกิริยาแบบลูกโซ่ซึ่งนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในโลก

คณะกรรมการควบคุมดูแลด้านนิวเคลียร์โทษเรื่องอุปกรณ์ขัดข้อง การออกแบบไม่ดีและการทำงานผิดพลาดของคนงานว่าเป็นต้นเหตุ ไม่มีผู้ใดบาดเจ็บหรือเสียชีวิตไม่ว่าจะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนั้น หรือตามชุมชนต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง อย่างไรก็ดี ช่วงดังกล่าวนับว่าเป็นช่วงที่เจ็บปวดสำหรับสหรัฐที่พยายามแก้ปัญหาที่ไม่เคยประสบมาก่อนเลย

ระหว่างที่ข่าวสารแพร่ออกไปในช่วงเวลาอันน่าระทึกใจรวมหกวันนั้น ประชาชนทั่วไปต่างไม่สบายใจเลย

นายริชาร์ด ธอนเบิร์ก ผู้ว่ารัฐการของรัฐเพนซิลเวเนียในตอนนั้นกล่าวว่า ในชั้นต้น เขาเผยแพร่ข่าวสารที่ทำให้คนเกิดความเข้าใจไขว้เขวหรือสับสนเพราะเขาต้องอาศัยข่าวสารที่บริษัทไฟฟ้าผู้ดำเนินงานอยู่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกาะThree Mile แจ้งให้เขาทราบ เขาขอความช่วยเหลือจากทางการ ณ กรุงวอชิงตัน ซึ่งส่งวิศวกรนิวเคลียร์ฝีมือเยี่ยมมากๆของคณะกรรมการควบคุมดูแลด้านนิวเคลียร์มาให้คนหนึ่ง

เขากล่าวว่า จากช่วงนั้นไปจนถึงว้นศุกร์ที่ 30 เดือนมีนาคม ปีพุทธศักราช 2522 ซึ่งเป็นวันที่วิศวกรนิวเคลียร์ แฮโรลด์ เดนตันผู้ที่ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ส่งมาตามคำขอของเขานั้นเดินทางมาถึง เขาเป็นวิศวกรมืออาชีพที่ทำงานกับคณะกรรมการควบคุมดูแลด้านนิวเคลียร์ หลังจากนั้น เขาเป็นผู้ให้ข่าวหลัก ซึ่งทำให้สภาพการณ์ผิดแผกแตกต่างไปจากเดิทมากทีเดียว คุณแฮโรลด์ เดนตันให้ความมั่นใจแก่ประชาชนผู้ซึ่งโกรธเคืองที่ได้รับข่าวสารที่พาให้เข้าใจไขว้เขวในตอนแรกนั้นด้วยน้ำเสียงที่เยือกเย็น จริงใจและน่าเชื่อถือ

อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่เกาะ Three Mile มิได้เกิดเพราะแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิเหมือนอย่างในกรณีที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น วิศวกรนิวเคลียร์ แฮโรลด์ เดนตัน ซึ่งขณะนี้อายุ 79 ปีแล้วกล่าวว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาเสียหายมากกว่าและยังผลให้กัมมันตภาพรังสีรั่วออกมามากกว่าที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บนเกาะ Three Mile และว่าข้อแตกต่างที่สำคัญอย่างยิ่งยวดระหว่างภัยพิบัติในทั้งสองกรณีก็คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกาะThree Mile มีไฟฟ้าใช้ตลอดเวลา ซึ่งผิดกับกรณีที่ญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม อดีตผู้ว่ารัฐการริชาร์ด ธอร์นเบิร์กกล่าวว่า การใช้เทคนิคเพื่อพยายามควบคุมสถานการณ์ที่เกาะThree Mile และที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมาไว้ให้ได้และป้องกันมิให้กัมมันตภาพรังสีรั่วนั้นเห็นได้ว่าคล้ายคลึงกันเกือบจะโดยสิ้นเชิง และการนำข่าวสารที่เที่ยงตรงและน่าเชื่อถือมาแจ้งให้ประชาชนที่กำลังกระวนกระวายใจนั้นทราบก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน เขากล่าวว่าเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นกำลังได้รับบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องนั้นท่ามกลางเหตุการณ์ที่ยุ่งยากมากมาย เขากล่าวด้วยว่า เราจะสามารถเป็นผู้ตัดสินใจที่ดีที่สุดในโลกได้ แต่ถ้ามีข้อเท็จริงและตัดสินใจผิดก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร และว่าเราต้องเข้าใจข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้และตัดสินใจลงไป เพราะถ้าไม่เป็นอย่างนั้นแล้วเราจะตกอยู่ในฐานะลำบาก ซึ่งทางญี่ปุ่นกำลังประสบมาหลายครั้งแล้ว อย่างที่วิศวกรนิวเคลียร์แฮโรลด์ เดนตันกล่าวชี้ไว้ อุบัติเหตุที่เกาะThree Mile ทำให้มหาชนขาดความเชื่อถืออุตสาหกรรมไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช่เฉพาะในสหรัฐเท่านั้นแต่ในต่างประเทศด้วย