Your browser doesn’t support HTML5
ศาสตราจารย์ Prashant Kumta ผู้เชี่ยวชาญด้าน bio-engineering แห่งมหาวิทยาลัย Pittsburgh กำลังคิดค้นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ความฝันของบรรดาแพทย์กระดูกเป็นจริง
เขากล่าวว่าแพทย์กระดูกต้องการลดระยะเวลาที่คนไข้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แพทย์อยากให้คนไข้สามารถลุกขึ้นยืนและเดินเหินได้หลังการรักษา ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่เขากล่าวว่ามีทางเลือกหลายอย่างในการช่วยให้กระดูกที่แตกร้าวสมานตัวเร็วขึ้น ปัจจุบันหากมีคนไข้เข้าโรงพยาบาลเพราะกระดูกแตกหักรุนแรงไม่ว่าจะเกิดจากการสู้รบอย่างในอิรักหรืออาฟกานิสถานหรือจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ร้ายแรง แพทย์ผ่าตัดกระดูกไม่มีทางเลือกแต่ต้องใช้วัสดุเทียม อาทิ แผ่นไททาเนี่ยม สแตนเลสหรืออาจต้องใช้แผ่นโพลีเม่อร์แบบที่ไม่ย่อยสลาย
ศาสตราจารย์ Kumta และทีมงานวิจัยทำการออกแบบวัสดุเทียมที่ทำจากระบบ 3-D printing ที่เหมาะเจาะกับร่างกายของคนไข้และย่อยสลายไปเองในร่างกายของผู้ป่วย โดยใช้วัสดุที่ร่างกายสามารถดูดซึมหรือขับออกมาหลังจากบาดแผลหายดีแล้ว
เขากล่าวว่า Magnesium เหมาะสมที่สุดกับกระดูกธรรมชาติทั้งในแง่ความแข็งแรง ความทนทานและความหนาแน่น
แทนที่จะใช้หมึก เครื่อง 3-D printer เครื่องนี้ใช้กาวชนิดพิเศษแทน เครื่องคอมพิวเตอร์จะออกคำสั่งให้เครื่องพริ้นเตอร์ทำการผสมกาวกับผงแร่ธาตุ เครื่องพริ้นเตอร์จะพิมพ์กระดูกเทียมออกมาตามคำสั่งโดยพิมพ์ที่ละชั้นต่อครั้ง
คุณ Kumta กล่าวว่าเครื่องพิมพ์สามารถสร้างกระดูกเทียมที่เหมือนกระดูกจริงของผู้ป่วย ทีมงานวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์ Kumta ยังกำลังทดสอบส่วนผสมกระดูกเทียมที่ทำจากสารแคลเซี่ยมฟอสเฟตที่ใช้ฉีดเข้าไปเพื่ออุดช่องว่างระหว่างกระดูกที่แตกหัก แล้วใช้แผ่นวัสดุที่ย่อยสลายเองซึ่งพิมพ์ด้วยเครื่อง 3-D พรินเตอร์หรือแผ่นเหล็ก ยึดให้ส่วนผสมที่อัดฉีดเข้าไปติดอยู่กับที่
คุณ Kumta กล่าวว่าแผ่นเหล็กที่ใช้ยึดส่วนผสมให้อยู่กับที่นี้สร้างความทนทานและรองรับน้ำหนักส่วนผสมที่อัดฉีดเข้าไปอุดรอยแตกร้าวของกระดูกเพื่อช่วยให้กระดูกสมานตัวและสมานรอยแตกหัก
ศาสตราจารย์ Kumta กล่าวว่าผลงานวิจัยนี้ถือว่าจะช่วยปฏิวัติการรักษาคนไข้กระดูกแตกหักให้ดีขึ้นเพราะแทนที่แพทย์จะใชแผ่นเหล็ก น็อตเหล็กหรือแท่งเหล็กดามกระดูก แพทย์สามารถใช้เทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นนี้ในการช่วยร่างกายของคนไข้เยียวยาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะนี้ทีมงานกำลังทดสอบคุณภาพเทคโนโลยีนี้ในสัตว์ทดลองก่อนหน้าที่จะนำไปทดลองรักษาในคนต่อไป