Your browser doesn’t support HTML5
ผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ศรีษะมักต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อตัดส่วนของกระโหลกที่เสียหายทิ้ง แพทย์ใช้วัสดุเทียมที่ทำจากแผ่นไททาเนียม (titanium) เป็นตัวทดแทนชิ้นกระโหลกที่เสียหาย แต่ชิ้นกระโหลกเทียมที่ทำจากไททาเนี่ยมนี้ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการผลิตและมีราคาแพงหลายพันดอลล่าร์สหรัฐ
ขณะนี้ ทีมนักวิจัยด้านชีวการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยซิดนี่ย์กำลังทดสอบการผ่าตัดทดแทนชิ้นกระโหลกด้วยกระโหลกเทียมที่ผลิตจากเทคโนโลยี 3D printers
Dr. Philip Boughton เป็นผู้ริเริ่มการนำเทคโนโลยี 3D printers ไปใช้ในการผลิตชิ้นกระโหลกเทียมนี้ เขากล่าวว่าเทคโนโลยีนี้สามารถช่วยผู้ป่วยที่ได้รับบาดเร็บรุนแรงที่ศรีษะได้รับการผ่าตัดรักษาอย่างรวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง
เขากล่าวว่าผู้ป่วยอาจประสบอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์หรืออุบัติเหตุต่างๆ ที่ไม่คาดคิด เขาชี้ว่าการรักษากระโหลกศรีษะที่แตกร้าวเสียหายรุนแรงทำได้ยากมาก
เทคโนโลยี 3D printers สามารถผลิตแม่พิมพ์ของชิ้นกระโหลกของคนไข้ที่เสียหายได้ โดยทีมงานใช้ภาพ CT สแกนของผู้ป่วยเป็นแบบในการพิมพ์
หลังจากนั้น ทีมงานจะทำการหล่อชิ้นกระโหลกตามแม่พิมพ์ที่ผลิตออกมา โดยใช้วัสดุที่เรียกว่าซีเมนต์กระดูก ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเพียงไม่กี่ร้อยดอลล่าร์สหรัฐและใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน
คุณ Jeremy Kwarcinski สมาชิกทีมวิจัยกล่าวว่าชิ้นกระโหลกเทียมที่ทำขึ้นจากแม่พิมพ์ ช่วยผลิตชิ้นกระโหลกเทียมที่มีขนาดและรูปร่างตามต้องการได้อย่างเหมาะเจาะพอดี
เขากล่าวว่าทีมงานใช้ภาพสามมิติเพื่อระบุชัดเจนถึงรูปร่างและขนาดของชิ้นกระโหลกอย่างที่ต้องการนำไปทดแทนส่วนกระโหลกที่เสียหายและถูกตัดทิ้ง คนไข้บางคนต้องใช้แผ่นกระโหลกเทียมทดแทนเพียงแค่ 4 เซ็นติเมตรแต่บางคนต้องใช้กระโหลกเทียมทดแทนถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของกระโหลกศรีษะทั้งหมด
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ซิดนี่ย์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะนำเทคโนโลยี 3D printing ไปช่วยในการสร้างจมูกและแก้มเทียมในอนาคต เช่นเดียวกับการหล่อกระดูกไหปลาร้าเทียมและอวัยวะส่วนอื่นๆ เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ที่บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุต่างๆ ในออสเตรเลียและในประเทศอื่นๆ