Your browser doesn’t support HTML5
ในขณะที่โลกเคลื่อนตัวผ่านฤดูร้อนที่มีสภาพอากาศแบบสุดโต่ง บรรดาผู้เชี่ยวชาญสังเกตเห็นบางสิ่งที่บางอย่างแตกต่างออกไป นั่นคือในปี 2021 นี้ ผลกระทบของสภาพอากาศที่รุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เคยรอดพ้นความรุนแรงของภาวะโลกร้อนในอดีต
ประเทศที่ร่ำรวย อย่างเช่น สหรัฐฯ แคนาดา เยอรมนี และเบลเยียม กำลังร่วมชะตากรรมเดียวกันกับประเทศที่ยากจนกว่าและเปราะบางกว่าในเรื่องการมีสภาพอากาศแบบสุดโต่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์
Debby Guha-Sapir ผู้ก่อตั้งฐานข้อมูลภัยพิบัติระหว่างประเทศที่ศูนย์ Center for Research on the Epidemiology of Disasters at Catholic University of Louvain ในเบลเยียม กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาของประเทศยากจนอีกต่อไป แต่เห็นได้ชัดว่าตอนนี้มันกลายเป็นปัญหาของประเทศที่ร่ำรวยด้วย
การเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในประเทศจีน การมีผู้คนหลายร้อยคนจมน้ำตายในบางส่วนของเยอรมนีและเบลเยียมซึ่งไม่เคยถูกน้ำท่วมมาก่อน ขณะที่แคนาดาและรัฐที่อยู่แถบตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ มีเหตุการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ Zeke Hausfather เรียกว่าเป็นความร้อนที่ "น่ากลัว" กล่าวคือ อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ และสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ซึ่งทำลายสถิติเดิม มาพร้อมกับไฟป่าที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยุโรปตอนใต้ก็กำลังเผชิญกับความร้อนและไฟป่าอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วยเช่นเดียวกัน และในตอนนี้ ทั้งฤดูพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกและไฟป่าในสหรัฐฯ เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้นเอง
มหาวิทยาลัย Colorado State ได้เพิ่มการพยากรณ์สำหรับจำนวนพายุแอตแลนติกที่ได้รับการตั้งชื่อแล้ว และสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ คาดการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะมีพายุมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนพฤษภาคม 1-2 ชื่อด้วยกัน
Park Williams นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศและอัคคีภัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลีส (UCLA) กล่าวว่า ในฤดูกาลไฟป่าปีนี้ ฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1580 เป็นต้นมา โดยอิงจากการอ่านความชื้นในดินและการบันทึกวงปีของต้นไม้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดเพลิงไหม้ที่เลวร้าย
Ernst Rauch หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศและภูมิศาสตร์ของบริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ Munich Re กล่าวว่า ฤดูกาลพายุเฮอริเคนและไฟป่าของสหรัฐฯ เป็นตัวขับเคลื่อนสถิติสำหรับค่าเสียหายทั้งหมดด้วยภัยพิบัติจากสภาพอากาศในตอนสิ้นปี แต่สำหรับในปีนี้ จะเห็นว่าประเทศที่ร่ำรวยกว่าได้รับความสูญเสียทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุด
Hausfather ผู้อำนวยการด้านสภาพอากาศของสถาบัน Breakthrough Institute กล่าวว่า ในเวลาที่ประเทศยากจนถูกโจมตีด้วยภัยพิบัติต่าง ๆ จะมีการเตรียมพร้อมน้อยกว่า ดังนั้นจึงทำให้เกิดอันตรายมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้คนหลายร้อยคนเสียชีวิตด้วยคลื่นความร้อนในรัฐทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ แต่จำนวนดังกล่าวจะสูงกว่านี้มากหากเกิดขึ้นในพื้นที่ยากจน
มาดากัสการ์ ประเทศเกาะนอกแอฟริกาตะวันออก อยู่ท่ามกลางความแห้งแล้งมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งองค์การสหประชาชาติกล่าวเตือนว่า ปัญหาดังกล่าวจะทำให้ประชากร 400,000 คนต้องตกอยู่ในสภาะอดอยาก
Hausfather กล่าวอีกว่า แม้ว่าจะยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าฤดูร้อนปี 2021 นี้จะทำลายสถิติด้านภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพอากาศอีกครั้งหรือไม่ แต่เราก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ผลักดันให้เกิดเหตุการณ์แบบสุดโต่งในดินแดนใหม่ ๆ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
Guha-Sapir นักวิจัยด้านภัยพิบัติกล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากเหตุการณ์น้ำท่วมและไฟป่าที่รุนแรงแล้ว คลื่นความร้อนก็ยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่จะต้องมีการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตด้วย
(ที่มา: สำนักข่าวเอพี https://apnews.com/hub/climate)