การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดภาวะร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น และเมื่อเกิดเหตุไฟป่า ความเสียหายจึงลุกลามเร็วขึ้นกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ ทีมนักศึกษารุ่นใหม่จึงทดลองพัฒนาอุปกรณ์ที่ไวต่อความร้อนซึ่งจะสามารถใช้ตรวจจับไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว โดยหวังว่าจะช่วยลดความเสียหายจากการขยายตัวของเพลิงไหม้
อุปกรณ์ดังกล่าวชื่อว่า ไพรี" (Pyri) ซึ่งสร้างขึ้นจากวัสดุชีวภาพ โดยสิ่งประดิษฐนี้มีรูปทรงคล้ายลูกสนที่ดูกลมกลืนไปกับธรรมชาติ และภายในมีกลไกการตรวจจับความร้อนที่ทำงานอัตโนมัติด้วยการส่งสัญญาณวิทยุแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานฉุกเฉิน หากอุปกรณ์ที่ไวต่อความร้อนนี้พบว่าเกิดไฟป่าขึ้น
Pyri ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมนักศึกษาจากโครงการวิศวกรรมการออกแบบนวัตกรรม ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Royal College of Art และ Imperial College London
เบลค กูดวิน หนึ่งในสมาชิกทีมพัฒนา Pyri บอกว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ขี้ผึ้ง ถ่าน รวมถึงส่วนประกอบที่มาจากส่วนผสมเหล่านี้ ซึ่งเป็นการใช้งานรูปแบบใหม่เพื่อใช้กระตุ้นแหล่งพลังงานที่สามารถปล่อยคลื่นวิทยุซึ่งสามารถตรวจจับได้จากระยะไกล ไม่ว่าจะเป็นกิโลเมตร หรือแม้กระทั่งหลายสิบกิโลเมตร
ไพรีพอด (PyriPod) ใช้พลังงานจากแบตเตอรีที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ ให้มีความสอดคล้องกับการใช้งานในพื้นที่ห่างไกล สมบุกสมบันต่อเหตุภัยพิบัติ
อุปกรณ์นี้จะเฝ้าตรวจจับความร้อนโดยสงวนพลังงานไว้ให้สามารถใช้ได้เป็นเวลานาน ขณะที่ วิธีการติดตั้งก็สามารถทำได้ทั้งการโปรยจากเครื่องบิน หรือนำไปวางไว้ด้วยมือในตำแหน่งที่ต้องการ
นอกจากนี้ Pyri ยังขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของสัญญาณ ร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศ และข้อมูลจากดาวเทียมที่มีอยู่ ทำให้สามารถคาดการณ์การขยายตัวของไฟป่าที่อาจจะเกิดขึ้น จากนั้นระบบจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานการอพยพผู้คนและทำการดับเพลิงได้อย่างรวดเร็ว
กูดวิน สมาชิกทีมพัฒนา Pyri เล่าถึงอุปกรณ์ชิ้นงานต้นแบบว่า ตอนนี้กำลังค่อย ๆ ย่อยสลายไปตามธรรมชาติตามที่ต้องการ เป็นการตอบโจทย์ของการติดตั้ง วางไว้ และไม่ต้องไปดูแล
เขายังกล่าวด้วยว่า “เมื่อเกิดเหตุไฟป่าขึ้นจริง ๆ อุปกรณ์จะถูกเผาไหม้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทำให้ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือขยะ แบบเดียวกับวัสดุที่ทำจากพลาสติก”
นวัตกรรมตรวจจับความร้อนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง Pyri ยังได้รับรางวัล เจมส์ ไดสัน อวอร์ด (James Dyson Award) จากประเทศอังกฤษ และในอนาคต ทีมงานมีแผนที่จะทดสอบอุปกรณ์นี้ในโครงการนำร่องต่าง ๆ เพื่อที่จะพัฒนาประสิทธิภาพต่อไป
- ที่มา: รอยเตอร์