Your browser doesn’t support HTML5
‘The Rescue’ ภาพยนตร์สารคดี ที่นำเสนอเบื้องหลังและภารกิจในปฏิบัติการช่วยชีวิตเด็กและโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี 13 คน จากเหตุการณ์น้ำท่วมถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เมื่อปีพุทธศักราช 2561 เปิดฉายรอบรอบพิเศษให้ชาวชุมชนไทย ได้ชมเป็นครั้งแรก ที่โรงภาพยนตร์ The Landmark ในนครลอสแอนเจลิส เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
‘The Rescue’ เป็นผลงานการสร้างของ เอลิซาเบธ ไช วาซาร์เรลลิ (Elizabeth Chai Vasarhelyi) และ จิมมี ชิน (Jimmy Chin) ผู้กำกับสารคดีเจ้าของรางวัลออสการ์จาก ‘Free Solo’ เมื่อ ปี 2018 โดยภายในงานที่จัดโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ร่วมกับบริษัท National Geographic Documentary Films เปิดโอกาสให้ผู้ชมในรอบพิเศษได้ร่วมกิจกรรมและพบปะกับทีมผลิตภาพยนตร์สารคดีอย่างใกล้ชิด
Jimmy Chin ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี The Rescue บอกว่า รู้สึกประทับใจที่ได้มาเปิดตัวและถ่ายทอดเรื่องราวของภารกิจกู้ชีพ ทีมหมูป่า ในชุมชนไทย ที่นครลอส แอนเจลิส เรื่องราวที่จะกลายเป็นตำนานในหน้าประวัติศาสตร์
“น่าทึ่งมากที่ได้นำภาพยนตร์มาจัดแสดงในชุมชนไทย ที่นครลอส แอนเจลิส สหรัฐฯ เสียงและเรื่องราวของบุคคลในภาพยนตร์จะกลายเป็นตำนานในหน้าประวัติศาสตร์ ของปฏิบัติการกู้ชีพที่น่าอัศจรรย์ และหลายคนก็มีส่วนในสถานการณ์ที่ซับซ้อนและยากลำบาก ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจและความเอื้อเฟื้อจากทุกคน ผมมีความสุขมากในวันนี้”
“..ผมถือว่าเป็นเกียรติอยู่เสมอ เมื่อได้มีส่วนเล่าเรื่องราว และได้รับความไว้วางใจ จากบุคคลต่างๆ มาถ่ายทอดในภาพยนตร์ และที่มากที่สุดคือหนังของเราได้บอกเรื่องราวที่ถูกต้องจากบุคคลที่มีส่วนในเหตุการณ์นั้นโดยตรง ซึ่งมีความหมายอย่างมาก ในการรำลึกและจดจำ ที่ผู้คนจากหลายเชื้อชาติ หลายประเทศ ต่างที่มา ต่างวัฒนธรรม มาร่วมกันทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้”
ขณะที่ Aloe Blacc ศิลปินผู้แต่งและร้องเพลง “Believe” เพลงประกอบภาพยนตร์ บอกถึงแรงบันดาลใจของการสร้างสรรค์เพลงนี้ ที่มาจากความเชื่อมั่น และการไม่ยอมแพ้ ที่เกิดขึ้นจากเบื้องหลังในภารกิจของทีมกู้ชีพหมูป่า ที่ถ่ายทอดผ่านหนังเรื่องนี้
“ผมแต่งเพลง ที่ชื่อว่า Believe (ความเชื่อมั่น/ ศรัทธา) เพราะว่าในหนังมีนักดำน้ำกู้ชีพคือจอห์น จากอังกฤษ ที่ไปเจอเด็กๆ เป็นครั้งแรกในถ้ำ แล้วเขาพูดกับเด็กๆ ว่า ให้ เชื่อมั่น เชื่อมั่น และตัวเขาเองก็บอกตัวเองเสมอว่าให้เชื่อมั่นว่าจะเจอเด็กๆ ที่เขาค้นหา..ขณะเดียวกันก็มีตัวละครอีกตัวที่ต้องการจะฝากสายข้อมือ (จากพระสงฆ์) ให้ริค (นักดำน้ำ) เอาไปให้เด็กในช่วงที่ติดอยู่ในถ้ำ ซึ่ง ริคไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ทันทีที่เบน บอกว่า เด็กๆ เหล่านี้ต่างมีศรัทธา (Believe) ในจิตวิญญาณเหล่านี้ ทำให้ริคเปลี่ยนใจนำไปสายผูกข้อมือไปด้วยที่สุด
“.. คำว่า “ความเชื่อ” มันทำให้ผมนึกไปในสิ่งที่ถูกต้อง ที่จะเขียนเป็นเพลงนี้ และหากคุณมีความเชื่อมั่นอย่างแท้จริง ว่าจะทำภารกิจการช่วยชีวิตนี้สำเร็จ สิ่งนั้นมันก็จะเกิดขึ้น และจะกลายเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่” Aloe Blacc ศิลปินผู้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ กล่าว
Your browser doesn’t support HTML5
สารคดี เรื่องนี้นำผู้ชมลุ้นไปกับการติดตามภารกิจกู้ชีพที่ผู้คนทั่วโลกต่างเอาใจช่วย ด้วยการนำเสนอรายละเอียดที่ไม่เคยได้รับการเปิดเผยที่ไหนมาก่อน เน้นไปที่ความพยายามของหน่วยซีลกองทัพเรือไทย, กองกำลังพิเศษของสหรัฐฯ และนักดำน้ำมืออาชีพมากมายจากทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ ที่มาร่วมมือกันในภารกิจกู้ชีพที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและต้องแข่งกับเวลา เพื่อช่วยชีวิตเหล่าเด็กๆ ให้สำเร็จ
พ.อ. สิงหนาท โลสุยะ รองเสนาธิการ มณฑลทหารบกที่ 37 ผู้นำกำลังพลเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในการผันน้ำจากถ้ำหลวง บอกถึงเบื้องหลังความร่วมมือจากทุกคนที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจนบรรลุผลสำเร็จ
“ถึงแม้ว่าเราจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เรามาจากชาติมาหลายภาษา มีหลายศาสนา มีหลายวัฒนธรรมแต่ว่าเมื่อเราอยู่ร่วมกันแล้ว มันเหมือนมีพลังอะไรสักอย่างหนึ่ง มันทำให้พวกเราต้องเรียนรู้ร่วมกัน ถอดบทเรียนร่วมกันภายใต้เวลาทำงานแข่งกับเวลาครับ แล้วก็สามารถเรียนรู้ไปด้วยกันได้ ส่วนที่เร็วก็กลับมาช้าได้ ส่วนที่ช้าก็กลับมาวิ่งเร็วตามกันได้ และก็สุดท้ายมันก็ทำให้เราบรรลุเป้าหมายของการปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จ”
เช่นเดียวกับ Robert Watkins หัวหน้าชุดปฏิบัติการ กองทัพอากาศสหรัฐฯ จากกองบัญชาการภาคพื้นอินโด-แปซิฟิคฯ ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญไปร่วมในภารกิจกู้ภัยในครั้งนั้นและมีส่วนออกแบบและติดตั้งระบบรอกและสลิง รวมทั้งอุปกรณ์ที่ช่วยนำเด็กๆ ออกมาได้อย่างปลอดภัย
“ในช่วงปฏิบัติภารกิจกู้ชีพ เราติดตั้งอุปกรณ์ระบบรอกและสลิงแบบพิเศษ เพื่อนำเด็กๆออกมาจากถ้ำ ได้อย่างปลอดภัย”
ด้าน ธเนศ นะธิศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำใต้ดินปฏิบัติหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ถ้ำหลวง และได้รับหน้าที่เป็น Executive Producer ของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย บอกถึงมุมมองความท้าทาย และความยากลำบากในการเชื่อมร้อยเหตุการณ์จริงมาไว้ในภาพยนตร์สารคดี
“ภารกิจครั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นภารกิจที่ค่อนข้างยากพอสมควรนะครับ เพราะว่าหนึ่งก็คือทางด้านวิศวกรรม สองคือที่เราต้องสู้กับสภาพภูมิอากาศเวลานั้น สภาพฝน แล้วก็ ไม่ว่าจะเป็นทีมกู้ภัยที่มาจากต่างชาติต่างภาษา ที่ไม่เคยทำภารกิจอย่างนี้มาก่อนแล้วก็มีการทำงานร่วมกัน
ความท้าทายก็น่าจะเป็นเรื่องของการประสานความร่วมมือ และการก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ นานาซึ่งในท้ายของภารกิจ เราก็ได้ทำงานร่วมกันสามัคคีกันแล้วก็ประสบผลสำเร็จครับ
เราก็พยายามที่ใส่เรื่องราวเข้าไปให้มากที่สุด ก็จะเป็นส่วนที่ทางผู้กำกับฯ และ ทีมโปรดิวเซอร์ ของ Nat Geo (National Geographic) เขาโฟกัสไปเรื่องที่ยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อนแต่ว่าใจความสำคัญคือเราต้องการสื่อถึงความสามัคคีของของหลากหลายประเทศ รวมถึงความเสียสละของอาสาสมัคร และ เจ้าหน้าที่กู้ภัยของฝั่งไทย”
นายมังกร ประทุมแก้ว อดีตกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส (ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็น เอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย แอฟริกาใต้) บอกว่าการถ่ายทอดภารกิจการในภาพยนตร์ ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยบอกถึงความร่วมมือร่วมใจของภารกิจยิ่งใหญ่นี้ให้ทั่วโลกได้รับรู้
“ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะการถ่ายทำหนัง การนำเสนอที่ออกมาในลักษณะของการร่วมมือระหว่างการทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งถือเป็นเรื่องการสื่อสารของหนังที่ออกมาได้ดี” มังกร ประทุมแก้ว กล่าว
ภาพยนตร์แนวสารดคี The Rescue อำนายการสร้างโดย National Geographic และ Greenwich Entertainment ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีส่วนร่วมกับเทศกาลภาพยนตร์สำคัญหลายแห่งในอเมริกา รวมไปถึงการคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโต ประเทศแคนนาดา มาแล้ว โดย The Rescue ได้เริ่มฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วสหรัฐฯ แล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา