ตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้รับความนิยมไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในไทยและหลายประเทศในอาเซียน สำหรับชาวอินโดนีเซียเองก็ตื่นตัวรับกระแสรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างมาก จากแรงสนับสนุนของภาครัฐบาลท้องถิ่น แต่พวกเขายอมรับว่ามีข้อจำกัดมากมายที่อยู่ในรายการก่อนตัดสินใจซื้อด้วยเช่นกัน
ในตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศอินโดนีเซีย การซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หรือว่ารถยนต์ EV เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้บริโภคจำนวนมาก ทั้งเรื่องราคาที่สูง และการเข้าถึงสถานีชาร์จที่มีอย่างจำกัด อาจทำให้การตัดสินใจที่จะครอบครองรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่จะต้องคิดอย่างหนัก
ลุธฟี ชายชาวอินโดนีเซีย กำลังทดสอบการขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า Wuling (วู่หลิง) Air EV ที่ผลิตโดยประเทศจีน โดยเขากล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ขับรถยนต์ไฟฟ้า รถคันนี้แตกต่างไม่เหมือนใคร”
ลุธฟี กล่าวเสริมว่า แม้ภายนอกอาจจะดูเล็กแต่ห้องโดยสารด้านในกว้างขวางไม่ต่างจากรถทั่วไป ความรู้สึกในการขับขี่ถือว่าดี ไม่มีเสียงดังรบกวน และอัตราเร่งความเร็วของรถถือว่ารวดเร็วมาก
บริษัท Wuling Motors ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน ได้เปิดตัวรถยนต์รุ่นที่คาดว่าจะเป็นสินค้าหลักของบริษัทในอินโดนีเซีย ช่วงเดือนสิงหาคมปี 2022 โดยตั้งราคาอยู่ที่ระหว่าง 16,000 ถึง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 528,000-660,000 บาท) โดยการตั้งราคาเช่นนี้ ทำให้รถยนต์รุ่นดังกล่าว กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกที่สุดในอินโดนีเซีย
ลุธฟี กล่าวว่า "สิ่งแรกที่ผมพิจารณา แน่นอนคือราคา จำนวนสถานีชาร์จ และการรับประกันการใช้งานแบตเตอรี่"
ทั้งนี้ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน ยังคงครองสัดส่วนในท้องถนนของกรุงจาการ์ตาและเมืองใหญ่อื่น ๆ ของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี สิ่งนี้มีแนวโน้มที่กำลังจะเปลี่ยนไป
เดียน อัชมาฮานิ ตัวแทนจากบริษัท Wuling Motors ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวกับวีโอเอว่า "เรามีความรู้สึกเชิงบวกต่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียที่จะเติบโตมากขึ้น เมื่อประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน การเปิดตัวรถยนต์รุ่น Air-EV กระแสตอบรับถือว่าดีมาก เพราะเราขายรถไปได้มากกว่า 3,000 คันแล้ว และยังมีลูกค้าลงชื่อรอสั่งซื้อยาวไปถึง 1-2 เดือนทีเดียว”
อ้างอิงข้อมูลจาก GAIKINDO สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอินโดนีเซีย ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2022 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ในอินโดนีเซียอยู่ที่ 7,900 คัน และเมื่อเทียบจำนวนดังกล่าวกับยอดขายในปี 2021 ถือว่าเพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่าตัว โดยในปีที่แล้วรถยนต์ Wuling Air EVs ทำยอดขายได้ราว 5,900 คัน
ความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากความพยายามของภาครัฐที่สร้างแรงจูงใจให้คนหันมาขับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรวมไปถึงการผลักดันให้มีการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์จากท้องถิ่น
อัชมาฮานิ จากบริษัท Wuling Motors อธิบายว่า “เราเห็นได้นโยบายของรัฐบาลที่ดีพอ ที่จะเร่งการขับเคลื่อนของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และประชาชนก็ให้การตอบรับรถยนต์ EV ในเชิงบวก”
การผลักดันอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย ของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจโค วิโดโด เห็นได้ชัดเจนผ่านการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้ง Wuling Air EV และ Ioniq 5 ให้เป็นพาหนะที่ใช้อย่างเป็นทางการในการประชุมสุดยอด จี20 ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้า Ioniq 5 จากบริษัท Hyundai ของเกาหลีใต้ ถือว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดอันดับ 2 ด้วยยอดขายมากกว่า 1,700 คัน
บูดี คาร์ยา ซูมาดี รัฐมนตรีคมนาคมอินโดนีเซีย กล่าวว่า “มี 3 ประเด็นที่เราต้องคำนึงถึง อย่างแรกคือ ทำอย่างไรให้แบตเตอรี่มีราคาถูก แต่มีศักยภาพการใช้งานที่สูง อย่างที่สองคือ เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพ และสามคือ การเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จ”
รัฐบาลอินโดนีเซียหวังว่า ภาคเอกชนจะมีความสามารถในการช่วยขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้อินโดนีเซียมีจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าไม่ถึง 400 แห่งทั่วประเทศ
- ที่มา: วีโอเอ