“เสียดายมากครับที่จะไม่ได้ไปเลือกตั้งผู้ว่า กทม. รู้สึกว่าทุกสิทธิ์ทุกเสียงควรจะได้รับการนับเข้าไป ในฐานะของคนกรุงเทพฯ คนหนึ่ง เราไม่ควรถูกกันสิทธิ์ เพียงเพราะว่าอาศัยในต่างประเทศ” ยุทธพงษ์ วิจิตรปัญญารักษ์ ผู้สอบบัญชีชาวไทยในมหานครนิวยอร์ก กล่าวกับวีโอเอไทยถึงการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ กทม. ห่างหายจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ถึงเก้าปี
ยุทธพงษ์ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง เนื่องจากเขาเห็นว่าเป็น “เครื่องมือที่แสดงออกได้ดีที่สุดว่าอำนาจอธิปไตยอยู่กับประชาชน” โดยเขากล่าวว่าตนได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ทุกครั้ง ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขาอยู่ที่กรุงเทพฯ เขตธนบุรี และใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีพ.ศ. 2562 รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ชาวไทยในมหานครนิวยอร์กไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตราที่ 95 ว่าด้วยสภาผู้แทนราษฎร กำหนดสิทธิเลือกตั้งสำหรับผู้ที่อยู่นอกเขตเลือกตั้งหรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร ให้สามารถเลือกตั้งนอกเขตได้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึงเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดสิทธิการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในการเลือกตั้งถิ่น ซึ่งรวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. แต่อย่างใด
บทบัญญัติที่ให้มีการเลือกตั้งนอกเขตและนอกราชอาณาจักรสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปนี้ เริ่มมีในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งนอกเขตและนอกราชอาณาจักรสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น
ด้วยเหตุที่ไม่มีบทบัญญัติลักษณะดังกล่าวในรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกสองฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ ได้แก่ พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ. ระเบียบบบริหารราชการกรุงเทพฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 จึงไม่ได้บัญญัติให้มีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. นอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน แนะนำให้ผู้ที่ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งให้เดินทางกลับไทย หรือแจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง https://stat.bora.dopa.go.th/Election/abscause/#/main
หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อ "การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง"
ทั้งนี้ หากเทียบกับสหรัฐฯ แล้ว สหรัฐฯ มีกฎหมาย Uniformed and Overseas Citizens Absentee Voting Act หรือ UOCAVA ซึ่งให้สิทธิข้าราชการในเครื่องแบบ ครอบครัว และชาวอเมริกันที่อยู่ต่างแดน สามารถเลือกตั้งผู้แทนในรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จากนอกประเทศได้ โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า “รัฐและดินแดนส่วนใหญ่ มีกฎหมายของตนที่อนุญาตให้พลเรือนภายใต้กฎหมาย UOCAVA สามารถลงทะเบียนและเลือกตั้งในระดับรัฐและท้องถิ่นได้เช่นกัน” ยกตัวอย่างเช่น รัฐเวอร์จิเนียที่อนุญาตให้ข้าราชการในเครื่องแบบและประชาชนที่อยู่ต่างแดนสามารถลงทะเบียนเพื่อเลือกตั้งท้องถิ่นได้เช่นกัน
“การเลือกตั้งเป็นการแสดงออกที่ดีที่สุด ที่เราจะสามารถส่งเสียงของเราออกไปได้ว่า เราอยากได้ผู้แทนแบบไหนมาช่วยในการบริหารบ้านเมือง” ยุทธพงษ์ วัย 30 ปี กล่าว “เราคงไม่ได้ไปทำหน้าที่บริหารประเทศเอง แต่วันนี้ ในการเป็นคนไทย เราอยากแสดงความเห็นของเราผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิงที่สำคัญที่สุดเลยในระบอบประชาธิปไตย”
ชาว กทม. ในสหรัฐฯ เผย อยากเห็น กทม. พัฒนา ไม่ว่าจะมีแผนกลับบ้านเร็วๆ นี้หรือไม่ก็ตาม
ยุทธพงษ์ทำงานและอาศัยที่มหานครนิวยอร์กตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 – 2563 ก่อนจะย้ายกลับไทยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และย้ายกลับมาอีกครั้งเมื่อปีที่แล้วและวางแผนจะอยู่มหานครนิวยอร์กครั้งนี้ระยะยาว
แม้เขาจะยังไม่มีแผนจะกลับไปอาศัยที่กรุงเทพฯ อีกครั้งในเร็วๆ นี้ แต่ยุทธพงษ์ก็ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่แม้เขาจะไม่มีโอกาสได้เลือก แต่เขาก็เห็นว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้สามารถส่งผลต่อไปได้ในระยะยาว เพราะ “มันเป็นรากฐานในการพัฒนาต่อไปในอนาคต ว่าเราอยากเห็นเมืองพัฒนาไปในแบบไหน…วันนี้เราไปเลือกผู้นำที่มีแนวคิด วิสัยทัศน์ ตรงกับเรา แล้วสิ่งที่เขาสร้างวันนี้จะเป็นรากฐานต่อไปให้กับตัวเราหรือว่าลูกหลานของเราในอนาคต”
เช่นเดียวกับแววเนตร สุขเกษม เศรษฐกรด้านภาษีของธนาคารโลกวัย 37 ปี เธออาศัยอยู่ที่กรุงวอชิงตันมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 และมีแผนจะอาศัยอยู่ที่สหรัฐฯ ในระยะยาวเพื่อเข้าสู่กระบวนการขอสัญชาติ แววเนตรระบุว่า เธอ “เสียดายมากกว่าเมื่อก่อน” ที่ไม่ได้มีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง
“เก้าปีที่ไม่ได้เลือกตั้งมามันนานมาก และช่วงตั้งแต่หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด เหมือนกรุงเทพฯ มันแย่ลง เพื่อนๆ หลายคนที่อยู่ไทยก็ได้มีการคุยกันว่า จะทำอย่างไรถึงจะได้ย้ายออกจากไทยมาอย่างประเทศ หรือคนที่เคยเรียนจบจากต่างประเทศแล้วกับไปทำงานที่ไทย และรู้สึกว่าไม่น่ากลับไปเลย” แววเนตรกล่าว “สิ่งที่เพื่อนพูด เป็นสิ่งที่ไม่ได้พูดด้วยอารมณ์ แต่เรานั่งวิเคราะห์กัน อย่างตนเป็นเศรษฐกร ก็ต้องดูจีดีพีของประเทศ การจัดเก็บภาษี หรือตัวเลขต่างๆ แล้วเห็นว่าประเทศไทยเหมือนถอยหลัง”
ข้อมูลการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเมื่อปีพ.ศ. 2562 โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ระบุว่า มีผู้มีภูมิลำนาในกทม. 1,561 คน จากชาวไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่ลงทะเบียนใช้สิทธิทั้งหมด 4,123 คน ในเขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูต
ทางด้าน กานต์ อิ่มวัฒนา นักศึกษาปริญญาเอกด้านชีววิทยาความหลากหลายของพืช มหาวิทยาลัย Duke เมืองเดอแรม รัฐนอร์ทแคโรไลนา มีกำหนดกลับไปทำงานที่ กทม. ในอีกหนึ่งปีหลังจากนี้ หลังศึกษาอยู่ที่สหรัฐฯ มาแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 และแน่นอนว่า เขาจะได้กลับไปใช้ชีวิตใน กทม. ในยุคของผู้ว่าฯ ที่เขาไม่มีโอกาสได้เลือกในการเลือกตั้งที่ “ค่อนข้างสำคัญมาก”
“ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดที่ค่อนข้างดีมากเลยว่า คนใน กทม. มีความเห็นอย่างไรต่อการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของ กทม. และส่วนของระดับประเทศ” กานต์กล่าวถึงความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ ในยุคที่เขาเห็นว่า “การเมืองยังไม่ปกติ” เนื่องจากมีวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่มีอำนาจลงความเห็นในประเด็นที่สำคัญ เช่น การร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี
“ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะบอกอะไรได้หลายอย่างว่า ถ้าตัวแทนที่ชนะเป็นคนที่อยู่ในฝั่งของรัฐบาล ก็จะสื่อความหมายได้แบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นตัวแทนคนอื่นชนะ ก็จะสื่อความหมายได้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็จะเป็นตัวกดดันให้ผู้บริหารประเทศต้องมีการปรับปรุงตัวเองในหลายๆ ด้าน”
กานต์เป็นหนึ่งในนักเรียนไทยในระดับอุดมศึกษา 6,836 คน จากคนไทยในสหรัฐฯ ที่มีจำนวนราว 316,600 คน อ้างอิงข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน
การคมนาคม-พื้นที่สาธารณะ ประเด็นหลักที่ชาว กทม. ในสหรัฐฯ อยากเห็น กทม. พัฒนา เทียบกับมหานครนิวยอร์ก-กรุงวอชิงตัน
ยุทธพงษ์ ชาวไทยในมหานครนิวยอร์ก ระบุว่า เหตุผลเรื่องค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าโดยสารรถสาธารณะที่สัมพันธ์กับรายได้โดยเฉลี่ย และเรื่องพื้นที่สาธารณะในตัวเมือง เป็นสองเหตุผลที่เขาคิดว่า เป็นสิ่งที่ทำให้มหานครนิวยอร์ก “น่าอยู่กว่า” เมื่อเทียบกับ กทม.
ยกตัวอย่างเช่น ค่ารถไฟบีทีเอส มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 59 บาทต่อเที่ยว ในขณะที่รถไฟใต้ดินนิวยอร์กมีราคาเที่ยวละ 2.75 ดอลลาร์ หรือราว 95 บาท โดยเป็นราคาคงที่ตลอดสาย ในขณะที่รายได้ขั้นต่ำของผู้ที่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 331 บาทต่อวัน เมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำในมหานครนิวยอร์กที่อยู่ที่ 15 ดอลลารหรือราว 520 บาทต่อชั่วโมง
ยุทธพงษ์ ชาวไทยในมหานครนิวยอร์ก ยังยกตัวอย่างให้ฟังว่า เขาเคยพยายามเดินทางจากบ้านของเขาใน กทม. ที่ตลาดพลู ซึ่งอยู่ติดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อเดินทางไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนลุมพินี เขาต้องนั่งรถไฟฟ้าไป-กลับ คิดเป็นค่าเดินทางราว 100 บาท
“แต่พอเสร็จจากออกกำลังกายที่สวน เราจะไปทำอย่างอื่นต่อ เราก็คิดไม่ออกแล้วว่าจะไปทำอะไร และสวนลุมพินีเป็นสวนใหญ่ใจกลางเมือง...ขณะที่นิวยอร์ก คนอาจจะรู้จักเซ็นทรัลพาร์ก ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้มีแค่นั้น ยังมีสวนอีกหลายแห่งที่คนในแต่ละพื้นที่สามารถเดินหรือนั่งรถไปแปบเดียวถึง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ที่ค่าเข้าไม่แพงสำหรับคนท้องถิ่น บางที่ก็จะมีวันเข้าฟรี หรือแค่ไปเดินริมน้ำ ดูคนออกมาวิ่ง พาสุนัขมาเดิน แค่นั้นก็มีความสุขแล้ว เรานึกไม่ออกว่าถ้าเป็น กทม. เราจะไปหากิจกรรมแบบนี้ได้ที่ไหน”
ทางด้านแววเนตร ชาวไทยที่อาศัยในกรุงวอชิงตัน ก็เห็นด้วยว่าการคมนาคมในเมืองที่เธออยู่ถือว่าสะดวกสบาย เมื่อเทียบกับ กทม. ทื่ “รถติดมาก แต่ถึงจะหลีกเลี่ยงใช้รถเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า ก็ไม่ได้สะดวกเพราะไม่สามารถเดินทางออกมาจากบ้านเพื่อขึ้นรถไฟฟ้าไปได้ทันที และมีราคาแพงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ” โดยเธอเห็นว่า การคมนาคมที่เข้าถึงได้อย่างสะดวก จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางและเพิ่มความปลอดภัยต่อผู้สัญจรได้
“ในกรุงวอชิงตันก็มีย่านที่อันตราย ในสหรัฐฯ ก็มีเหตุยิงกัน แต่เวลาเดินแถวบ้านเราไม่ได้รู้สึกถึงความน่ากลัวแม้จะเป็นเวลากลางคืน เพราะบริเวณที่อยู่มีตำรวจแทบทุกหัวมุม ถ้าเกิดอะไรขึ้น ตำรวจก็มาได้ทันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์…สิ่งนี้จะสะท้อนได้ถึงความรู้สึกปลอดภัย เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ที่ไม่กล้าเดินหลังสามทุ่มแล้ว เว้นแต่จะเป็นย่านที่มีไฟ มีคนเยอะๆ” แววเนตรกล่าว
เช่นเดียวกับกานต์ นักศึกษาไทยในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ที่เห็นด้วยว่า กทม. ควรพัฒนาเรื่องระบบคมนาคม เช่น คุณภาพของรถเมล์ ค่าเดินทางชองรถไฟฟ้า รวมถึงภูมิทัศน์ในเมือง เช่น ทางเดินเท้าใน กทม. ที่เขาเห็นว่า ยังไม่เป็นมิตรกับผู้สัญจรเท่าใด
ชาว กทม. ในสหรัฐฯ คาดหวังอย่างไรกับผู้ว่า กทม.
สำหรับยุทธพงษ์แล้ว คุณสมบัติข้อแรกที่เขาคาดหวังในตัวผู้ว่า กทม. คือ ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอย่างแท้จริง “มันตลกเหมือนกันที่เราต้องมาเน้นย้ำเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่มันควรเป็นหลักการพื้นฐานของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย”
ทั้งนี้ ผู้ว่า กทม. คนปัจจุบันคือพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่า กทม. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อปีพ.ศ. 2559 แทนที่ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งถูก คสช. มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง โดยพลตำรวจเอกอัศวินลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเพื่อลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ อีกสมัย หลังดำรงตำแหน่งมากว่าห้าปี เมื่อเทียบกับผู้ว่า กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งตามปกตินั้นจะมีวาระดำรงตำแหน่งสี่ปี
คุณสมบัติอื่นที่เขาคาดหวังในตัวผู้ว่าฯ คือ เป็นผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับกับพื้นที่และชุมชนต่างๆ มีวิสัยทัศน์ และเป็นนักพัฒนาวางรากฐานต่างๆ “อยากให้กรุงเทพฯ เป็นต้นแบบของการพัฒนา แล้วให้เมืองอื่นๆ ในประเทศพัฒนาตามกรุงเทพฯ ต่อๆ กันไป อยากเห็นการกระจายอำนาจออกไปมากขึ้นในส่วนท้องถิ่น ให้แต่ละพื้นที่ได้มีการพัฒนาตัวเองมากขึ้น” ชาวไทยในมหานครนิวยอร์กผู้นี้กล่าว
เช่นเดียวกับแววเนตรที่เห็นว่า ควรให้ความสำคัญต่อ กทม. ในฐานะเมืองหลวงของไทย “ถ้าเมืองหลวงมันดี ประเทศไทยก็น่าจะดีขึ้น”
กานต์ระบุว่า เขาต้องการเห็นผู้ว่าฯ ที่เข้าใจและเห็นปัญหาใน กทม. อย่างแท้จริง และมีประสบการณ์มากพอที่จะสามารถเข้ามาบริหารและแก้ไขปัญหาได้ รวมทั้งเข้าใจข้อจำกัดของสถานการณ์และยอมรับข้อผิดพลาดได้ “ผมไม่ได้คาดหวังว่าผู้ว่าฯ คนใหม่ จะแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่างอยู่แล้ว เพราะปัญหาค่อนข้างฝังรากลึกมากในหลายๆ ส่วน แต่ผู้ว่าฯ จะต้องเข้าใจข้อจำกัดเหล่านี้ และยอมรับว่าไม่สามารถทำให้ดีสมบูรณ์แบบได้ แต่พยายามเต็มที่” กานต์กล่าว
ทางด้าน “บุ๊ค” นักศึกษาระดับปริญญาเอกที่ศึกษาและอาศัยในเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 ระบุว่า สิ่งที่เขาต้องการเห็นจากผู้ว่า กทม. คือ เป็นคนที่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง และเป็นส่วนผสมระหว่างการเป็น “นักประสานสิบทิศ” เนื่องจากผู้ว่าฯ มีอำนาจจำกัดและต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ และการเป็นนักแก้ปัญหากับการจัดการต่างๆ ได้
“ในช่วงนี้ ประเด็นสำคัญน่าจะเป็นเรื่องของโควิด เมื่อเทียบกับต่างจังหวัดที่มีระบบสาธารณสุขที่ค่อนข้างเชื่อมโยงแล้ว ระบบใน กทม. จะเป็นระบบเบี้ยหัวแตก เพราะมีทั้งหน่วยงานที่อยู่ใต้สังกัด กทม. หน่วยงานที่อยู่ใต้สังกัดสาธารณสุข และหน่วยงานที่อยู่ใต้สังกัดโรงเรียนแพทย์ ที่ผมมองว่าผู้ว่า กทม. จะช่วยประสานหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ เพื่อสร้างระบบสุขภาพที่ดีขึ้นให้คน กทม. ได้” บุ๊คกล่าวถึงลักษณะของผู้ว่า กทม. ที่เขาคาดหวัง และเขามีกำหนดกลับไปใช้ชีวิตที่ กทม. ในยุคของผู้ว่าฯ คนใหม่ในปีนี้
นักวิชาการชี้ ควรอำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้จากทุกที่
สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวกับวีโอเอไทยว่า การให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้อย่างสะดวกควรเป็นหลักการพื้นฐานที่ผู้รับผิดชอบจัดการเลือกตั้งควรคำนึงถึง
“ปัญหาคือตอนนี้มันไม่ใช่แค่คนไทยที่อยู่นอกประเทศ…คนไทยที่อยู่ในประเทศ แต่อยู่นอกเขตพื้นที่ ก็มีปัญหาเดียวกัน การเลือกตั้งระดับชาติเรามีทั้งการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร มีการเลือกตั้งนอกเขต แต่ในระดับท้องถิ่นไม่มีเลย” สติธรกล่าว “ผมคิดว่ามันจำเป็นอยู่ที่ต้องอำนวยความสะดวกให้คนที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามให้ใช้สิทธิได้”
อาจารย์สติธรอธิบายว่า แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้บัญญัติให้มีการเลือกตั้งนอกเขตหรือเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติห้ามจัดการเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าว ดังนั้น ถ้าจะมีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดการเลือกตั้งรูปแบบดังกล่าว ก็จะไม่ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เหตุผลที่ทำให้ยังไม่เกิดขึ้นจึงน่าจะมีส่วนของงบประมาณและการบริหารจัดการ
สติธรกล่าวว่า หลักการการพิจารณาว่าผู้ใดควรมีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยแม้ปัจจุบันจะยึดตามทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิ แต่ผู้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่นอกพื้นที่ที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก็มีการเดินทางเข้าทำงานและอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวเช่นกัน เช่น ผู้ที่อาศัยในเขตปริมณฑลที่เดินทางเข้าและใช้ทรัพยากรใน กทม. ทุกวัน ทำให้เกิดคำถามว่าคนกลุ่มนี้ควรมีสิทธิเลือกตัวแทนในพื้นที่ที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่หรือไม่
“หากใช้หลักการดังกล่าวพิจารณาว่าผู้ใดมีสิทธิเลือกตั้ง ก็ต้องคิดต่อไปว่าจะหาผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างไร เช่น อาจต้องลงทะเบียนก่อนเหมือนที่สหรัฐฯ และควรเลือกได้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง” เขากล่าว
“อย่างไรก็ตาม หากยึดตามหลักนี้ ผู้ที่อยู่นอกราชอาณาจักรก็จะไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้งเนื่องจากใช้ชีวิตอยู่นอกพื้นที่ดังกล่าว”
อาจารย์สติธรทิ้งท้ายว่า หากยึดสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามทะเบียนบ้านเป็นหลักดังเช่นในปัจจุบัน ก็ควรมีการอำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิที่อยู่นอกเขตหรือนอกราชอาณาจักร โดยอาจจัดการการเลือกตั้งออนไลน์เพื่อช่วยควบคุมงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพได้
- รายงานโดยวรรษมน อุจจรินทร์ VOA Thai