นับเป็นเวลาเกือบห้าเดือนแล้วตั้งแต่ที่สภาคองเกรสอนุมัติกฎหมายเงินช่วยเหลือจากผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ผู้ที่มีถิ่นพำนักในสหรัฐฯ ที่เสียภาษีและมีรายได้ไม่เกินปีละ 75,000 ดอลลาร์ โดยมอบเงินก้อนให้คนละ 1,200 ดอลลาร์ ในขณะที่ยังมีการจับตามองว่านักการเมืองพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันจะหาข้อตกลงของกฎหมายเพื่อผ่านเงินช่วยเหลือก้อนที่สองได้เมื่อใด ผู้มีเชื้อสายไทยในสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งก็กำลังรอคอยเงินช่วยเหลือก้อนที่กำลังจะมาถึง ที่พวกเขาบอกว่า“ถึงจะไม่มากนักแต่ก็พอช่วยต่อลมหายใจได้”
“ถ้าเขาสามารถ (ให้เงินตามอัตราค่าครองชีพ) ได้ จะช่วยได้มาก เพราะคนที่แอลเอรับ 1,200 เหรียญ มันน้อยน่ะ ค่าใช้จ่ายของสตูดิโออพาร์ทเมนท์ที่นี่ก็ 1,400-1,500 เหรียญ (ต่อเดือน) เข้าไปแล้ว "
ณัฐชา มอร์โรว์ ชาวไทยในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียวัย 43 ปี กล่าวถึงเงินช่วยเหลือที่ทั้งครอบครัวของเธอเคยได้รับเมื่อเดือนเมษายน ภายใต้กฎหมาย Coronavirus Aid, Relief and Economic Security Act หรือ CARES Act เป็นเงิน 3,400 ดอลลาร์ โดยเธอและสามีได้รับคนละ 1,200 ดอลลาร์ และลูกชายวัย 10 และ 12 ปีได้รับคนละ 500 ดอลลาร์
เงินจำนวน 3,400 ดอลลาร์อาจดูเป็นจำนวนพอสมควร แต่เมื่อเทียบกับค่าเช่าบ้านของครอบครัวเธอในเมืองใหญ่อย่างนครลอสแอนเจลิสเพียงอย่างเดียวที่อยู่ที่เดือนละ 3,500 ดอลลาร์ ก็เห็นได้ชัดว่าเงินจำนวนดังกล่าว “ไม่พอ”
นอกจากนี้ ณัฐชายังมีค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนทางธุรกิจของบริษัททัวร์ที่เธอกับสามีเคยเปิดร่วมกันมากว่าสิบปี และต้องหยุดชะงักลงตั้งแต่เดือนมีนาคมจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยในขณะที่ไม่มีรายได้เข้ามาเพิ่ม แต่บริษัทของเธอยังต้องแบกภาระรายจ่าย เช่น ค่าเช่าที่จอดรถ ค่าเงินประกันรถทัวร์ ที่เธอใช้วิธีคุยกับเจ้าหนี้เผื่อผ่อนผันหนี้ โดยต้องยอมแลกกับดอกเบี้ยที่จะเพิ่มสูง
ธุรกิจของเธอเคยได้รับเงินกู้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อม (U.S Small Business Administration) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือภายใต้กฎหมาย CARES Act เช่นกัน แต่เธออธิบายสถานการณ์ตอนนี้ว่า ตราบใดที่ธุรกิจยังเปิดไม่ได้ หาเงินมาถมเท่าไหร่ ก็เหมือนเอาเงินมาถมทะเล ไม่มีวันพอ
“รายได้ที่เคยได้ตายตัวเดือนละ 15,000 ดอลลาร์ ตอนนี้หายไปเลย....เงินเก็บที่มีก็ใช้หมดแล้วเหมือนกัน” ณัฐชาอธิบายสถานการณ์ทางการเงินของเธอสั้นๆ
จนถึงเดือนที่ผ่านมา ทั้งครอบครัวของณัฐชาอยู่ได้ด้วยเงินช่วยเหลือผู้ตกงานพิเศษสัปดาห์ละ 600 ดอลลาร์อยู่ภายใต้ CARES Act รวมกับเงินช่วยเหลือผู้ตกงานที่ได้สัปดาห์ละ 450 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นเฉพาะส่วนของเธอเท่านั้น ส่วนในส่วนของสามีเธอ มีผู้พยายามเปลี่ยนข้อมูลที่อยู่ของสามีเธอจนทำให้ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือผู้ตกงานพิเศษจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ มอบเงินช่วยเหลือดังกล่าว
เมื่อวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งผู้นำฝ่ายบริหารยืดระยะการให้เงินช่วยเหลือผู้พิเศษแก่ไม่มีงานทำต่อไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564 อย่างไรก็ตาม ภายใต้คำสั่งตัวใหม่ เงินช่วยเหลือพิเศษจะลดลงจาก 600 ดอลลาร์เหลือ 400 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
เนื่องจากเป็นการให้เงินภายใต้ระบบใหม่ ที่ทางรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะอุดหนุนเงิน 300 ดอลลาร์ และทางรัฐบาลของแต่ละรัฐจะออกอีก 100 ดอลลาร์ ซึ่งก็ยังต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการจัดการงบของแต่ละรัฐอีก จึงยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ผู้มีสิทธิ์ถึงจะเริ่มได้รับเงินชุดใหม่นี้
เงิน 400 ดอลลาร์ เป็นจำนวนเงินที่ณัฐชาบอกว่าพอซื้ออาหารสำหรับทั้งครอบครัวเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งระหว่างรอเงินช่วยเหลือผู้ตกงานพิเศษ ณัฐชาก็ทำอาชีพเสริม เช่น เย็บหน้ากากอนามัยขาย ช่วยเปิดบ้านให้ลูกค้าของนายหน้าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รายได้ชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์ ตกสัปดาห์ละ 4-5 ชั่วโมง ส่วนสามีก็รับงานพากย์เสียง ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับรายได้เดิมที่ครอบครัวเธอเคยได้รับ
ครอบครัวของเธออาจได้รับเงินก้อนช่วยเหลือ 3,400 ดอลลาร์อีกครั้ง โดยเงินก้อนนี้อาจอยู่ภายใต้กฎหมาย Health and Economic Recovery Omnibus Emergency Solutions Act (HEROES Act) ที่สภาล่างที่มีสมาชิกพรรคเดโมแครตเป็นส่วนใหญ่อนุมัติมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่ไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาสูงที่มีสมาชิกพรรคริพับลิกันเป็นส่วนใหญ่ โดยทางพรรคริพับลิกันได้เสนอกฎหมายอีกตัวคือ Health, Economic Assistance, Liability Protection and Schools (HEALS Act) เมื่อเดือนที่ผ่านมา และขณะนี้ทั้งสองพรรคก็ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าจะสรุปเคาะกฎหมายเงินช่วยเหลือออกมาอย่างไร
การที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้นี่เอง ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามในคำสั่งพิเศษเพื่อปล่อยเงินส่วนหนึ่งออกไปกระตุ้นเศรษฐกิจก่อน โดยนอกจากเงินพิเศษแก่ผู้ตกงาน 400 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์แล้ว ยังรวมถึงการผ่อนผันระยะเวลาเสียภาษีเงินเดือน การช่วยนักเรียนที่กู้เงินสำหรับการศึกษา และเพิ่มการคุ้มครองผู้เช่าบ้านที่อาจถูกเจ้าของบ้านไล่ออก
ทางด้านกันตพัฒน์ ไวยพันธ์ ผู้จัดการร้านซูชิในเมืองซัลท์ เลค ซิตี้ รัฐยูทาห์วัย 30 ปี ที่ตอนนี้ก็กลายเป็นผู้ว่างงานเพราะร้านยังไม่เปิดกิจการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ก็เป็นอีกคนเช่นกันที่กำลังรอคอยเงินช่วยเหลือก้อนใหม่จากทางรัฐบาลอยู่
กันตพัฒน์อาศัยอยู่กับสามีชาวอเมริกันที่พิการทางสายตากับสุนัขหนึ่งตัว แม้สามีของเธอจะได้รับเบี้ยเลี้ยงผู้พิการรายเดือนทำให้ไม่ต้องใช้เงินเก็บส่วนกลางเพื่อการดูแลเขามากนัก แต่การที่กันตพัฒน์ที่เป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัวคนเดียว และตอนนี้ไม่มีงานทำ เธอก็ยอมรับว่าสถานการณ์การเงินที่บ้าน “ฝืดเคือง”
“ตอนที่ยังได้ 600 (ดอลลาร์) ที่เป็นเอ็กซ์ตร้าที่เขาเพิ่งตัดไปเมื่อเดือนที่แล้ว ก็ได้พอดีกันกับที่เคยได้ แต่พอเงินส่วนนั้นหายไปแล้ว รายได้หายไปประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์” กันตพัฒน์เล่า เธอเป็นอีกคนที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือผู้ตกงานพิเศษ 600 ดอลลาร์ที่หมดรอบให้ไปเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมา
“2,400 ดอลลาร์ที่เคยได้มา เราคุยกับสามีว่า เงินส่วนนี้พอขึ้นเงินเสร็จ เราจ่ายบิลที่เราร่วมกันจ่าย ที่มันค้างๆ อยู่ตอนที่เราไม่ได้ไปทำงาน จ่ายส่วนนั้นไปประมาณ 40% ที่เหลือแบ่งกันคนละครึ่ง” กันตพัฒน์เล่าถึงการจัดการเงินช่วยเหลือครั้งที่แล้วที่เธอและสามีได้คนละ 1,200 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเธอเองกลับได้เป็นเช็คในเดือนมิถุนายน ซึ่งช้ากว่าผู้มีสิทธิ์ส่วนใหญ่ที่ไ้ดรับผ่านการโอนตรงเข้าบัญชีมาตั้งแต่เดือนเมษายน
ในส่วนของผู้ที่ยังคงมีงานประจำทำอย่าง สัมฤทธิ์ ยอดแก้ว ชาวไทยในเมืองเวสต์ ปาล์ม บีช รัฐฟลอริดา อายุ 36 ปี ที่เป็นพนักงานปั้นซูชิเพื่อส่งไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เธอก็ไม่ได้ทำงานที่สองของเธอที่เป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารญี่ปุ่นที่ทำมาสิบกว่าปีมาตั้งแต่เดือนมีนาคม เพราะร้านปิดตัวลงจากการระบาดของไวรัส
ขณะนี้สัมฤทธิ์มีรายได้จากการปั้นซูชิเพียงสัปดาห์ละ 25 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้รายได้ของเธอลดลงไปจากเดือนละ 4,000-5,000 พันดอลลาร์ เป็นได้เพียงเดือนละ 1,000 ดอลลาร์ ซึ่งอาจเป็นรายได้ที่น้อยกว่าเงินช่วยเหลือจากทางรัฐสำหรับผู้ตกงาน แต่เธอเห็นว่าการมีงานทำอย่างไรก็มั่นคงกว่าและไม่ต้องเสี่ยงเมื่อทางรัฐหยุดให้เงินช่วยเหลือพิเศษผู้ตกงานแล้ว
สัมฤทธิ์และคู่ครองชาวอเมริกันที่ยังมีงานทำเช่นกัน ก็ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯคนละ 1,200 ดอลลาร์เช่นกัน โดยตกลงกันว่าต่างคนต่างจัดการเงินส่วนของตัวเองกัน
“เอาจริงมันก็ไม่พอค่ะ เงินจำนวนนั้นใช้ได้แค่หนึ่งเดือน เราต้องดูแลครอบครัวที่ไทยด้วย ถ้าได้มาอีก 1,200 ดอลลาร์ก็จะเอามาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างประหยัดที่สุดค่ะ” สัมฤทธิ์กล่าว พร้อมเสริมว่าเธอ “กังวลมาก” กับการระบาดของไวรัสในฟลอริดาที่พุ่งสูงขึ้น
“ไม่จำเป็นต้องให้เงินช่วยเหลือรอบสอง ให้เงินมากไป คนก็ไม่กลับไปทำงาน” : มุมมองจากนักวิชาการ
ไมเคิล บัสเลอร์ นักวิเคราะห์นโยบายสาธารณะและอาจารย์ด้านการเงิน มหาวิทยาลัยสต็อกตัน กลับเห็นว่า การที่รัฐให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือผู้ตกงานเพิ่มขึ้น 600 ดอลลาร์ จนทำให้ผู้ตกงานราว 68 เปอร์เซ็นต์ได้เงินช่วยเหลือรวมกันมากกว่าเงินที่ได้จากการทำงาน ทำให้ลูกจ้างไม่กลับไปทำงานกันเมื่อนายจ้างเรียกตัวกลับไป และทำให้ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนหนึ่งไปต่อไม่ได้
“เงินช่วยเหลือพิเศษ 400 ดอลลาร์ที่ประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่งอนุมัติ เพียงพอที่จะช่วยจุนเจือผู้ที่ตกงานได้ แต่ก็ไม่พอที่จะอยู่ได้โดยอยู่แต่กับบ้านเฉยๆ” บัสเลอร์กล่าวกับวีโอเอไทยผ่านการสัมภาษณ์ทางอีเมล
“ผมเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะเราต้องหาวิธีจูงใจให้คนไปทำงาน ไม่ใช่จูงใจให้คนอยู่แต่กับบ้าน เศรษฐกิจจะไปต่อได้ ต้องให้คนออกมาทำงานกันให้ได้มากที่สุด”
แม้ชาวไทยในสหรัฐฯ ที่วีโอเอไทยทำการสัมภาษณ์ จะบอกว่าพวกเธอรอคอยเงินช่วยเหลือแก่ผู้เสียภาษีในสหรัฐฯ จำนวน 1,200 ดอลลาร์ระลอกที่สอง แต่บัสเลอร์กลับมองในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ว่า เงินกระตุ้นระลอกสองที่อาจมีมูลค่าสูง 2 ล้านล้านดอลลาร์นี้ “ไม่จำเป็น”
เขาอธิบายว่า ในขณะที่เงินช่วยเหลือระลอกแรกอัดฉีดเม็ดเงินเกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ก็ทำให้งบขาดดุลของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านดอลลาร์เช่นกัน โดยเม็ดเงินดังกล่าวเพิ่มการจ้างงาน 2 ล้าน 8 แสนตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 4 ล้าน 6 แสนตำแหน่งในเดือนมิถุนายน และ 1 ล้าน 8 แสนตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสูงกว่าสถิติจ้างงานสูงสุดที่เคยบันทึกก่อนหน้านี้เมื่อช่วงคริสตศตวรรษที่ 1980 ซึ่งตอนนั้นตัวเลขอยู่ที่ 1 ล้าน 3 แสนตำแหน่งต่อเดือน
แม้ในเดือนมีนาคมและเมษายน ที่หลายรัฐในสหรัฐฯ ทำการปิดเมืองจนประชาชนกว่า 20 ล้านคนตกงาน แต่บัสเลอร์ก็มองว่า อัตราการจ้างงานในช่วงสามเดือนต่อจากนั้นก็เป็นอัตราที่สูง โดยผู้ที่เคยตกงานเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ก็ได้กลับไปทำงานอีกครั้ง
“เนื่องจากมีงบขาดดุลมากแล้ว ทางรัฐบาลไม่จำเป็นต้องให้เงินช่วยเหลือรอบสองอีก” บัสเลอร์กล่าว “อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมมองทางการเมืองแล้ว ก็คงมีการผ่านกฎหมายหรือผ่านคำสั่งผู้นำฝ่ายบริหารอีกครั้ง”
รายงานโดย วรรษมน อุจจรินทร์ VOA Thai