คนไทยในรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทยในประเด็นการขึ้นค่าแรงลูกจ้างร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็น 20 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง สะท้อนความกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง แต่ผลกระทบที่ได้รับอาจจะไม่เท่ากันในแต่ละภาคส่วน
กฎหมาย AB1228 ที่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน ส่งผลให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างสำหรับ “ลูกจ้างร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด” จาก 16 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เป็น 20 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง และให้มีการจัดตั้งองค์กรที่ชื่อสภาฟาสต์ฟู้ด (Fast Food Council) เพื่อสนับสนุนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและจัดทำมาตรการฐานจ้างงานในภาคส่วนนี้ต่อไปในอนาคต
กฎหมายดังกล่าวยังจำกัดอยู่เฉพาะร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีที่นั่งในร้านจำกัดหรือไม่มีที่นั่งเลย และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายร้านฟาสต์ฟู้ดทั่วประเทศที่มีสาขามากกว่า 60 แห่ง
อย่างไรก็ตาม กระแสการขึ้นค่าแรงทำให้เกิดความกังวลและความเห็นที่แตกต่างในหมู่คนไทยที่ประกอบธุรกิจและใช้ชีวิตในแคลิฟอร์เนีย
Your browser doesn’t support HTML5
ภัทรกร เจือสุวรรณ เชฟในร้านฟาสต์ฟู้ด ฟาร์มเมอร์บอย ที่มีสาขาเกือบ 100 แห่งในรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐเนวาดา กล่าวว่า แม้กังวลกับค่าสินค้าที่อาจปรับตัวขึ้น แต่ในมุมของคนทำงานก็คาดหวังว่าจะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน และในส่วนของร้านที่ทำงานอยู่ คงไม่ได้รับผลกระทบอะไรหากต้องปรับราคาอาหารขึ้น
“สำหรับฟาเมอร์บอยน่าจะไม่กระทบ เพราะลูกค้าที่จะเข้าร้านเรา กลุ่มลูกค้าพร้อมที่จะจ่าย เพราะราคาอาหารที่นี่แพง ถ้าเทียบกับร้านอื่นจะต่างกันมาก ก็คงไม่กระเทือน เพราะลูกค้าจะเป็นกลุ่มที่มีเงินที่จะกินของที่ราคานี้ได้ ไม่กระเทือนแน่นอนเพราะลูกค้าเยอะทุกวัน”
“ส่วนตัวพี่คิดว่าเราทำงานแล้วเราต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี เพราะว่าค่าครองชีพที่นี่ก็ปรับตลอดใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราควรมีรายได้เพิ่มทุกปี ที่ตั้งเป้าหมายไว้”
ด้านชลิตา รามสูตร เจ้าของร้านข้าวมันไก่ Heng Heng Chicken Rice ในไทยทาวน์ นครลอสแอนเจลิส ซึ่งไม่เข้าข่ายของการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ กล่าวว่า คงได้เห็นผลกระทบเร็ว ๆ นี้ ในรูปแบบของการปรับราคาสินค้า และกังวลว่ารายได้ของร้านจะลดลงเมื่อผู้บริโภคต้องประหยัดเงินไปใช้กับสินค้าอื่น
“อาจจะเป็นในอนาคตสั้น ๆ นี้แหละ ของอาจจะแพงขึ้นและผู้บริโภคก็จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น มันก็จะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อกันมา อย่างราคาสินค้าที่เราซื้อใช้ในร้าน อาจจะขึ้นราคา นั่นจะกระทบกับร้านเราโดยตรง”
ทั้งนี้ เจ้าของร้านข้าวมันไก่ในลอสแอนเจลิสกล่าวว่า กำลังซื้อในหมู่คนไทยไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง เพราะคนไทยเป็นกลุ่มที่เลือกกินเลือกใช้ของที่ดีและคุ้มค่า และคงยอมจ่ายหากมีการปรับราคา
ด้านนภัสวรรณ มาลยเวช คนไทยในลอสแอนเจลิส อดีตเจ้าของร้านนวด กล่าวว่าเริ่มรับรู้ถึงผลกระทบของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และมองว่าค่าแรงที่ปรับขึ้นนั้น คือความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะต้องหารายได้ให้มากขึ้นเพื่อให้อยู่รอด
“ในมุมผู้บริโภคก็กังวลค่ะ ราคาค่าอาหาร ค่าของ มันก็จะขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างล่าสุดก็เจอมากับตัว พอดีที่บ้านกำลังสร้างบ้านด้วย ปกติค่าแรงกับค่าของมันจะต่างกันไม่เยอะ แต่ตอนนี้ค่าแรงมันไปสูงมากกว่าค่าของเกือบเท่าตัว”
“ค่าแรงรอบนี้ขึ้นสูงไปและขึ้นติดไป มันเพิ่งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง มันเร็วไปไหมกับเศรษฐกิจตอนนี้ ทุกอย่างเราจะปรับตัวกันทันไหม” นภัสวรรณกล่าว
ชายฝั่งตะวันตก รวมถึงรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นพื้นที่ที่มีประชาชนชาวไทยอาศัยอยู่มากที่สุดในสหรัฐฯ สืบเนื่องจากถ้อยแถลงของต่อ ศรลัมพ์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021
ข้อมูลจากศูนย์วิจัย Pew Research ระบุว่ามีชาวไทยอาศัยในนครลอสแอนเจลิสราว 33,000 คน ส่วนองค์กรศูนย์การพัฒนาชุมชนไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่ลอสแอนเจลิส ระบุว่ามีชาวไทยอยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย (SoCal) ถึงราว 100,000 คน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐแคลิฟอร์เนียเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากระดับ 8 ดอลลาร์/ชม. เป็น 16 ดอลลาร์/ชม. ท่ามกลางความกังวลว่า ผลลัพธ์ของนโยบายนี้จะนำไปสู่การเลิกจ้าง เพราะนายจ้างไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าแรงได้
อย่างไรก็ตาม ไมเคิล รีช ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คเลย์ (University of California-Berkeley) กล่าวกับเอพีว่า แท้ที่จริงแล้วการจ้างงานกลับเพิ่มขึ้น และที่ผ่านมาหลายเมืองใหญ่ในแคลิฟอร์เนียก็กำหนดค่าแรงสูงกว่าอัตราขั้นต่ำแล้ว ดังนั้นการขึ้นค่าแรงครั้งล่าสุดอาจไม่มีผลกระทบมากนัก
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก: ฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย, FarmerBoys, สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส