ประสบการณ์คนไทยในเยอรมนี-โปแลนด์ ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสงครามยูเครน

Sapsuda Angsunisanat (right), a Thai graduate student living near Hamburg, Germany, takes care of Ukrainian refugees picked up by her and her German husband Kai Lunstaden (center). They are hosted by a Thai housewife Patsunee Kubiak (left) and her husband Patryk Kubiak.

ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ระบุว่า มีผู้ลี้ภัยจากสงครามในยูเครนไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้วกว่า 3 ล้านคน วีโอเอไทยได้พูดคุยกับคนไทยในเยอรมนีและโปแลนด์ที่มีโอกาสช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกผู้ลี้ภัยชาวยูเครน ท่ามกลางความท้าทายของสถานการณ์ที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและการรับมือของ “อาสาสมัครมือใหม่” ชาวไทยเหล่านี้


“เราไม่ได้คิดว่าเราต้องเป็นคนเยอรมันถึงจะช่วยได้ เรารู้สึกว่าเราเป็น world citizen ควรช่วยกันอยู่แล้ว”

ทรัพย์สุดา อังศุนิศานาถ นักศึกษาไทยระดับชั้นปริญญาโทคณะครุศาสตร์ ผู้อาศัยอยู่กับไค ลึนสเตเดน สามีชาวเยอรมันใกล้กับเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนีมาแล้วห้าปี เปิดเผยกับวีโอเอไทยถึงเหตุผลที่เธอและสามีตัดสินใจเข้าร่วมภารกิจช่วยเหลือ ทั้งการขับรถไปส่งชาวเยอรมันที่สลัดคราบเอ็นเตอร์เทนเนอร์ของตนไปอาสาร่วมรบในสงครามยูเครนที่โปแลนด์ และรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนมาจากโปแลนด์ในขากลับเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

“เราคิดว่าเราทำด้วยใจ ตอนแรกคิดว่าเป็นทุนของตัวเอง ขับรถ 3,000 กิโลเมตรไป-กลับ คำนวณค่าน้ำมันน่าจะประมาณ 4-500 ยูโร เราพอมีทุนของตัวเองอยู่แล้ว แต่มีเพื่อนๆ คนไทยที่อยู่เมืองไทย ก็ช่วยสมทบทุนค่าน้ำมันมาเหมือนกัน เพื่อนที่เยอรมนี เพื่อนที่สหรัฐฯ พอรู้ก็ช่วยสมทบทุน ทริปนี้เราได้เงินเยอะกว่าที่เราต้องจ่าย เราก็จะเอาไปบริจาคต่อ”

ทรัพย์สุดาเล่าว่า ด้วยระบบการจ้างงานของเยอรมนีที่ให้วันหยุดแก่ลูกจ้างค่อนข้างมาก และสามารถขอลาล่วงหน้ากับนายจ้างได้ภายในหนึ่งวัน ทำให้เธอและสามีสามารถจัดสรรเวลาเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้

Sapsuda Angsunisanat (right), a Thai graduate student living near Hamburg, Germany, is in a car with Ukrainian refugees she picks up from earlier.

เนื่องด้วยภารกิจช่วยเหลือผู้อพยพครั้งนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงมีความท้าทายในขั้นตอนการช่วยเหลือ เช่น มุมมองของชาวเยอรมันบางส่วนที่มองว่าโปแลนด์อาจยังไม่พัฒนามากเท่าเยอรมนี ทำให้พวกเขากังวลถึงความปลอดภัยในการเดินทางโปแลนด์เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และตัวของทรัพย์สุดาเองที่ได้รับคำเตือนมาว่าเธออาจพบการเหยียดเชื้อชาติในประเทศยุโรปตะวันออก เนื่องจากเธอเป็นคนเอเชีย

อีกประเด็นที่ “อาสาสมัครมือใหม่” เช่นทรัพย์สุดาและหลายๆ คนเผชิญ คือ การสื่อสารกับผู้ลี้ภัยที่เพิ่งได้รับผลกระทบทางจิตใจจากสงครามในยูเครน และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อผู้ลี้ภัย เนื่องจากมีกลุ่มที่หาผลประโยชน์แฝงจากสถานการณ์นี้ เช่น มีผู้เรียกค่าไถ่จากครอบครัวผู้ลี้ภัยเพื่อให้นำผู้ลี้ภัยไปส่งถึงบ้านอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของภาษาที่ตัวของทรัพย์สุดาสามารถใช้ภาษาอังกฤษและเยอรมัน แต่ไม่สามารถใช้ภาษาโปลิชและยูเครนได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความท้าทาย แต่เธอก็ยืนยันว่า “โอเคมันอาจจะลำบาก เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะเริ่มจากตรงไหน แต่ภาพรวมการช่วยเหลือผู้อพยพมันง่าย”

เธอระบุว่า นอกจากเธอจะได้รับมิตรไมตรีที่ดีจากชาวโปแลนด์แล้ว เธอก็สามารถแก้ปัญหาในเรื่องของกำแพงภาษา เช่น ขอให้ชาวยูเครนช่วยแปลคำที่จำเป็นต้องใช้ การถือป้ายประกาศว่าจะรับคนกลับมา และการใช้โปรแกรมกูเกิ้ล ทรานสเลท ในการแปลคำพื้นฐาน หรือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เช่น ติดต่อไปยังญาติของผู้ลี้ภัย แบ่งปันตำแหน่งที่อยู่ของตนให้ญาติผู้ลี้ภัยรับทราบ และพูดคุยเพื่อให้ไว้ใจว่า เธอและครอบครัวต้องการช่วยเหลืออย่างแท้จริงและไม่ได้ต้องการเรียกร้องสิ่งใด

Sapsuda Angsunisanat, a Thai graduate student living near Hamburg, Germany, holds a banner "We are taking refugees back to Germany" written in Ukrainian at refugee center in Przemysl, Poland.

และแม้ทรัพย์สุดาจะไม่เคยรับมือกับผู้ลี้ภัยที่ผ่านสงครามมาก่อน แต่เธอก็หาวิธีให้กำลังใจพวกเขาเท่าที่จะทำได้ เช่น ทำเค้กวันเกิดให้ “อันนา” คุณแม่ชาวยูเครน ที่ลี้ภัยมาพร้อมคุณยายและลูกชายสองคนจากเมืองโบยอร์กาในยูเครน เนื่องจากอันนาไม่ได้ฉลองวันเกิดของเธอที่ตรงกับวันที่ 10 มีนาคมเนื่องจากสงครามในยูเครน โดยทรัพย์สุดาระบุว่า “เป็นเค้กที่ไม่ได้ใส่น้ำมันพืช เพราะหาซื้อไม่ได้ เนื่องจากผู้คนกักตุนน้ำมันและแป้งกันแล้ว”

ในส่วนของการรับมือของรัฐบาลเยอรมนีต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้นั้น แม้สถานการณ์จะเป็นไปอย่าง “ฉุกละหุกและไม่มีใครคาดคิด” แต่ทรัพย์สุดาค่อนข้างเชื่อมั่นในประสบการณ์ของรัฐบาล

ทรัพย์สุดาเล่าว่า ทางการเยอรมนีได้ลดขั้นตอนของระบบราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้อย่างทันท่วงที เช่น การผ่อนผันการลงทะเบียนรับสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนโดยเฉพาะ รวมถึงมีการรับสมัครครูเพิ่มตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อจัดสอนชั้นเรียนต้อนรับ (welcoming class) เพื่อรับเด็กนักเรียนชาวยูเครนเข้ามาในระบบให้ได้รวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เธอเห็นว่า หากอาสาสมัครหน้าใหม่อย่างเธอได้รับคู่มือหรือการอบรมเพื่อปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ก็จะดียิ่งขึ้น ซึ่งภารกิจการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในด่านหน้าครั้งนี้ เธอเห็นว่าเป็นการจัดการกันเองระหว่างองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและโบสถ์ต่างๆ มากกว่าจะเห็นเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่

ทั้งนี้ รอยเตอร์รายงานข้อมูลจากกระทรวงกิจการภายในของเยอรมนีเมื่อวันศุกร์ระบุว่า มีผู้ลี้ภัยชาวยูเครนลงทะเบียนแล้วกว่า 109,000 คน และชาวเยอรมันได้เสนอให้ชาวยูเครนเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักส่วนตัวแล้วถึง 300,000 หลังคาเรือน

ภายใต้มาตรการฉุกเฉินของสหภาพยุโรป หรือ อียู ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนได้รับอนุญาตให้ทำงาน ส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียน รับที่อยู่อาศัยและสวัสดิการสังคมได้จากประเทศสมาชิกอียู เช่น เยอรมนีและโปแลนด์ ได้ทันที

แม้ภาพรวมของชาวเยอรมันจะไม่ตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์คลื่นผู้อพยพ แต่ทรัพย์สุดายอมรับว่า ชาวเยอรมันที่เธอได้พูดคุยด้วยรู้สึกกลัว เนื่องจากเยอรมนีเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ผ่านสงครามมามาก และในขณะเดียวกัน ชาวเยอรมันก็ยินดีรับผู้อพยพชาวยูเครน ที่มีค่านิยม วัฒนธรรม และความเป็นประชาธิปไตยคล้ายกับชาวเยอรมัน “เท่าที่เห็นคนเยอรมันค่อนข้างอ้าแขนรับ (ผู้ลี้ภัยชาวยูเครน) มากกว่าทางมุสลิม เพราะมีค่านิยมที่เหมือนกัน”

Your browser doesn’t support HTML5

เปิดใจ คนไทยใน 'เยอรมนี-โปแลนด์' ช่วยผู้ลี้ภัยจากสงครามยูเครน

คนไทยในเยอรมนี-โปแลนด์ ร่วมใจช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครน

สำหรับภารกิจช่วยเหลือผู้ลี้ภัยครั้งนี้นั้น ทรัพย์สุดาได้พบกับพัดสุณีย์ คูเบียค คนไทยที่อาศัยในเมืองโคโลเนีย วอร์ซอสกะ (Kolonia Warszawska) ห่างจากกรุงวอร์ซอราว 25 กิโลเมตร ผ่านทางกลุ่มเฟซบุ๊กของคนไทยในโปแลนด์ ในช่วงกลางดึก โดยพัดสุณีย์อาศัยที่โปแลนด์มากว่าเจ็ดปีกับสามี แพทริค คูเบียค และลูกๆ ของเธอ

พัดสุณีย์และสามีเสนอให้ทรัพย์สุดานำผู้ลี้ภัยชาวยูเครนมาพักที่บ้านของเธอหนึ่งคืนหลังจากที่ไค สามีของทรัพย์สุดาขับรถมาแล้ว 1,700 กิโลเมตรในช่วงสองวันก่อนหน้านั้น และไม่สามารถหาโรงแรมพักในกรุงวอร์ซอได้หลังเดินทางออกจากศูนย์ผู้ลี้ภัยในเมืองแชมึสซึ (Przemysl) ของโปแลนด์

Patsunee Kubiak (second from right), a Thai housewife and her Polish husband Patryk Kubiak (left) host a Ukrainian family in the Kubiaks' house in Kolonia Warszawska, Poland

“เราเห็นข่าวตามสื่อต่างๆ เห็นภาพที่ผู้หญิง คนแก่ เด็ก ต้องอพยพ รู้สึกสงสารเขา เขามาโดยไม่รู้ว่าจะไปอยู่ไหน เราเห็นอย่างนั้นแล้วเรานึกถึงว่าเรามีลูกสองคน ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้เราจะรู้สึกแย่มาก เลยมาคุยกับแฟนว่า เราจะช่วยเค้าได้มากกว่าการบริจาคเงินหรือสิ่งของรึเปล่า โดยการที่เราให้ที่อยู่เขา” พัดสุณีย์กล่าวกับวีโอเอไทย พร้อมเสริมว่า เธอและสามีเลือกใช้งบส่วนตัวทั้งหมดในการดูแลผู้ลี้ภัย

แพทริคได้แจ้งความจำนงต้องการอุปถัมภ์ครอบครัวผู้ลี้ภัยผ่านทางเครือข่ายของบริษัทที่เขาทำงานอยู่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นการรวมตัวของพนักงานเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครน โดยทางบริษัทได้สนับสนุนให้พนักงานสามารถลาได้เพิ่มเติมเพื่อให้ดูแลผู้อพยพได้โดยเฉพาะ

พัดสุณีย์และแพทริคเลือกรับอุปภัมภ์ครอบครัวที่ประกอบด้วยแม่หนึ่งคน และลูกห้าคน โดยสำหรับในกรณีของเธอนั้น มีผู้ประสานงานโทรศัพท์หาแพทริคโดยตรงจากโพสของเขาในสื่อสังคมออนไลน์ที่ประกาศว่า เขาต้องการดูแลผู้อพยพ

สามีภรรยาคู่นี้ตกลงช่วยเหลือผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ในระยะสั้น เนื่องจากพัดสุณีย์มีแผนเดินทางกลับไทยในช่วงปลายเดือนนี้ ทั้งคู่จึงหาที่อยู่ระยะยาวให้ครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวยูเครน รวมถึงหางานในโรงแรมให้แม่ชาวยูเครนและให้เด็กๆ ชาวยูเครนทั้งห้าคนได้ไปโรงเรียน

Patryk Kubiak (center), a Polish who rescues a Ukrainian family, works on a software for refugee children to play drawing lots at his house in Kolonia Warszawska, Poland.

และเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา เธอและสามีก็ตัดสินใจรับดูแลผู้ลี้ภัยอีกกลุ่ม ประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูกสามคน โดยมีการพูดคุยถึงเงื่อนไขก่อนรับว่าจะเป็นการช่วยดูแลระยะสั้น และขณะนี้สามารถช่วยหาโรงเรียนให้ลูกทั้งสามคนได้แล้ว และแพทริคได้พาพวกเขาไปรับของบริจาคที่จำเป็น

“อย่างเคสนี้ ก็คุยว่าเขาว่าจะมาอยู่กับเราได้สองอาทิตย์ แล้วหลังจากนี้ก็หาที่อยู่ให้เค้าในช่วงหนึ่งเดือน แล้วช่วงหนึ่งเดือนนี้ ถ้าเขาต้องการความช่วยเหลือ เราจะสนับสนุนเขาทุกอย่าง เหมือนกรณีที่เราส่งเขาไปที่โรงแรม”

สำหรับบรรยากาศในโปแลนด์นั้น พัดสุณีย์ให้คำจำกัดความคล้ายกับทรัพย์สุดาว่า “ทุกอย่างยังเป็นปกติ แต่คนก็ช็อค เพราะเป็นเรื่องเกินความคาดหมาย” และผู้คนต้องติดตามสถานการณ์แบบวันต่อวัน รวมถึงชุมชนคนไทยในโปแลนด์ที่ติดตามข่าวสารและรับทราบถึงภารกิจช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของเธอ และแสดงความต้องการช่วยเหลือสนับสนุน เช่น นำอาหารเข้ามาช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

​UNHCR อ้างอิงข้อมูลจากทางการโปแลนด์เมื่อวันอังคาร ที่ระบุว่า มีผู้ลี้ภัยชาวยูเครนเข้ามายังโปแลนด์ ซึ่งมีชายแดนติดกับทางตะวันตกของยูเครน แล้วกว่า 1.8 ล้านคน โดยเข้ามายังกรุงวอร์ซอแล้วราว 300,000 คน

Patsunee Kubiak (center), a Thai housewife and her Polish husband Patryk Kubiak (second from right) bring a Ukrainian family, consisting of parents and their three children, to Warsaw Old Town in Warsaw, Poland

  • รายงานโดยผู้สื่อข่าววีโอเอไทย วรรษมน อุจจรินทร์