Your browser doesn’t support HTML5
ความนิยมของ “คลับเฮาส์” แอพลิเคชันสื่อสารด้วยเสียง เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน คลับเฮาส์ ไม่เพียงแต่จะเป็นห้องสนทนาสดสำหรับทุกหัวข้อ แต่ยังเป็นพื้นที่ที่กลุ่มคนหนุ่มสาวใช้เคลื่อนไหวทางการเมืองและสนับสนุนกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยอีกด้วย
เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการจัดคอนเสิร์ตมาราธอนเพื่อระดมเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกเอาผิดจากฝ่ายรัฐ ซึ่งความพิเศษ คือเป็นการแสดงดนตรีที่ถ่ายทอดสดเฉพาะเสียง ผ่าน “คลับเฮ้าส์” แอปพลิเคชันที่กำลังได้รับความนิยมในไทยและหลายประเทศทั่วโลก
คอนเสิร์ต “ม็อบเอด” (M.O.B. Aid) ซึ่งมีศิลปินมาร่วมร้องเพลงเป็นเวลายาวนานถึง 18 ชั่วโมง ระดมทุนได้เกิน 1,120,000 บาท ตามที่กลุ่มผู้จัดตั้งใจไว้ ซึ่งกลุ่มที่ว่านี้ คือคนหนุ่มสาวที่รวมตัวกันภายใต้ชื่อ “กลุ่มพลังคลับ” ที่ใช้แอปคลับเฮาส์เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเพื่อส่งเสริมเสรีภาพและประชาธิปไตย
“สุดท้ายที่หลาย ๆ คนชอบพูดกันว่า เฮ้ย อะไรที่มันมาจากโซเชียลมันแค่เป็นการบ่นแค่นั้นแหละ มันเป็นตัวหนังสืออยู่ในโซเชียล เป็นการคุยกันอยู่แค่นั้น มันไม่ใช่แค่เป็นอะไรที่อยู่ในโซเชียลแล้วนะ จากออนไลน์มันกลายมาเป็น movement (การเคลื่อนไหว) ที่มันออฟไลน์เป็น movement ที่มีผลกระทบกับสังคมหรือว่าทำเพื่อสังคมได้แล้วนะ”
รักชนก ศรีนอก หรือ ไอซ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มพลังคลับ เริ่มต้นใช้คลับเฮาส์เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องหนังสือ ก่อนที่ความสนใจเรื่องการเมืองที่มีอยู่ก่อนแล้ว จะทำให้เธอได้ค้นพบศักยภาพของแอปแรงแห่งปี
“ก่อนหน้านี้ เราก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ที่บ่น หรือด่าลงเฟสบุ๊กกับทวิตเตอร์ แล้วก็จะมีเข้าร่วมการชุมนุมบ้าง หรือไปม็อบ ถ้าครั้งไหนที่เราว่างก็จะไปตลอด ส่วนใหญ่ก็คือว่างก็คือไป พอมีคลับเฮาส์เราก็ได้มีพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกับหลาย ๆ คนมากขึ้น เพราะจริง ๆ แล้วในแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่างเฟสบุ๊กหรือทวิตเตอร์ พอโพสท์ไปแล้วต้องรอ engagement ต้องรอคนเห็น แต่ว่า คลับเฮาส์คือพอทุกคนอยู่ห้องเดียวกัน เราสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนได้เหมือนเราอยู่ในวงเหล้า แล้วก็วงเหล้าของเราก็ไม่ได้มีแค่ 10-20 คนที่คุยกันอยู่ มันมีผู้ฟังอีกหลายร้อย หรือหลายพัน ที่อาจจะนั่งฟังเราอยู่ในห้อง มันก็เหมือนกึ่ง ๆ วงเหล้า กึ่ง ๆ ปราศรัยด้วย”
Your browser doesn’t support HTML5
“ถ้าไม่เข้ามา มันจะพลาด”
คลับเฮาส์ สร้างปรากฎการณ์ใหม่ด้วยการเป็นแอปพลิเคชันที่ให้ผู้ใช้ได้พูดคุยกันด้วยเสียงกันสด ๆ ไม่มีการฟังย้อนหลัง ในไทยและในหลายประเทศ คลับเฮาส์ได้กลายเป็นพื้นที่พูดคุยประเด็นที่อ่อนไหว ล่อแหลม ที่บางครั้งจุดประกายทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์
ความนิยมของคลับเฮาส์ในไทยพุ่งสูงขึ้น หลังจากบุคคลระดับแม่เหล็ก อย่าง อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เปิดห้องสนทนาสดเรื่องการเมือง หรือ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการไทยแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ชวนพูดคุยเรื่องสถาบัน ดึงดูดคนฟังครั้งละหลายหมื่นหลายพันคน รวมไปถึงอาทิตยา บุญยรัตน์ สมาชิกอีกคนหนึ่งของกลุ่มพลังคลับ
“คนก็ตื่นเต้น ฉันอยากจะเข้ามา ถ้าฉันไม่เข้ามา มันจะพลาด เพราะมันไม่สามารถดูย้อนหลังได้ตามกฎของคลับเฮาส์ แล้วเราจะรู้สึกตกขบวนไป มันก็เลยทำให้ทุกคนอยากจะเข้ามาใช้งาน อยากอยู่กับมันนาน ๆ"
อาทิตยา หนึ่งใน moderator หรือพิธีกรที่งานชุกคนหนึ่งในห้องสนทนาบนคลับเฮาส์มองว่าแอปที่ยังเปิดให้ใช้ได้เฉพาะผู้ใช้ไอโฟนหรือไอแพด เข้ามาเติมเต็มความต้องการพื้นที่สำหรับพูดคุยถกเถียงทางการเมืองอย่างเสรี
“จุดประสงค์เขาไม่ได้ทำมาเพื่อการเมืองแน่นอน แต่มันมาอยู่ในเมืองไทย เมืองไทยมันไม่มีบรรยากาศการพูดคุยแลกเปลี่ยนแบบนี้...เราโหยหาพื้นที่กลางในการพูดคุยแลกเปลี่ยนมาก ๆ พอมันมีคลับเฮาส์ขึ้นมาเรารู้สึกว่ามันตอบโจทย์ เราก็เลยสนุกกับการใช้งานคลับเฮาส์"
ดร. สุรัชนี ศรีใย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า บทบาทของคลับเฮาส์ในแง่พื้นที่การเมืองยิ่งเด่นชัดมากขึ้น เมื่อพิจารณาบริบทของการเมืองในประเทศ
“การที่คลับเฮาส์มีบทบาทในการสร้าง awareness (ความตระหนักรู้) หรือในบางทีมีการ mobilize (เคลื่อนไหว) เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากที่การลงถนนเสี่ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะรัฐใช้ความรุนแรง หรือเริ่มจัดการกับผู้ประท้วงหรือผู้ชุมนุมเคร่งครัดขึ้น เลยต้องมีการย้าย หรือ mobilize พูดคุยกันกลับไปบนโลกออนไลน์อีกครั้งหนึ่ง”
คลับเฮาส์ทำให้เราเจอกัน
ก่อนที่มาจะเป็นกลุ่มพลังคลับ รักชนก บัณฑิตรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วัย 27 ปี ที่ปัจจุบันขายของออนไลน์ ไม่ได้รู้จักกับอาทิตยา หรือต่าย และสมาชิกคนอื่น ๆ มาก่อน
แต่ความสนใจในหนังสือ ภาพยนตร์ และสังคม เป็นจุดเริ่มต้น ที่นำไปสู่การตั้งห้องสนทนาหลายครั้งเป็นการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือเพื่อติดตามการชุมนุมและการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ และถกประเด็นร้อนอื่น ๆ เช่น “ตั๋วช้าง” หรือ ความล่าช้าของวัคซีนต้านโควิด-19
“ทุกคนจะค่อย ๆ มา มาประมาณว่าเราทำอันนี้ได้นะ ให้เราช่วยมั้ย เราเป็น moderator ห้องนี้ให้ได้นะ หรือว่าเราพูดประเด็นนี้ต่อให้ได้นะ” รักชนก หรือไอซ์ กล่าว
“แล้วหลังจากนั้นทุกคนก็แบบ มาคุยกันหลังไมค์มั้ย แล้วพอมาคุยกันหลังไมค์ พวกเราก็แบบ ปะ ไปนัดเจอกัน ไปกินข้าวกัน ไปดื่มกัน สุดท้ายก็เลยกลายมาเป็นเพื่อนกันในโลกชีวิตจริง"
ก่อนหน้านี้ รักชนก และสมาชิกกลุ่มพลังคลับ เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร เขียนจดหมายแสดงความกังวลว่ามีการคุกคามผู้ต้องหาในเรือนจำ
"ตอนนั้นพวกเรามาเปิดห้องแล้วคุยกัน ทำยังไงดี เพราะมันรู้สึกเหมือนว่าถ้าพวกเราไม่ทำอะไร คนในนั้นต้องลำบากแน่ ๆ จนทุกคนบอกว่า เฮ้ย ไปยื่นหนังสือกันมั้ย พอมีคนปลุกประเด็นขึ้นมาว่าจะไปยื่นหนังสือนะ ก็มีคนบอกว่าเรารู้จักสื่อนะ เรารู้จักคนโน้นคนนี้นะ เรารู้วิธีว่าจะไปยื่นยังไงนะ เรารู้วิธีร่างหนังสือนะ สุดท้ายมันก็ออกมาเป็น movement ที่ออกมาจากคลับเฮาส์ เป็นการยื่นหนังสือ แล้วมันไม่ได้มีแค่เราไปยื่นคนเดียวในวันนั้น มันมีอีกกลุ่มหนึ่งเหมือนกันที่เขาก็ไปยื่นอีก กมธ. หนึ่ง"
ด้าน อาทิตยา หรือต่าย ฟรีแลนซ์และผู้จัดรายการพอดแคสท์ HER Interview มองว่า คลับเฮาส์ ยังเปิดโอกาสให้เธอได้สื่อสารโดยตรงกับนักการเมือง ซึ่งบางครั้งนำไปสู่ปฏิบัติการเฉพาะกิจ เช่น การขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้ตำแหน่งยื่นประกันผู้ชุมนุมที่ถูกตำรวจจับกุมตัว เป็นต้น
"พวกเราก็ assign (มอบหมาย) งานเขาเลย ตอนนี้ได้รับข้อมูลมาว่ามีผู้ชุมนุมโดนตำรวจจับไปที่ สน. นี้ คุณจะสามารถไปช่วยได้ไหม เขาก็โอเค ได้ พวกเราก็ assign ไปเลยว่า ไปถึงแล้ว ถ่ายรูปมาให้ดูด้วยนะ ลงทวิตเตอร์ด้วยพวกเราจะไปฟอลโลว์ คือพวกเราก็ให้แสงเขาด้วย พวกเราก็บอกว่านะว่า ทุกคน ไปตาม ส.ส.คนนี้นะ เขากำลังทำหน้าที่แทนประชาชน ก็ไปกดฟอลโลว์เขา ทั้งในคลับเฮาส์และในทวิตเตอร์เขาด้วย ไปรีทวีตเพื่อเป็นการขอบคุณ อวยยศ เราจะใช้คำว่าอวยยศตลอด"
"นี่แหละคือการให้แสง การใช้แสง เป็นการสร้างแนวร่วม เราไม่สนับสนุนการด่า ไม่ชอบด่า แต่เราชอบชื่นชม ชอบให้กำลังใจคน"
พลังคลับ ขับพลังเคลื่อน?
รักชนกและอาทิตยา มองว่าหากใช้อย่างสร้างสรรค์ คลับเฮาส์เป็นเวทีการต่อสู้ทางความคิดและแลกเปลี่ยนชุดข้อมูล ถึงแม้ว่าอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนสังคมหรือเปลี่ยนใจคนได้ในชั่วข้ามคืนก็ตาม
“เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราต่อสู้กันอยู่ตอนนี้ คือการดึง คือการให้คนเห็นด้วยกับฝั่งคุณ จนมันเยอะมากพอที่จะมันกลายเป็นมติของประเทศนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เราก็ไม่มีอำนาจอะไรไปต่อรองกับอำนาจรัฐได้เลย เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่อยู่ฝั่งประชาชน อยู่ฝั่งประชาธิปไตยเลยตอนนี้ นอกจากรวบรวมคนให้ได้มากพอ เราจึงต้องทำงานทางความคิด” รักชนกกล่าว
ที่ผ่านมาคลับเฮาส์ ถูกวิจารณ์ว่ามีกับดักไม่ต่างจากโซเชียลมีเดียอื่น ๆ นั่นคือความเสี่ยงที่จะเป็น echo chamber หรือห้องแห่งเสียงสะท้อนของคนที่คิดเห็นไปในทางเดียวกัน ซึ่ง อาจารย์ ดร. สุรัชนี ศรีใย มองว่าห้องการเมืองในคลับเฮาส์ยังเป็นเสียงของฝั่งที่เรียกตัวเองว่าฝั่งซ้ายเสียเป็นส่วนใหญ่
"คนเลือกที่จะฟังหรือรับข้อมูลที่มันตรงใจ ต่อให้เขาฟังข้อมูลฝั่งตรงข้าม หรือ fits กับ preexisiting beliefs (ความเชื่อที่มีอยู่เดิม) อยู่แล้ว ต่อให้เขาฟังข้อมูลฝั่งตรงข้าม เขาจะรู้สึกไม่ค่อย convinced (โน้มน้าว) เพราะมันขัดกับความคิดพื้นฐาน...สิ่งที่สำคัญคือผู้ใช้เองจะต้อง aware (รู้ตัว) ว่าตัวเองกำลังอยู่ใน echo chamber นะ มี potential ที่อยู่ใน filter bubble (ฟองสบู่ตัวกรอง) นะ จะจัดการตัวเองยังไง"
เป็นที่น่าจับตาดูว่า คลับเฮาส์จะมีบทบาทอย่างไรต่อไปในภูมิศาสตร์การเมืองไทย แต่รักชนกบอกได้ว่า ทุกวันนี้เธอไม่ต้องเป็นตัวหลักเปิดห้องสนทนาการเมืองอีกต่อไป เพราะผู้ใช้คลับเฮาส์ต่างพากันเปิดห้องวิพากษ์การเมือง จนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว