องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (RSF) เผยแพร่ดัชนีเสรีภาพสื่อโลก ประจำปี 2024 ประเทศไทยดีขึ้น 19 อันดับจากพัฒนาการหลายด้านในปี 2023 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอันดับลดลงจากการปิดสื่อและคุมขังนักข่าว ด้านเมียนมาร์ จีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม รั้งท้ายตารางจากการคุมและขังสื่ออย่างหนัก
RSF หรือ Reporters Without Borders เผยแพร่รายงานฉบับนี้ในวันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเสรีภาพสื่อโลก โดยกระทำเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปี 2002 เพื่อฉายภาพของสถานการณ์เสรีภาพและความปลอดภัยของสื่อมวลชนในประเทศและดินแดนรวม 180 แห่ง
ในปีนี้ นอร์เวย์ ถูกจัดอันดับเป็นที่ 1 เนื่องจากมีกฎหมายที่ประกันเสรีภาพสื่อที่มีประสิทธิภาพ มีอุตสาหกรรมสื่อที่เข้มแข็ง หลากหลาย และเสรี ตามมาด้วยประเทศเดนมาร์กและสวีเดน
ประเทศไทยถูกปรับขึ้น 19 ลำดับ จากเดิมที่อยู่ที่อันดับ 106 ในปีที่แล้ว ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 87 ด้วยเหตุผลว่ามีพัฒนาการด้านการเมือง สังคม และความปลอดภัยของสื่อมวลชนมากขึ้น แต่การทำงานข่าวยังมีความเสี่ยงจากการถูกฟ้องด้วยกฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีโทษจำคุก 3-15 ปี
บรรยากาศเสรีภาพสื่อไทยตามดัชนีของปีนี้ อยู่ใกล้เคียงกับกาตาร์ (84) บูร์กินาฟาโซ (86) และกรีซ (88) ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อยู่อันดับที่ 107 จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 73 เมื่อปีที่แล้ว ส่วนสหรัฐฯ อยู่ที่อันดับ 55 ย่ำแย่กว่าปีที่แล้ว 10 ลำดับ เนื่องจากเหตุบุกค้นและปิดสื่อท้องถิ่น รวมถึงเสียงเรียกร้องจากนักการเมืองให้ขังนักข่าว
หลายประเทศในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก อยู่ในอันดับที่ต่ำรั้งท้ายเนื่องจากการทำร้าย จับกุมคุมขัง รวมถึงปิดสื่อ ในบริบทของรัฐที่ต้องการควบคุมการนำเสนอข่าวสาร ยกตัวอย่างเช่นกัมพูชา (อันดับ 154) เมียนมาร์ (171) จีน (172) เวียดนาม (174) เกาหลีเหนือ (177) และอัฟกานิสถาน (178) ส่วนตำแหน่งสุดท้ายที่ 180 คือรัฐเอริเทรีย ในทวีปแอฟริกา
ในภูมิภาคตะวันออกกลาง สงครามในกาซ่า ทำให้ปาเลสไตน์อยู่ในอันดับที่ 157 นอกจากนั้นการคุมสื่อในประเทศระบอบราชาธิปไตยและเผด็จการ ทำให้ภาพรวมของพื้นที่มีระดับเสรีภาพต่ำระดับ “รุนแรงมาก” โดยกาตาร์ ที่มีสื่อของรัฐอย่างอัลจาซีรา เป็นประเทศมีเสรีภาพสื่อดีที่สุดในภูมิภาค (อันดับที่ 84)
ในภาพรวม RSF แสดงความวิตกถึงแรงกดดันจากภาครัฐต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ประชากรเกินครึ่งโลกทยอยเข้าคูหาเลือกตั้งในปี 2024
แอนน์ โบกองเด ผู้อำนวยการด้านบรรณาธิการของ RSF ระบุในรายงานว่า “รัฐและอำนาจการเมืองอื่น ๆ กำลังลดบทบาทในแง่ของการพิทักษ์เสรีภาพสื่อ การลดทอนกำลังเช่นนี้ บางครั้งดำเนินไปร่วมกับการกระทำที่โหดร้ายเพื่อบ่อนทำลายบทบาทของสื่อมวลชน หรือเปลี่ยนสื่อให้เป็นเครื่องมือ ด้วยการคุกคามหรือใช้ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน”
ดัชนีประจำปี 2024 ยังบ่งชี้ถึงการขาดเจตจำนงทางการเมืองที่จะปกป้องสื่อมวลชนในเวทีระดับนานาชาติ สะท้อนจากการทีมีสื่อมวลชนมากกว่า 100 ราย เสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอลในฉนวนกาซ่า โดยมี 22 รายถูกสังหารขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2222 ว่าด้วยการพิทักษ์สื่อมวลชนในพื้นที่สู้รบ
- ที่มา: สื่อไร้พรมแดน