วิเคราะห์ยุทธศาสตร์สมดุลใหม่ทางการทูตของไทย เมื่อการเมืองโลกเปลี่ยนขั้วจากอเมริกาสู่มหาอำนาจเอเชีย

thai-china-prime-minister-prayuth-lee

นักวิเคราะห์ชี้ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเปลี่ยนสมดุลทางการทูตครั้งใหญ่เมื่อความสัมพันธ์กับมหาอำนาจเอเชียกำลังรุดหน้า แต่ความสัมพันธ์กับอเมริกากำลังจืดจาง

นับตั้งแต่รัฐบาลทหารขึ้นปกครองประเทศเมื่อเดือน พ.ค ปีที่แล้ว ดูเหมือนความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับประเทศมหาอำนาจฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกา เริ่มจืดจางลง ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนและรัฐบาลประเทศทางตะวันตก ต่างวิพากษ์ตำหนิการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองและการหยุดชะงักทางประชาธิปไตยในประเทศไทย พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

Your browser doesn’t support HTML5

thailand-diplomacy

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ยังไม่มีกำหนดการเลือกตั้งครั้งหน้า บรรดานักวิเคราะห์การเมืองไทยต่างพากันแสดงความเห็นที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯเมื่อเร็วๆนี้ โดยพูดถึงความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับประเทศมหาอำนาจ ที่ดูเหมือนกำลังเปลี่ยนขั้วไป

kavi chongkittavorn

คุณกวี จงกิจถาวร บรรณาธิการเครือเนชั่น กล่าวว่าไทยมองตัวเองว่าเป็นสะพานเชื่อมระหว่างจีนกับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นได้จากในช่วงปีหลังๆ ที่ไทยมีบทบาทมากขึ้นในการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีข้อพิพาทกับจีนเรื่องทะเลจีนใต้

คุณกวีบอกว่าดูเหมือนความสัมพันธ์ไทย-จีน จะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในช่วง 5-10 ปีจากนี้ ภายใต้รัฐบาลจีนของ ปธน. ฉี จิ้นผิง และดูเหมือนไทยจะยินยอมพร้อมใจไปกับจีน และกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงร่างยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศของจีน คุณกวีบอกด้วยว่าที่ผ่านมาความสัมพันธ์ไทย-จีน มีความมั่นคงกว่าความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ไทยยังขยายความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอื่นๆในแถบเอชีย-แปซิฟิก เช่น รัสเซีย ญี่ปุ่นและอินเดีย โดยเมื่อเร็วๆนี้ รัสเซียและไทยได้จัดทำข้อตกลงเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันเป็น 2 เท่าภายในปีหน้าไปเป็นระดับ 10,000 ล้านดอลล่าร์ต่อปี ไทยยังได้เป็นเจ้าภาพการประชุมด้านความมั่นคงกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดีย ขณะที่ญี่ปุ่นก็ต้องการเข้ามาลงทุนในโครงการเครือข่ายรางรถไฟมูลค่าหลายพันล้านดอลล่าร์ในไทย

Dr. Thitinan Pongsudhirak

ดร.ฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าการที่สหรัฐฯวิพากษ์ตำหนิรัฐบาลทหารของไทย คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยหันหาประเทศมหาอำนาจอีกขั้วหนึ่ง

และว่าความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ เคยเบ่งบานแน่นแฟ้นที่สุดในยุคสงครามเย็น แต่ค่อยๆคลายตัวลงในช่วงหลังสงครามเย็นต่อเนื่องมาถึงศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นการยากที่จะรื้อฟื้นให้กับมาดังเดิม ต่างจากความสัมพันธ์ของไทยกับจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่ไม่พัฒนามาจากช่วงสงครามเย็น จึงเหมือนกับว่าเวลานี้ไทยกำลังสร้างสมดุลความสัมพันธ์แบบใหม่กับประเทศเหล่านั้น

ในส่วนของความสัมพันธ์ไทย-จีน ดูเหมือนไทยกำลังพยายามเพิ่มความสัมพันธ์ทางทหาร ผ่านการส่งผู้แทนทหารไปเยือนจีน และสั่งซื้ออาวุธจากจีน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสมดุลใหม่ทางการทูต

ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลไทย กล่าวว่าเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ที่สภาพแวดล้อมทางการทูตเอื้อให้ไทยสามารถปรับยุทธศาสตร์สมดุลใหม่ทางการทูตได้ ซึ่งเป็นผลจาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองในภูมิภาคนี้

แต่ ดร.ปณิธาน เน้นย้ำว่าแม้ความสัมพันธ์กับจีน รัสเซีย และอินเดีย กำลังรุดหน้า แต่ไทยก็พยายามรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงยุทธศาสตร์และความสมดุลทางการทูตในระยะยาวของไทย

รายงานจากผู้สื่อข่าว Ron Corben / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล