ไทยส่ง 6 นักเคลื่อนไหวกลับกัมพูชา จากคดี ‘ก่อกบฏ’ ด้วยคอมเมนต์เฟซบุ๊ก

  • VOA

แฟ้มภาพ/AP

นักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชาหกคนที่โดนกล่าวหาในข้อหาก่อกบฏทรยศชาติจากการวิจารณ์รัฐบาลบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ถูกทางการไทยส่งตัวกลับประเทศเพื่อขึ้นศาล ตามการรายงานของเอพี อ้างอิงตามกลุ่มรณรงค์ประชาธิปไตยเมื่อวันพฤหัสบดี

กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยขแมร์ หรือ Khmer Movement for Democracy ที่ก่อตั้งโดยแกนนำฝ่ายค้านที่ลี้ภัยอยู่ต่างแดน วิจารณ์ว่าการส่งตัวกลับ จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกเผชิญกับ “การปฏิบัติที่ไร้ความเป็นมนุษย์และต่ำทราม” ในทัณฑสถานกัมพูชาที่แออัด

ที่ผ่านมา กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยและกัมพูชามีข้อตกลงในทางพฤตินัย ให้ส่งมอบตัวผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ลี้ภัยคืนให้กันและกัน

ในฝั่งกัมพูชา เสียงวิจารณ์ดังกล่าวมีมาตั้งแต่สมัยการนำของฮุน เซน ที่ครองอำนาจยาวนานเกือบ 40 ปี เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยฮุน มาเนต บุตรชาย ผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2023 ที่หลายชาติมองว่าไม่เปิดกว้างและไม่เป็นธรรม

ผู้ถูกส่งตัวกลับครั้งนี้เป็นหญิงสี่คน เป็นชายสองคน และทุกคนมีความเกี่ยวข้องกับพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา พรรคฝ่ายค้านที่มีชื่อเสียงในประเทศที่โดนปราบปรามด้วยการยุบพรรคเมื่อปี 2017 การดำเนินคดี และการจับกุมคุมขังสมาชิกพรรคจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทย ให้ข้อมูลโดยไม่เปิดเผยตัวตน ว่าผู้ลี้ภัยทั้งหกคน บวกกับอีกหนึ่งที่เป็นเด็กอายุ 5 ขวบ ถูกคุมตัวที่ จ.ปทุมธานีในช่วงสุดสัปดาห์ก่อนถูกส่งตัวกลับกัมพูชา ตามการรายงานของเรดิโอฟรีเอเชีย ที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงาน USAGM เช่นเดียวกับวีโอเอ

Your browser doesn’t support HTML5

ไทยส่ง 6 นักเคลื่อนไหวกลับกัมพูชา

องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์ส วอทช์ ระบุในแถลงการณ์ในวันศุกร์ว่าเด็กวัย 5 ขวบดังกล่าวถูกนำตัวส่งครอบครัวที่กัมพูชา

เข็ง โสนะดิน โฆษกกรมราชทัณฑ์กัมพูชากล่าวว่านักเคลื่อนไหวทั้งหกถูกแยกคุมขังในหลายเรือนจำเมื่อ 25 พฤศจิกายน ตามการรายงานของเอพี

หากศาลตัดสินว่ามีความผิด จำเลยทั้งหกอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี

อัม สัม อัธ ผู้อำนวยการขององค์กรสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา Licadho ระบุว่ากลุ่มนักเคลื่อนไหวนี้ถูกศาลแขวงกรุงพนมเปญดำเนินคดีเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาในข้อหาทรยศชาติ สืบเนื่องจากการโพสต์ข้อความวิจารณ์รัฐบาลกัมพูชากรณีโครงการสามเหลี่ยมความร่วมมือกัมพูชา-ลาว-เวียดนาม (CLV-DTA)

โครงการดังกล่าวเป็นข้อตกลงในแผนพัฒนา และร่วมมือกันทางการค้าและการเดินทางย้ายถิ่นในพื้นที่สี่จังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ชายแดนของกัมพูชาที่ติดกับลาวและเวียดนาม ซึ่งลงนามในปี 1999 และริเริ่มอย่างเป็นทางการในปี 2004

สามเหลี่ยมความร่วมมือนี้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการมอบผลประโยชน์ให้กับต่างชาติ โดยเฉพาะการมอบสัมปทานที่ดิน ที่ถูกมองว่าเป็นการเสียที่ดินและอำนาจอธิปไตยให้กับเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีความบาดหมางในทางประวัติศาสตร์

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีการประท้วงโครงการดังกล่าวในกัมพูชา นำมาซึ่งการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ และมีประชาชนถูกจับกุมเกือบ 100 คน

นายกฯ ฮุน มาเนต กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ต้องสลายการชุมนุมเพื่อพิทักษ์ความสงบเรียบร้อยของสังคม เพื่อประโยชน์ของชาวกัมพูชาทั้งหมด และกล่าวหาว่าผู้ประท้วงมีจุดมุ่งหมายต้องการโค่นล้มรัฐบาล

กระนั้น ในเดือนกันยายน รัฐบาลพนมเปญได้ถอนตัวออกจากสามเหลี่ยมความร่วมมือ แต่คดีความของผู้ชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป

  • ที่มา: เอพี, เรดิโอ ฟรี เอเชีย, ฮิวแมนไรท์ส วอทช์