Your browser doesn’t support HTML5
"ไทยทาวน์" ที่นครลอส แอนเจลิส แคลิฟอร์เนีย เพิ่งมีอายุครบ 20 ปีเต็มในปีนี้ แม้ได้ชื่อว่าเป็นที่ตั้งของชุมชนไทยที่ใหญ่ที่สุดในต่างแดน แต่ย่านสำคัญแห่งนี้กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง และความท้าทายใหม่ที่อาจจะต้องเดิมพันด้วยหลักประกันในการคงอยู่ของชุมชนต่อไปในอนาคต
‘ตอนนี้ก็อยู่ที่นี่ 27 ปีแล้วบนถนนฮอลลีวูด ตั้งแต่มาปี 1992 ปลายปีก็เปิดร้านทำผมที่ถนนฮอลลีวูดเลย ตอนแรกก็ทั้งร้านนวด ทั้งร้านอาหาร ร้านทำผม ทุกอย่าง บิสซิเนส ของคนไทยโกรลอัพมากเติบโตมาก แต่ว่าช่วงนี้ก็สโลว์ดาวน์ สิบปีหลังนี้ทุกอย่างขึ้นหมดเพราะว่าไทยทาวน์พวกลิตเติ้ลอาร์มาเนี่ยน เข้ามา ค่าเช้าอะไรก็อัพขึ้นตลอดเวลา’
'ฟาโรห์ โกสุมานนท์' ช่างตัดผมและเจ้าของร้านตัดผมฟาโรห์ แฮร์ดีไซน์ หนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจชาวไทยทีเปิดกิจการมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของการก่อตั้งชุมชน ‘ไทยทาวน์’ ในนครลอส แอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 20 ปีก่อน สะท้อนมุมมองของความเปลี่ยนแปลงจากภายในย่านที่ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของชุมชนไทยที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา
แม้ย่านไทยทาวน์จะเติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นศูนย์กลางของร้านค้าและร้านอาหารไทยที่ขึ้นชื่อ หลังได้รับการอนุมัติจัดตั้งและรับรองความเป็นชุมชนอย่างเป็นทางการจากสภานครลอส แอนเจลิส เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542 แต่ 2 ทศวรรษผ่านไป กลับพบว่ากลุ่มผู้ประกอบการชาวไทยกลับมีแนวโน้มที่จะย้ายออกมากกว่าย้ายเข้า จากปัญหาค่าเช่าและการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
‘เพราะการแข่งขันของคนไทยส่วนใหญ่จะแข่งขันตัดราคากัน ไม่อัพราคากันเหมือนชาวต่างชาติ เช่น พวกเกาหลี ญี่ปุ่น พวกนี้เขาจะรักษาราคาของเขาไว้ คือ ทุกอย่างมาตราฐานเหมือนกันหมด แต่ของเราเองพิเศษ แต่พิเศษมันต้องขึ้นแต่พิเศษลดลง สเปเชี่ยลลันช์ ต่าง ๆ ก็ลดลง จาก 5.99$ เป็น 4.99$ จากอะไรก็ช่วยกันลดก็เป็นอันว่าอยู่ไม่ได้กัน’
ปัญหากลุ่มผู้ค้าชาวไทยที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในฐานะผู้เช่าระยะสั้น และยังไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นเจ้าของที่ดิน คืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้ย่านไทยทาวน์ต้องพบกับความยากลำบากตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
‘เป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่จะมีคนไทยที่เป็นเจ้าของธุรกิจ 3 เจ้าเท่านั้นเอง คือ ไทยแลนด์พลาซ่า ร้านโอชา และร้านไทยบาร์บิคิว จะมีแค่ 3 คนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ส่วนที่เหลือคนไทยต้องเช่าที่เขาทำมาหากิน ซึ่งหนึ่งในจุดประสงค์ของสภาไทยทาวน์ฯ ก็คือ ทำยังไงให้ได้ที่จะให้คนไทยได้เป็นเจ้าของที่ ในเมื่อมันเป็นไทยทาวน์แล้ว เราก็อยากให้ไทยทาวน์ ธุรกิจของคนไทย ทำในไทยทาวน์บนพื้นที่ของคนไทย นี่เป็นจุดประสงค์ที่บางคนมองว่ามันยากมาก แต่เราก็พยายามอยู่’
ตัน พัฒนะ นายกสภาไทยทาวน์ ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมกลุ่มผู้ประกอบการชาวไทยที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาเมื่อ 2 ปีก่อน กำลังพยายามหาทางออกเพื่อรักษาชุมชนไทยทาวน์ให้ยั่งยืน
‘ก็จากที่ประชุมกันมาเมื่อปีที่แล้วถึงปีนี้ เราก็พยายามที่จะจับเป้าตามที่ตรงไหนที่เขาขาย อย่างตอนนี้มีพลาซ่าคนไทยที่เขาจะขายราว 3 ล้านเหรียญ ก็มีการคุยกันว่าจะทำยังไงให้นักธุรกิจของคนไทยมารวบรวมเงินกัน หรือว่าจะเป็นในส่วนของแคปิตอล เกน (กำไรจากลงทุน) ซึ่งอเมริกาจะมีส่วนของที่คนมาลงทุนแล้วจะยกเว้นการเสียภาษี ตรงนั้นคือสิ่งที่เราจะทำต่อไป ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่ ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการตั้งตัวอักษรสีขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ไทยทาวน์ ในปัจจุบันนี้ ทางสภาไทยทาวน์ก็ได้ทำเรื่องไปยังที่ซิตี้ของแอลเอ ขอทำป้ายถนนที่มีอยู่ทั้งหมดเสริมแต่งเป็นสัญลักษณ์ของไทย’
นฤนาถ โชฟิลด์ เจ้าของธุรกิจ ชาวไทยในนครลอส แอนเจลิส บอกว่า การสร้างความยั่งยืนของไทยทาวน์คือการสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการถือครองที่ดินของคนไทยให้มากขึ้น
‘คิดว่าคงไม่ก้าว (หน้า) ถ้าไม่เป็นเจ้าของเอง อันนี้มองในด้านธุรกิจ คงจะไม่ก้าวหน้าแน่นอน ก็คงต้องอยู่อย่างนี้ ถ้าไม่เป็นเจ้าของเอง คนไทยนะคะ ถ้าเป็นไปได้ มีเงินเยอะ อยากให้มาซื้อทรัพย์สินในไทยทาวน์ ให้คนต่างชาติออกไป พี่อยากใหัคนไทย สามัคคีกันมากที่สุด สามัคคีกันรวมตัวช่วยกัน อย่างเกาหลี เขาไปได้ไกลกว่าเรา จุดของเขาคือทางโบสถ์ให้กู้เงิน รัฐบาลช่วยเหลือเต็มที่ เขาก็เลยมีกำลังที่จะสร้างอาณาจักรของพวกเขา แต่ของเราไม่มีอาณาจักร ของเราคือ 'อาณาจักรเช่า' มากกว่าที่เป็นเจ้าของเอง เมื่อไหร่ก็ตามถ้าเราเช่า เราเสียเปรียบ’
Your browser doesn’t support HTML5
แม้ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ย่านไทยทาวน์ บนถนนฮอลลีวูด บูลาวาร์ด ช่วงระหว่างถนนเวสท์เทิร์นไปจนถึงถนนนอร์มันดี จะเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจนว่าเอกลักษณ์สำคัญของชุมชนไทยในต่างแดน โดยเฉพาะการสืบทอดงานประเพณีทำบุญขึ้นปีใหม่ในวันสงกรานต์ที่จัดขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปี
แต่ขณะเดียวกันก็ยังเสี่ยงในการสูญเสียเอกลักษณ์ในระยะยาว และกลายเป็นความท้าทายที่ต้องมีการวางแผนจัดการเรื่องนี้อย่างรอบคอบเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนชาวไทยเอาไว้