ศาลไทยนัดหมายไต่สวนคำร้องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในเดือนกรกฎาคม กรณีจับกุมตัวนักเคลื่อนไหวชนกลุ่มน้อยเวียดนามตามคำขอของรัฐบาลฮานอย ท่ามกลางความกังวลขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนถึงความปลอดภัย และการที่ไทยเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของการไล่ล่าผู้เห็นต่างจากรัฐบาลประเทศอื่น
อี ควิน เบอดั๊บ คือชื่อของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ต้องการตัวของทางการเวียดนาม เขาถูกจับกุมที่กรุงเทพฯ เมื่อ 11 มิถุนายนที่ผ่านมาหลังหลบซ่อนตัวอยู่ในไทยมาตั้งแต่ปี 2561
นายนิกรเดช พลางกูร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย กล่าวกับวีโอเอว่า ศาลไทยออกหมายจับเบอดั๊บ “ตามคำร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของทางการเวียดนาม จากคำตัดสินในศาลเวียดนามว่านายเบอดั๊บมีความผิดในข้อหาก่อการร้าย”
พล.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ ที่ปรึกษารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ศาลอาญานัดไต่สวนส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในกรณีนี้ ในวันที่ 15 กรกฎาคม
รายงานจากสื่อท้องถิ่นระบุว่า เบอดั๊บถูกตั้งข้อหาว่า ปลุกระดมให้เกิดการจลาจลในเวียดนามที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน โดยในจำนวนนั้นเป็นตำรวจ 4 นาย และเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศาลเวียดนามพิพากษาลับหลังจำเลย ตัดสินจำคุกเบอดั๊บเป็นเวลา 10 ปีในข้อหาก่อการร้าย
ก่อนหน้าที่เบอดั๊บจะถูกจับกุม เขาบันทึกวิดีโอขณะหลบซ่อนตัวในไทย โดยปฎิเสธทุกข้อกล่าวหาจากภาครัฐ วิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ในเวลาต่อมาโดยแมรี ลอว์เลอร์ ผู้รายงานพิเศษด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ (UN) โดยเบอดั๊บแสดงความกังวลว่า อาจจะถูกจับกุมในเวลาอีกไม่นาน และเรียกร้องให้ทาง UN รวมถึงรัฐบาลต่างชาติเข้ามาปกป้องคุ้มครองตน
Your browser doesn’t support HTML5
เสียงกังวลถึงความปลอดภัยและความเป็นธรรม
กลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร ได้ออกมาเรียกร้องไม่ให้ไทยส่งตัวเบอดั๊บกลับไปเวียดนาม
นายสุนัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโสจากองค์กรฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ (HRW) กล่าวกับวีโอเอว่า การจับกุมเบอดั๊บ ขัดแย้งกับเงื่อนไขทางกฎหมายของไทยที่ต้องคุ้มครองผู้ลี้ภัย และแม้ HRW ไม่มีข้อมูลว่า นักเคลื่อนไหวคนนี้เกี่ยวข้องกับคดีความที่พิพากษาไปแล้วจริงหรือไม่ แต่ก็กังวลว่า การเป็นสมาชิก ‘กลุ่มมองตานญาด’ อาจมีผลต่อความปลอดภัยและสิทธิการเข้าถึงการไต่สวนที่เป็นธรรม
คำว่า มองตานญาด (Montagnard) เป็นภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า “ชาวเขา” ซึ่งเป็นคำเรียกของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเวียดนามที่หลายกลุ่มนับถือศาสนาคริสต์ และที่ผ่านมาก็มีประวัติการถูกเลือกปฏิบัติจากทางการเวียดนามหลายกรณี จากทั้งเรื่องของศาสนา กระแสเคลื่อนไหวเรียกร้องการปกครองตนเอง รวมถึงเรื่องข้อพิพาทเรื่องที่ดิน
อี ฟิก ด็อก ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรมองตานญาดเพื่อความยุติธรรม (MSFJ) ที่ปัจจุบันอยู่ที่สหรัฐฯ หลังหลบหนีออกจากเวียดนามเมื่อแปดปีที่แล้ว กล่าวว่า เบอดั๊บซึ่งสังกัดอยู่ในองค์กร MSFJ จะตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิตหากถูกส่งตัวกลับให้รัฐบาลฮานอย
คริสโตเฟอร์ แมคลีออด ทนายความของเบอดั๊บกล่าวกับวีโอเอว่า ห่วงกังวลว่าลูกความจะตกอยู่ในอันตรายเช่นกัน และกล่าวด้วยว่า เบอดั๊บถูกจับหนึ่งวันหลังไปพูดคุยเรื่องการขอลี้ภัยทางการเมืองกับสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย โดยทางสถานทูตไม่ได้ตอบรับคำขอความเห็นของวีโอเอเพื่อยืนยันถึงการพบกันดังกล่าว
หลบหนีในไทย มีทั้งได้ไปต่อและถูกส่งกลับ
แม้ไทยเคยมีประวัติการให้ผู้เห็นต่างที่ถูกจับกุมในไทยถูกส่งตัวต่อไปยังประเทศที่สามที่เป็นจุดหมายปลายทางของการลี้ภัย แต่ก็มีหลายครั้งเกิดการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศต้นทาง เช่น การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนเมื่อปี 2558 และส่งตัวผู้วิจารณ์รัฐบาลกัมพูชากลับประเทศในหลายกรณี
ในกรณีของเวียดนาม ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ก็มีนักเคลื่อนไหวหลายคนที่หายตัวไปขณะหลบซ่อนตัวในไทยก่อนไปปรากฏตัวเป็นผู้ถูกคุมขังที่เวียดนาม ในทางกลับกัน ผู้ลี้ภัยไทยในประเทศเพื่อนบ้านหลายรายก็หายตัวไปอย่างลึกลับ และบางคนก็มาพบในภายหลังว่าเสียชีวิตแล้ว จนสร้างความหวาดกลัวว่าอาจมีการลักพาตัวที่มีหน่วยงานรัฐอยู่เบื้องหลัง
ในรายงานของฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ที่เผยแพร่ไม่นานมานี้ พบ 25 กรณีที่สงสัยว่า เป็นการปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐแบบข้ามพรมแดนเข้ามาในไทยในช่วงปี 2557-2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหารและสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง
สุนัยกล่าวว่า “รัฐบาลชุดปัจจุบันของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ยังสืบทอดมรดกของรัฐบาลทหารและยังมีรูปแบบการปราบปรามแบบข้ามชาติเหมือนเดิม ในแบบที่ทางการไทยช่วยประเทศเพื่อนบ้านกระทำเรื่องผิดกฎหมายต่อผู้ลี้ภัยและผู้เห็นต่างที่หลบภัยอยู่ในไทย”
พล.ต.ต.เขมรินทร์ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่าไทยและเวียดนามกำลังเจรจาเรื่องช่องทางการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเดินหน้าต่อไปในเดือนหน้า ที่จะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยไปเยือนเวียดนาม
แมคลีออด ทนายของเบอดั๊บ กังวลว่าช่องทางที่เป็นทางการนี้จะทำให้การส่งตัวผู้เห็นต่างกลับประเทศง่ายขึ้น และทำให้รัฐบาลหรือองค์กรที่ต้องการจะช่วยเหลือมีเวลาน้อยลง
กระทรวงการต่างประเทศของไทยที่เป็นผู้ดูแลเรื่องการเจรจา ไม่ได้ตอบคำถามของวีโอเอในกรณีนี้ และทางสถานทูตเวียดนามก็ไม่ได้ตอบรับคำขอความเห็นเช่นกัน
นายชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ไทยจะคำนึงถึงทุกปัจจัยรวมถึงเรื่องความปลอดภัยของเบอดั๊บในการพิจารณาส่งผู้ร้ายข้ามแดน และกล่าวด้วยว่า “ณ ขั้นตอนนี้ อย่าไปตัดสินก่อนคำตัดสินของศาลจะดีกว่า”
- ที่มา: วีโอเอ