สัมภาษณ์ ร้าน "เเจ่วฮ้อน" ในนิวยอร์ก หลังเปิดรับลูกค้านั่งในร้านได้

ร้านอาหารไทยในเขตควีนส์กลับมาเปิด Indoor Dining อีกครั้ง

ร้านอาหารไทยในเขตควีนส์กลับมาเปิด Indoor Dining อีกครั้ง

Your browser doesn’t support HTML5

NYC Indoors Dining Reopen


หลังจากที่ดำเนินการตามมาตรการป้องกันที่เข้มงวดเพื่อลดการระบาดของโควิด-19 มาเป็นเวลาหลายเดือน ร้านอาหารไทยในนครนิวยอร์กขานรับข่าวดี เมื่อนายแอนดรูว์ โควโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กประกาศคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่ 12 กุมภาพันธ์ นี้เป็นต้นไป ในการผ่อนปรนให้สามารถรับประทานอาหารในร้านและขยายเวลาเปิดร้านถึง 23 นาฬิกา

วีโอเอ ไทย มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับผู้ประกอบการร้านอาหารไทยและลูกค้าในเขต ควีนส์ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีชาวไทยอาศัยอยู่หนาแน่น ถึงการกลับมาของ indoor dining รอบที่สอง และมาตราการความปลอดภัยที่จำกัดจำนวนคนในร้านไม่ให้เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งทั้งหมด

“ดีใจมาก คือดีใจ เด็กๆทุกคนก็ดีใจ เพราะว่าร้านพี่มีพนักงานก็มีประมาณ 10 คนนะข้างบนของแจ่วฮ้อน เขาก็ดีใจ เราก็มาเตรียมการล่วงหน้าหนึ่งวันที่มาเซ็ทอัพเปิด แบบว่าลูกค้าคิดถึงเราไหมหรือลืมเราไปแล้ว”

Your browser doesn’t support HTML5

'แจ่วฮ้อน' นิวยอร์กเฮ! หลังเปิดรับลูกค้านั่งในร้านได้อีกครั้ง

สุดารัตน์ ยิ่งยง เจ้าของร้าน “แจ่วฮ้อน” ในเขต ควีนส์ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีชาวไทยอาศัยอยู่หนาแน่น แสดงความตื่นเต้นที่เธอและลูกน้องจะได้กลับมาเปิดร้านอีกครั้ง หลังร้านของเธอได้รับผลกระทบอย่างหนักและต้องหยุดกิจการหลายเดือนในช่วงที่นิวยอร์กเผชิญวิกฤตโควิด แม้ร้านอาหารบางแห่งจะสามารถดำเนินกิจการต่อแบบนอกอาคาร หรือ เอาท์ดอร์ได้

เธออธิบายว่าร้านชาบูของเธอไม่สามารถทำได้เพราะเธอเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของการตั้งหม้อไฟด้านนอก ทั้งนี้ พื่นที่หน้าร้านก็มีจำนวนจำกัด

สุดารัตน์บอกต่อว่า เธอทราบข่าวการผ่อนปรนมาตราการป้องกันโควิด-19 ให้เปิดขายอาหารในร้านได้วันช่วงวาเลนไทน์ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม ภายในระยะเวลาสองอาทิตย์นั้น เธอรีบพยามโฆษณาการกลับมาเปิดร้านอีกครั้งในเฟสบุ๊คของร้านแจ่วฮ้อนและ เพจ ชมรมคนไทยในนิวยอร์ก ซึ่งเธอก็ดีใจที่ลูกค้ายังอยากกลับมาทานหม้อไฟ

ปรากฏลูกค้า call back กลับมาว่า reservation ได้มั้ย ฉันอยากมา ฉันคิดถึงแจ่วฮ้อน นู่น นี่ นั่น แต่เราก็ต้องบอกเขาว่าเรารับจำนวนจำกัดนะ พี่สุแค่เสียดายอย่างเดียวคือเขาให้เปิดได้แค่ 25 เปอร์เซ็นต์ นั่งได้น้อย ลูกค้าต้องมาออ บางคนก็ไม่อยากรอ

ลูกค้าชาวไทยที่มาอุดหนุนร้านแจ่วฮ้อนเป็นโต๊ะแรกของวันที่ 12 ก.พ. 2564 (New York)

รัฐนิวยอร์ก ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 หนึ่งในนั้นคือการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในร้านอาหาร ไม่ให้เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ซึ่งแปลว่าสุดารัตน์จะรับลูกค้าพร้อมกันได้ไม่เกิน 7 คนเท่านั้น แม้เธอจะไม่สามารถมีรายได้เหมือนเมื่อก่อน แต่เธอก็พร้อมสู้ เพื่อลูกค้าและพนักงาน

ความปลอดภัยในการทานอาหารของลูกค้า

เนื่องจาก ความปลอดภัยและความเชื่อมั่นของลูกค้านั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ สุดารัตน์อธิบายว่าพนักงานของเธอนั้นต้องตรวจเช็คอุณหภูมิก่อนเข้าทำงาน สวมหน้ากากตลอดเวลา และจะเป็นคนตักอาหารให้ลูกค้าเอง แต่ละโต๊ะจะนั่งได้ไม่เกิน 4 คน และต้องเว้นระยะห่างจากโต๊ะข้างๆกว่า 2 เมตร พร้อมทั้งมีฉากพลาสติกกั้นระหว่างโต๊ะ ลูกค้าที่จะเข้ามาทานต้องตรวจอุณหภูมิและลงชื่อกับเบอร์ติดต่อไว้ก่อนเข้าร้าน

เมื่อถึงเวลาเปิดร้านตอนบ่ายสามโมง ลูกค้าก็เริ่มทยอยเข้ามา ซึ่งโต๊ะแรกมาด้วยกันสองคน

ทั้งคู่ต่างบอก วีโอเอ ไทย ว่ารู้สึกมีความสุขที่ได้กลับมานั่งทานที่ร้านอีกครั้ง

คิดถึงมาก อยากมานั่งกิน enjoy แบบนี้แต่เราก็ต้องระวัง” จิปาภา ชัยศรี ชาวไทยในย่านควีนส์พูดและหันมองเพื่อนของเธอที่กำลังนำไก่สไตล์และลูกชิ้นลงหม้อไฟ

ทานด้านในมันอุ่นกว่าเพราะปกติแบบ outdoor ที่นี่ อากาศตอนนี้นั่งข้างนอก แล้วมันกินอาหารไม่อร่อยเลย มันยังเย็นตลอดเวลา” เฌอรีณ วิชานุเคราะห์ซึ่งมาพร้อมกับจิปาภาอธิบายถึงอากาศหนาวที่เมืองนิวยอร์ก ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 2 องศา

ในระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ชาวนิวยอร์กที่ต้องการทานอาหารจากร้านอาหารจะมีสองตัวเลือกหลัก คือให้ซื้อกลับบ้านหรือนั่งทานด้านนอก การทานอาหารด้านนอกนั้นค่อนข้างจะลำบากเพราะความเย็นของสภาพอากาศ บางทีก็หิมะตกด้วย คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยออกมาทานมากหนัก

โอลิเวีย อัง นักบัญชีลูกค้าร้านเพลย์กราวด์ (New York)

นอกจากร้านแจ่วฮ้อนแล้ว สุดารัตน์ก็ยังเป็นเจ้าของร้านอาหารไทยอีกแห่ง ที่ชื่อเพลย์กราวด์ ซึ่งทางร้านนั้นมีห้องอาหารทั้งชั้นบนและล่าง เธอมีลูกค้าประจำทั้งไทยและต่างชาติ กลุ่มแรกที่เข้ามาในร้านของเธอคือชาวพม่าซึ่งมาด้วยกันทั้งหมด 7 คน เธอสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าโดยการปิดห้องอาหารด้านล่างให้เป็นของกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้กลุ่มเดียว

โอลิเวีย อัง สาวนักบัญชีชาวพม่าที่มาพร้อมกับเพื่อนของเธอ บอกว่า “รู้สึกปลอดภัยกับการนั่งทานในร้านเพราะเชื่อว่าทุกๆร้านจะต้องทำตามกฏการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด19อย่างเคร่งครัง เวลานั่งทานอาหารข้างนอกในเมืองอย่างนิวยอร์กก็อาจจะมีอันตรายอยู่บ้าง เพราะมีรถเยอะ และ อากาศหนาว

ความหยืดหยุ่นของการทำธุรกิจในยุคโควิด-19

ส่วน ศราไล ศราภัยวานิช เจ้าของร้าน “ข้าวหนม” ก็ดีใจที่ได้กลับมาเปิดข้างใน ร้านเธอนั้นเป็นร้านขนาดกลาง เน้นขายขนมไทยและอาหารจานเดียวเป็นส่วนใหญ่ เมนูดังของร้านเธอนั้นมีหลากหลายทั้งขนมเบื้องไส้หวาน ไส้เค็ม ขนมโตเกียวไส้สังขยา หรือข้าวกระเพราะหมูกรอบ

ศราไล ศราภัยวานิช เจ้าของร้านข้าวหนม โชว์ขนมไทยชนิดต่างๆ

เธอเองยังคงไม่มั่นใจว่า การผ่อนปรนมาตราการของรัฐครั้งนี้จะเป็นข่าวดีแบบระยะยาวหรือไม่

เพราะเมืองนิวยอร์กเคยอนุญาตให้ร้านอาหารกลับมาเปิดข้างในได้ครั้งหนึ่งเมื่อเดือนปลายกันยายนปีที่แล้ว

แต่การเปิดข้างในครั้งนั้นมีระยะเวลาแค่เพียงสองเดือนกว่า เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางเจ้าหน้าที่จึงสั่งให้ปิด indoor dining ในช่วงกลางเดือนธันวาคม

ศราไลจึงยังเน้นการขายขนมและอาหารแบบ “to-go” หรือ ให้ซื้อกลับบ้านไปทานเอง

“ก็แค่ 25 เปอร์เซ็นต์ คือเขาก็ขึ้นๆลงๆด้วย คือแน่นอนมันก็ดีขึ้นแต่ก็ไม่รู้ว่าหยุดอีกเมื่อไหร่ แต่ก็อย่างงี้ มันก็ได้สอง สามโต๊ะไม่ได้เยอะอะไรมาก และก็ไม่รู้จะหยุดอีกเมื่อไหร่ เขาเคยเปิดให้ และก็เปิด ปิด เปิด ปิด ซะจนเรายังไม่รู้ไง จะให้เปิดนานแค่ไหน ก็เลยไม่ได้ excite อะไรมากมาย

ความยืนหยุ่นในการปรับแผนรองรับลูกค้าจึงถึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการอยู่รอด ศราไลเล่าให้ฟังว่า ครั้งแรกที่นครนิวยอร์กอนุญาตให้ร้านอาหารกลับมาให้บริการลูกค้าได้คือเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่การให้เปิดนั้นคือการเปิดให้นั่งทานข้างนอกเท่านั้น เธอเองก็ต้องพยามพยุงธุรกิจจึงตัดสินใจลงทุนคิดเป็นเงินไทยกว่าสามแสนบาทเพื่อให้ลูกค้าได้ทานอาหารด้านนอกอย่างสะดวกสบายและได้มาตราฐานตามกฎของรัฐ

ศราไลลงทุนทำพิ้นที่การทานอาหารแบบนอกอาคาร (New York)

“ตอนนั้นที่ปิดเป็นช่วงsummer เขาก็ให้เราทำoutdoor เราก็ต้องลงทุนนะ แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหนไง แต่เราไม่คิดว่ามันจะเป็นปีอย่างนี้ หลายๆร้านก็ยังลังเลว่าจะเปิด ไม่เปิดดีเพราะมันก็ต้องลงทุนเป็นหมื่น ทั้งนี่เราก็ต้องคิดว่ามันจะกี่เดือน แล้วเขาจะให้เเราปิดอีกหรือเปล่า แต่หลายๆร้านก็ทำกัน ก็ช่วยได้เยอะ

วัคซีนคือกุญแจสำคัญ

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ชาวอเมริกันราว 37 ล้านคน หรือ 11 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสแรกแล้ว สหรัฐอเมริกาได้เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่างๆ โดยเริ่มจากกลุ่มแพทย์ พยาบาล และกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

แม้ว่าความแน่นอนในการกลับมาเปิดภายในร้านได้อย่างเต็มที่นั้นอาจจะยังไม่ชัดเจนนัก ศราไลเห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิดจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูธุรกิจต่างๆ รวมทั้งร้านของเธอด้วย

“ก็ถ้าวัคซีนมา น่าจะดีขึ้น ก็หวังว่าจะ summer เน้อ summer ก็อย่างเร็วนะ อยากให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

ส่วนทางด้านสุดารัตน์นั้นก็เชื่อมั่นอย่างเดียวกัน ซึ่งเธอกับลูกน้องก็จะเดินทางไปฉีดวัคซึนโดสแรกพร้อมกันในวันรุ่งขึ้นอีกด้วย

สุดารัตน์ ยิ่งยง เจ้าของร้านแจ่วฮ้อนและเพลย์กราวด์ในนิวยอร์ก

สุดารันต์ ยงยิ่ง เจ้าของร้านแจ่วฮ้อนและเพลย์กราวด์เชื่อว่าสถานการณ์จะกลับมาดีขึ้นเพราะวัคซีนป้องกันโควิด-19

“พี่สุคิดว่ามันต้องกลับมาดีเหมือนเดิม เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะว่าตอนนี้ ทุกคนเริ่มไป register เพื่อฉีดวัคซีน แล้วตัวพี่สุเองก็จะไปฉีดพรุ่งนี้แล้ว กับลูกน้องอีก 7 คนค่ะ...พี่สุคิดว่าทุกคนนะเริ่มมีภูมิแล้ว มีวัคซีนแหละ ทุกอย่างก็จะกลับเป็น Normal เรื่อยๆ เรื่อยๆแล้ว

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐได้เซ็นต์สัญญา สั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 เพิ่มกว่า 200 ล้านโดส จากบริษัทผลิตไฟเซอร์ ไบโอเทค (Pfizer BioTech) และโมเดอร์นา (Moderna) หากการจัดส่งวัคซีนเป็นไปตามกำหนด สหรัฐจะมีวัคซีนถึง 600 ล้านโดส ภายในเดือนกรกฎาคม