สถานการณ์การชุมนุมประท้วงไทยในสายตานักวิเคราะห์ต่างชาติ

นักวิชาการและนักวิเคราะห์ชาวต่างชาติยังมีความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมในประเทศไทยบางส่วนหนุนให้ทั้งสองฝ่ายร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่ระบบการเลือกตั้งและระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่เป็นธรรม ขณะที่บางส่วนเห็นว่าหากรัฐบาลยอมลาออกอาจจะเป็นชนวนให้กลุ่มเสื้อแดงออกมาประท้วงและนำไปสู่ความรุนแรง นอกจากนี้ยังเห็นว่ารัฐบาลไทยอาจจะใช้ความอดกลั้นจนกว่าผู้ประท้วงจะมียุติการชุมนุมไปเอง

การปิดถนนประท้วงหลายจุดในกรุงเทพฯ ได้รับความสนใจและรายงานข่าวจากสื่อมวลชนหลายสำนักไปทั่วโลก ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ชาวต่างชาติ ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การในประเทศไทยอย่างหลากหลาย

Edmund Malesky ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาวิทยาลัยดุ๊ค (University of Duke) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้ทำการสอนอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ แสดงความเห็น และคาดหวังว่า ทั้ง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งจะสามารถทำความตกลงกันได้ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเปิดทางให้กับการเลือกตั้งที่มีการตรวจสอบและการถ่วงดุลอย่างที่ฝ่ายผู้ประท้วงเรียกร้อง นอกจากนี้ยังระบุว่าทางออกที่พอจะเป็นไปได้คือการมีระบบการเลือกตั้งที่เป็นธรรรมกับทุกฝ่าย เและมีระบบการตรวจสอบที่เหมาะสม เพื่อปกป้องเจตนารมณ์ของฝ่ายเสียงข้างน้อย

ด้าน Mark Thompson ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ City University of Hong Kong แสดงความวิตกและตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้ประท้วงสามารถขับ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากอำนาจได้สำเร็จ โดยแสดงความกังวลว่าฝ่ายผู้ประท้วง ซึ่งมีแผนที่จะดำเนินการประท้วง ควบคู่ไปกับการดำเนินการทางการศาลและการปกครองเพื่อขับรัฐบาลชุดนี้ออก และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะทำให้กลุ่มเสื้อแดง ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพี่ชายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาประท้วงอีกครั้งหนึ่ง ที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งในที่สุดทหารจะต้องออกมาในที่สุด

ขณะที่ Chris Baker นักเขียนและนักวิเคราะห์การเมืองไทย กล่าวว่า การสนับสนุนในการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้อาจได้รับการสนับสนุนจากชาวกรุงเทพฯ ลดลง ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลก็ได้แสดงความอดทนอย่างมาก ซึ่งดูเป็นวิธีการที่ฉลาดที่จะทำให้ฝ่ายผู้ประท้วงล้มเลิกไปเอง และอาจจะเป็นวิธีการที่ได้ผลในที่สุด