ย้อนดู 3 เหตุการณ์การเมืองที่มีอุจจาระอยู่ในเหตุการณ์ ก่อนดวงฤทธิ์ บุนนาค แกนนำกลุ่ม CARE ประกาศให้คนมา ‘ปาขี้’ ใส่ตามคำท้า หลังผิดคาด พรรคเพื่อไทยหันไปจับมือตั้งรัฐบาลกับกลุ่มรัฐบาลเก่า
อีกหนึ่งเรื่องที่ได้รับความสนใจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองไทย คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลา เวลา 15.14 น. ของวันที่ 2 กันยายนนี้ ที่ Mirror Art ของมูลนิธิกระจกเงา ที่ซอยแจ้งวัฒนะ 1 แยก 6
ในวันและเวลาดังกล่าว จะเป็นช่วงที่นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกดัง และแกนนำกลุ่ม CARE ประกาศให้เวลา 11 นาที ให้คนมาขว้างอุจจาระใส่เขา ตามคำท้าที่เขาทวีตไว้ก่อนมีการฟอร์มรัฐบาลว่า หากพรรคเพื่อไทยไปจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มรัฐบาลเก่า ‘ผิดไปจากนี้ ผมให้เอาขี้ปาหัว’
ดวงฤทธิ์อธิบายเพิ่มเติมในรายการ ‘กรรมกรข่าว คุยนอกจอ’ เมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า เขาตัดสินใจทำตามคำพูดเพื่อขอคืนอิสรภาพให้ตนเอง และเขาได้สอบถามทาง กทม. เพื่อขออุจจาระจากรถสูบส้วมแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นเรื่องส่วนตัวจึงอนุญาตไม่ได้ กิจกรรมในวันดังกล่าวจึงจะใช้อุจจาระวัวแทน แต่หากใครจะเตรียมอุจจาระมาเองก็ได้
“เราอยากทำให้สังคมเห็นว่ามันก็มีนะ คนไทยที่พูดแบบนี้ ตรงไปตรงมา แล้วก็ทำ”
“ผมรู้สึกตลอดเวลาว่าการทวงถามตลอดเวลา ทำให้ผมไม่มีอิสระในการสื่อสาร ผมคิดว่าวันแรกที่ผมพูดไป ผมมีอิสระเลยที่จะสื่อสาร ผมอยากจะพูดอะไรผมก็พูด ตอนนี้ผมพูดอะไรไม่ได้เลย เพราะทุกครั้งที่พูดไปคนจะถามว่า เมื่อไหร่จะปาขี้” ดวงฤทธิ์กล่าว
แม้จะแปลกและอาจให้ความรู้สึกน่ารังเกียจ แต่อุจจาระเป็นหนึ่งในตัวละครของการเมืองไทยในหน้าข่าวมาแล้วหลายครั้ง วีโอเอไทยหยิบยกเรื่องราวของคนการเมืองและอุจจาระในหน้าข่าวมาเล่า ก่อนถึงเหตุการณ์ ‘ปาขี้’ ครั้งล่าสุดของคนหนึ่งคน ที่มีผลจากการเมืองในสภา
นายอุทัย พิมพ์ใจชน (พ.ศ. 2537)
กรณีของนายอุทัย พิมพ์ใจชน มักเป็นเรื่องที่ถูกนึกถึงเมื่อพูดถึงเรื่องอุจจาระกับการเมือง เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2537 เมื่อนายธนิต สุวรรณเมนะ ติวเตอร์ชื่อดังจากย่านรามคำแหง บุกเข้าไปยังที่ทำการกระทรวงพาณิชย์ที่อุทัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอยู่ ณ ขณะนั้น แล้วปาถุงบรรจุอุจจาระใส่หน้านายอุทัยที่กำลังแถลงข่าวกรณีการพักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ท่านหนึ่งที่ดำรงตำแหน่งมาหลายปี
นายอุทัยให้สัมภาษณ์มติชนทีวีถึงเรื่องราวในวันนั้น โดยเล่าว่าการสั่งพักงานดังกล่าวทำให้มีปัญหาในการบริหารกระทรวง คิดว่ามีความไม่พอใจแน่ แต่ไม่รู้ว่าความไม่พอใจจะออกมาแบบไหน จนกระทั่งวันที่แถลงข่าวก็ถูกนายธนิตบุกเข้ามาปาถุงอุจจาระใส่
อุทัยเล่าต่อไปว่าไม่ได้รู้จักนายธนิตมาก่อนและก็ไม่ได้ถือสาเอาความ ทั้งยังบอกหน่วยรักษาความปลอดภัยที่เข้ามาจับกุมตัวนายธนิตว่าอย่าไปกระทืบเขา ต่อมา นายธนิตและครอบครัวได้นำดอกไม้ธูปเทียนมาขอขมานายอุทัย
หนึ่งสัปดาห์หลังเหตุการณ์ มีการขอให้รัฐสภามีมติประณามการกระทำของนายธนิต โดย ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จาก จ.ราชบุรี กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่เพียงทำลายศักดิ์ศรี เกียรติภูมิของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร แต่ยังเป็น “ตัวอย่างที่ไม่ดี"
“นั่นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เป็นตัวอย่างที่ชั่วร้าย ที่ไม่น่าจะได้รับการยกย่องจากสังคม แต่ก็ยังมีคนเอาดอกไม้ไปให้ ถ้าเราปล่อยเรื่องนี้ผ่านไปโดยไม่ใส่ใจ ผมคิดว่าจะเป็นตัวอย่างวัฒนธรรมทางการเมืองที่เลวทรามที่อาจจะเกิดขึ้นกับใครคนหนึ่งคนใดในสภาของเราในอนาคตข้างหน้า” เชาวรินกล่าว
ประธานสภาในขณะนั้น (มารุต บุนนาค) กล่าวว่า หากจะต้องให้สภามีมติ ก็ต้องมีผู้รับรองและต้องลงมติกัน จึงเห็นว่า แค่อภิปรายแสดงความรู้สึกก็เพียงพอแล้ว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พ.ศ.2551-2553)
แม้ไม่โดนเข้าที่เนื้อตัวแบบตรงๆ แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือหนึ่งในคนการเมืองที่ตกเป็นเป้าของอุจจาระอยู่หลายครั้ง โดยมีเหตุผลจากทั้งประเด็นทางการเมืองและเรื่องส่วนตัว
ปี 2551 (ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน): ขณะที่นายอภิสิทธิ์กำลังเดินทางกลับกรุงเทพฯ หลังปฏิบัติหน้าที่ที่ จ.ยโสธรและ จ.ศรีสะเกษ ก็ถูกชายสองคนขับรถจักรยานยนต์สวนมา แล้วปาถุงบรรจุอุจจาระใส่หน้ารถตู้ของคณะเดินทางจนถุงพลาสติกแตกกระจายเต็มหน้ารถ จากนั้นมือปาก็ขับรถหนีไป
ปี 2552 (ดำรงตำแหน่งนายกฯ) กลุ่มคนเสื้อแดงมาชุมนุมประท้วงขับไล่นายอภิสิทธิ์ที่หน้าเทศบาล ต.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ที่เดินทางมาพบปะประชาชนและมอบนโยบายประกันราคาพืชผลเกษตรให้กับเกษตรกร ข้อมูลจากมติชนรายงานว่า โดยผู้ชุมนุมได้ขว้างปาสิ่งของใส่ขบวนรถที่กำลังฝ่ามวลชนออกจากพื้นที่ โดยสิ่งของที่ปามีทั้งถุงบรรจุปลาร้าผสมมูลสัตว์ ถุงอุจจาระ ขวดน้ำ ก้อนหิน และอื่นๆ
ปี 2553 (ดำรงตำแหน่งนายกฯ) เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ ปีดังกล่าว นายวิวิทวิน เตียวสวัสดิ์ พ่อค้าวัตถุโบราณ ได้ปาอุจจาระใส่บ้านนายอภิสิทธิ์ในกรุงเทพฯ สื่อผู้จัดการรายงานว่า นายวิวิทวินต้องการร้องขอความเป็นธรรม เพราะเคยร้องเรียนต่อตำรวจให้ดำเนินคดีข้อหาพยายามฆ่ากับเพื่อนบ้านที่ชอบมั่วสุมสูบบุหรี่ จนทำให้ลูกสาวคนโตต้องล้มป่วยบ่อยครั้งเนื่องจากมีอาการป่วยเกี่ยวกับระบบหายใจ แต่ตำรวจกลับไม่ดำเนินการอะไรให้ และการไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน
อีกราว 1 เดือนต่อมา มีคนขี่จักรยานยนต์มาขว้างมูลวัวใส่บ้านของนายอภิสิทธิ์ ในเวลาต่อมา สำนักข่าวไทยรายงานว่า ตำรวจ สน.ทองหล่อสามารถจับกุมนายคำพอง ซามาตร์ ชาว จ.นครพนม ผู้ก่อเหตุได้ โดยนายคำพองให้เหตุผลว่าทำไปเพราะต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตำรวจในพื้นที่ จ.นครพนม ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย และส่วนตัวนั้นตนชื่นชอบกลุ่มคนเสื้อแดง
ประท้วงพรรคภูมิใจไทย (พ.ศ. 2566)
เมื่อ 13 สิงหาคม 2566 มีประชาชนจัดการเดินสายชุมนุม หรือ ‘คาร์ม็อบ’ ในกรุงเทพฯ แล้วไปจบ ณ ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย เพื่อแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยที่พรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย
มติชนรายงานว่า ในที่ชุมนุมมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และปัญหาที่เกิดจากนโยบายกัญชาถูกกฎหมาย
หลังการปราศรัย นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และผู้ร่วมชุมนุมคนอื่น ได้จุดไฟเผามวนกัญชาจำลองที่ทำจากกระดาษบรรจุอุจจาระแมว แล้วโยนข้ามรั้วไปยังที่ทำการพรรค
ย้อนกลับไปที่การอภิปรายของ ร.ต.ท.เชาวริน หลายท่านอาจจะมีบทสรุปที่แตกต่างกันไปว่าการใช้อุจจาระในทางการเมือง คือ ‘วัฒนธรรมที่เลวทราม’ หรือไม่ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นายดวงฤทธิ์ คงเป็นคนแรกที่ตกเป็นเป้าหมายของการเปรอะเปื้อนแบบสมัครใจ ในนามของการ ‘พูดแล้วทำ’
- รวบรวมข้อมูลจาก: มติชน, ผู้จัดการ, ไทยรัฐ, คลังสารสนเทศ สถาบันนิติบัญญัติ สำนักข่าวไทย