Your browser doesn’t support HTML5
กลายเป็นประเด็นร้อนอิงการเมืองที่รับความสนใจบนโลกโชเชียลในประเทศไทย เมื่อกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่ม “โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย” บนเฟสบุ๊คมีสมาชิกทะลุ 1 ล้านคนในเวลาเพียงราวสองสัปดาห์
กลุ่มดังกล่าวเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความคิดของคนไทยบางส่วนที่ตั้งคำถามกับคุณภาพชีวิตของตนเองในประเทศและต้องการแสวงหาโอกาสที่ประเทศอื่น ที่พวกเขาเห็นว่าน่าจะตอบโจทย์ ตนเองมากกว่า
ประสบการณ์ของไทยที่ย้ายมาตั้งรกรากในนิวยอร์ก
หนึ่งในประเทศที่มีการโพสถึงมากที่สุด คือ สหรัฐฯ ทางวีโอเอจึงสัมภาษณ์ ชัชวาล สายอยู่ คนไทยที่ทำอาชีพในภาคบริการมากว่าสิบปีในนครนิวยอร์ก โดยเริ่มต้นจากการเป็นพนักงานทำความสะอาดที่โรงแรมด้วยโครงการ Work and Travel ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ตอนอายุ 19 ปี
“ณ ตอนช่วงนั้น ต้องบอกว่าหนักมากเพราะเป็นงานที่เราไม่เคยทำมาก่อน คือจะต้องทำความสะอาดเปลี่ยนผ้าปู ดูดฝุ่น เช็ดกระจกทุกอย่างในโรงแรมนะครับ ห้องมีหลายไซส์มาก ทำตั้งแต่ 10 โมงเช้า จนถึง 5 โมงเย็น ถ้าย้อนเวลากลับไปก็ชั่วโมงละ 5 ดอลลอร์สหรัฐฯ พอหักภาษีก็เหลือปุ๊บ 3 ดอลลาร์”
หลังทำงาน Work and Travel ข้างต้นเสร็จ ชัชวาลก็กลับไทยเพื่อไปคว้าใบปริญญา จากนั้นตัดสินมาที่นิวยอร์กเพื่อทำงานร้านอาหารในตำแหน่งต่างๆตั้งแต่เด็กล้างจานจนได้เลื่อนขั้นมาเรื่อยๆถึงตำแหน่งผู้จัดการ
“หนักมากครับสำหรับคนที่ไม่เคยทำร้านอาหารเลย ลองยืนโดยที่ไม่ได้นั่งเลยอ่ะ 12 ชั่วโมง ทำได้ไหม?....ความเหนื่อย ความลำบาก เรื่องอากาศ เรื่องอาหารการกิน ทั้งวัฒนธรรม culture ต่างๆ ช่วงนี้ก็มีปัญหาของ Asian Hate Crimes ด้วย....อยากมาหาประสบการณ์ก็มาได้ครับ แต่ว่ามาแล้วเนี่ย คุณจะอยู่ได้รึเปล่ามันอีกเรื่องนึง ต่างบ้าน ต่างเมือง มันไม่สุขสบาย ไม่ได้สวยอย่างที่คุณคิด...เป็นประชากรชั้นสองของประเทศเขา....ส่วนตัวนะครับ คือที่ไหนก็ไม่สุขเท่าบ้านเราจริงๆ….ผมคิดว่ามันแค่เป็นอารมณ์แค่ชั่ววูบของเมืองไทยรึเปล่า วิกฤตการทางการเมืองรึเปล่า ที่ทำใหัคุณพูดประชดประชัดกัน อยากย้ายมาที่นี่”
สำหรับคนไทยอีกคนที่อย่าง อัจจิมา ฟาลโค เธอมีปริญญาตรีด้านกราฟิกดีไซน์แต่รู้สึกว่าไม่โอกาสโตในอาชีพการงานที่เมืองไทยจึงเดินทางเข้าสหรัฐฯเพื่อมายกระดับทักษะภาษาอังกฤษ
สุดท้ายก็ค้นพบว่าชอบทำงานสักคิ้วจึงตัดสินใจเรียนหลักสูตรด้านความงามและเช่าพื้นที่เล็กๆเพื่อรับลูกค้า หลังจากประสบความสำเร็จ เธอจึงขยายกิจการให้มีระดับมากขึ้นและเปิดร้านในย่านหรูของนครนิวยอร์ก
“เราบอกว่าเราเริ่มจากศูนย์เลยดีกว่า มาด้วยตัวเอง เราก็รู้สึกภูมิใจ...เราลงเรียนกับโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนสักคิ้วของฝรั่ง แต่เราเห็นว่าคนที่ไทยสักคิ้วสวยกว่า แต่ที่เราเรียนไปแล้ว ก็เสียตังค์ไปตั้งหลายพันเหรียญแต่กลับเอาไปใช้ไม่ได้ เราก็เลยกลับไปเรียนที่ไทย พอเรียนเสร็จแล้วก็กลับมาที่นี่มาสอบเอา license แล้วก็เปิดร้าน...ตอนแรกเราก็ไปเช่าห้องก่อน ห้องเป็นการแชร์กับ doctor’s office ในย่านไทม์สแควร์ก่อน เช่าเป็นรายวัน เป็นรายอาทิตย์...พอลูกค้าบุ๊คมากขึ้น เราก็คิดเรื่องค่าใช้จ่าย หลักเดือนมัน เห้ย มันแพง เลยออกมาหาโลเคชั่นเอง เพราะเรามีลูกค้าเยอะขึ้น เราสามารถจ่ายได้ ...เราสนับสนุนให้คนไทยที่คิดว่าเขาสามารถไปได้ ไปหาโอกาสที่ดีกว่า ไปได้ทำอนาคตที่ดีกว่า ถ้าไปได้ ไปเลย แต่ถ้าคนที่ต้องมากู้หนี้ยืมสินเพื่อไปตายเอาดาบหน้า คุณอาจจะตายจริงๆ”
ข้อคิดสำหรับคนที่คิดจะมาเป็น ‘โรบินฮู้ด’ ในต่างแดน
ส่วนเรื่องการมาเป็น “โรบินฮู้ด” หรือ การเดินทางมาตั้งรกรากและทำงานในสหรัฐฯโดยไม่มีวีซ่ารับรองการทำงานตามกฏหมาย คนไทยทั้งสองได้เตือนคนที่คิดที่จะมาว่าด้วยวิธีดังกล่าวว่า
“การที่คุณจะโรบินฮู้ด คุณจะต้องมีความพร้อม สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะว่าในบางเรื่องคุณก็ไม่สามารถทำได้ อย่างการขับรถ การเข้าไปร่ำเรียนในสถานศึกษาที่ดีๆ การทำงานในองค์กรที่ดีๆ คุณก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่ถ้าคุณอยากมาเป็นคนใช้แรงงาน มาเป็นกรรมกรอย่างนี้ มันก็จะมีโอกาสให้คุณ” ชัชวาลกล่าว
ส่วน อัจจิมา บอกว่า “จริงๆเราก็ไม่อยากไป judge เขานะ เขาควรหรือไม่ควรมันก็แล้วแต่ แต่ถ้าเป็นคนรู้จักนะ จะแนะนำว่า อย่าดีกว่า เพราะว่าผลในระยะยาว อย่างในอนาคต เกิดเขามีโอกาสทำตัวเขาให้มันถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ได้ เขาอาจจะไม่ได้โอกาสตรงนั้น หรืออาจจะได้หรือไม่ได้”
นักวิชาการอธิบายถึงปรากฏการณ์การย้ายประเทศ และ ผลกระทบ
ทั้งนี้ ดร. คริสโตเฟอร์ แองเคสัน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ด้านความสัมพันธ์หว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University’s Center for Global Affairs) ในสหรัฐฯ และอดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติที่เคยประจำอยู่ที่ประเทศไทย แสดงความคิดเห็นกับวีโอเอถึงปรากฏการณ์การย้ายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มเล็กหรือใหญ่ว่า
“การเยาวชนไทยที่ออกมาประท้วงในช่วงระยะเวลากว่าปีนึงที่ผ่านมานั้น สะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ คงไม่เกิดเเบบค่อยเป็นค่อยไป คนรุ่นใหม่ตั้งเป้าไว้สูง และผมคิดว่าพวกเขาคิดถูก ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงในประเด็นโครงสร้างที่ฝังรากลึก เช่น เรื่องสถาบันฯ ที่คิดว่ามีข้อจำกัดในการเเสดงความเห็น
พวกเขาเข้ามาพบว่ามี ล็อคเหล่านั้นอยู่ที่ต้องถอดออก ถ้าประเทศต้องการเดินหน้าอย่างจริงจัง เเละมีความเป็นประชาธิปไตย
ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้ เมื่อพบว่าการผลักดันไม่ทำให้เกิดความคืบหน้าในเรื่องที่สำคัญมากๆ เขาจึงโยนผ้า และล้มเลิกความตั้งใจและคิดที่จะไปหาอิสรภาพและโอกาสที่อื่นแทน”
ส่วนเมื่อมองถึงผลกระทบ ดร.แองเคอสันชี้ว่า ในระยะสั้น แรงกดดันจากกลุ่มคนเหล่านี้ หรือ คนที่ออกมาประท้วง ให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงก็จะหายไป เพราะเขาอาจจะย้ายไปอยู่ประเทศอื่น
และในระยะยาว ประเทศไทยก็อาจจะมีประชากรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพในการพัฒนาชาติน้อยลง
(เรื่องและภาพ โดยผู้สื่อข่าววีโอเอ จณิน ภักดีธรรม จากนครนิวยอร์ก)