สื่อ-นักวิเคราะห์ห่วงปม ‘ไทยพีบีเอส’ ลบข่าว รมต.ไต้หวัน หลังจีนกดดัน

  • VOA

โจเซฟ อู๋ รมว.กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน (แฟ้มภาพ)

ผู้สังเกตการณ์ นักข่าว และนักวิชาการ วิจารณ์กรณีสถานีข่าว ‘ไทยพีบีเอส’ ลบบทสัมภาษณ์ รมต.ต่างประเทศไต้หวัน หลังจากสถานทูตจีนออกโรงแสดงความไม่พอใจ สะท้อนความต้องการคุมสื่อในประเทศอื่นของรัฐบาลปักกิ่ง

เมื่อ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของโจเซฟ อู๋ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน โดยรัฐมนตรีอู๋ได้วิจารณ์จีนในกรณีการกดดันให้ไต้หวันกลับไปรวมกับจีนแผ่นดินใหญ่ และเนื้อหาดังกล่าวก็ได้ถูกเผยแพร่ในแพลตฟอร์มยูทูบเช่นกัน

ในวันที่ 11 พฤศจิกายน สถานทูตจีนประจำกรุงเทพมหานคร เผยแพร่แถลงการณ์บนช่องทางเฟซบุุ๊ก วิจารณ์บทสัมภาษณ์ดังกล่าว โดยเรียก รมต.อู๋ ว่าเป็น “ผู้แบ่งแยกดินแดน” และสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นคำพูดที่ไร้สาระ ไม่คุ้มค่าที่จะหักล้าง

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า “ส่วนสื่อนี้ได้เสนอเวทีที่เผยแพร่คำพูดที่เหลวไหลให้แก่คนที่คิดจะแบ่งแยกไต้หวันออกจากจีน ซึ่งทำลายผลประโยชน์ของประเทศจีน และทำร้ายความรู้สึกของประชาชนจีน ฝ่ายจีนต้องแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำอย่างนี้อย่างรุนแรง” แต่ไม่ได้ระบุชื่อของสื่อใดเป็นการเฉพาะเจาะจง

ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ของสถานทูตจีนระบุว่า “การกระทำที่ทำร้ายประเทศอื่น ๆ และประชาชนของประเทศอื่น ๆ โดยใช้เสรีภาพของสื่อเป็นข้ออ้าง ไม่ว่าเป็นการกระทำใดๆ ก็ตาม ล้วนเป็นการใช้เสรีภาพของสื่ออย่างพร่ำเพรื่อ”

ไม่นานหลังจากมีแถลงการณ์ บทสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีไต้หวันในสื่อไทยพีบีเอสก็หายไปจากช่องยูทูบของสถานีโดยไม่มีการชี้แจงใด ๆ

ด้านกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งวุฒิสภา ได้เผยแพร่แถลงการณ์เมื่อ 21 พฤศจิกายน เอ่ยถึงบทสัมภาษณ์ของรมต.อู๋ในไทยพีบีเอสอย่างเฉพาะเจาะจง และแสดงความไม่สบายใจต่อกรณีดังกล่าว เนื่องจากอาจกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน

ทาง กมธ. ยังเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนยึดมั่นในหลักการจีนเดียว และรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และยึดมั่นในถ้อยคำที่ว่า “จีนไทยมิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

ด้าน รมต.อู๋ ได้แสดงความเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ X เกี่ยวกับการลบบทสัมภาษณ์ดังกล่าว โดยระบุว่า การที่จีนวิจารณ์สื่อไทยเช่นนั้นถือเป็นเรื่องตลก และกล่าวด้วยว่า “จีนติดอันดับที่ย่ำแย่ที่สุดในเรื่องเสรีภาพสื่อ แต่มาสั่งสอนสื่อในไทยว่าจะมีเสรีภาพได้อย่างไร”

ทั้งนี้ ไทยและอีก 180 ประเทศทั่วโลก ยอมรับหลักการจีนเดียว ที่ระบุว่ามีรัฐเอกราชที่ใช้ชื่อว่าจีนเพียงหนึ่งเดียว แต่ตามความเข้าใจของบางประเทศอย่างสหรัฐฯ รวมถึงบางชาติ ก็ยังคงมีพื้นที่ของความคลุมเครือในเรื่องสถานะของไต้หวัน ซึ่งเป็นเกาะที่มีประชากร 23 ล้านคนและมีรัฐบาลเป็นของตนเอง

รศ.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับวีโอเอว่า การลบบทสัมภาษณ์เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ เนื่องจากจีนเชื่อว่าไทยพีบีเอสอยู่ภายใต้แรงกดดันจากรัฐบาล และทางรัฐบาลไทยเองก็ยอมรับหลักการจีนเดียว

ไทยพีบีเอสก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 ด้วยพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยเป็นสื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศ กฎหมายฉบับนี้รับรองความเป็นอิสระและความเป็นสาธารณะของสถานี และได้รับจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีมาจากภาษีสุราและยาสูบ ไม่ใช่การได้รับงบโดยตรงจากรัฐบาล

เจมีมาห์ สไตน์ฟิลด์ บรรณาธิการใหญ่ จากกลุ่ม Index on Censorship ซึ่งเป็นองค์กรด้านเสรีภาพการแสดงออก มองว่าการระงับการเผยแพร่เนื้อหาของไทยพีบีเอส “สร้างความเสียหาย” ให้กับประเทศไทย

สไตน์ฟิลด์กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าเศร้าที่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่แขนยืดยาวของรัฐบาลปักกิ่งเอื้อมมาถึงไทย” และกล่าวด้วยว่า สิ่งที่จีนทำครั้งนี้เข้ากับรูปแบบการแทรกแซงสื่อในประเทศอื่น ๆ เพื่อควบคุมการนำเสนอเนื้อหา

บรรณาธิการใหญ่จาก Index on Censorship ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อปี 2020 ที่จีนเรียกร้องให้หนังสือพิมพ์ในเดนมาร์กออกมาขอโทษในกรณีการ์ตูนที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 นอกจากนั้นยังมีนักข่าวชาวดัตช์อีกนึ่งราย ระบุในปี 2023 ว่าเธอตกเป็นเป้าการโจมตี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อไม่ให้เธอรายงานข่าวเกี่ยวกับการคุกคามจากรัฐบาลจีนที่เกิดขึ้นในต่างแดน

ข้อมูลจากรายงานประจำปี ค.ศ.2022 ขององค์กร Freedom House ระบุว่า จีนได้พยายามเข้ามามีอิทธิพลกับสื่อในประเทศประชาธิปไตย 18 จาก 30 ชาติที่มีการทำการศึกษา แต่ไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มกรณีศึกษาข้างต้น

แต่ในปี 2021 มีรายงานว่านักธุรกิจจากจีนสองรายได้ติดต่อสำนักพิมพ์นิสิตสามย่านที่ตั้งอยู่ในไทย และมีข้อเสนอให้ปิดสำนักพิมพ์เพื่อแลกกับเงินก้อนหนึ่ง โดยสำนักพิมพ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักจากการตีพิมพ์หนังสือและงานแปลที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเนื้อหาที่ตั้งคำถามต่อรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งท้ายที่สุด สำนักพิมพ์สามย่านได้ปฏิเสธข้อเสนอของนักธุรกิจจีนทั้งสอง

ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวจากสำนักข่าว ข่าวสดอิงลิช สื่อภาษาอังกฤษที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ระบุว่าการลบบทสัมภาษณ์ของไทยพีบีเอสเป็นเรื่องที่น่าห่วงกังวล และจะมีผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจที่สื่อและชาวไทยที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยมีต่อจีน

ประวิตรกล่าวด้วยว่า “ผมคิดว่าสิ่งที่สถานทูตจีนไม่รับรู้ หรือไม่ใส่ใจที่จะรับรู้ก็คือ สื่อไทยไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังรัฐบาลไทยเสมอไป”

  • ที่มา: VOA