50 ปีวันคุ้มครองโลก: พระสงฆ์ไทยใช้ "ตู้กับข้าว" บิณฑบาต ลดขยะเป็นศูนย์

Buddhist monks at Pa Book Temple in Lamphun, Thailand, use a mobile food cabinet to collect alms.

Your browser doesn’t support HTML5

Thai Zero Waste Earth Day

วันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็นวันเอิร์ธ เดย์ (Earth Day) หรือวันคุ้มครองโลก ในโอกาสครบรอบ 50 ปีวันคุ้มครองโลกในปีนี้ วีโอเอ มีรายงานพิเศษจากภูมิภาคเอเชีย เพื่อให้เห็นถึงความพยายามของผู้คนในหลายประเทศที่จะลดและจัดการกับขยะที่สร้างปัญหาใหญ่ให้กับสิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคม

Your browser doesn’t support HTML5

บิณฑบาต Zero Waste: วัดไทยขยะลด งดรับถุง ด้วย 'ตู้กับข้าวติดล้อ'

สิ่งคุ้นหูคุ้นตาในหมู่บ้านป่าบุก ชุมชนขนาด 90 หลังคาเรือนใน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน คือเสียงตีฆ้อง บ่งบอกช่วงเวลาบิณฑบาต และรถเข็นตู้กับข้าว ที่ได้กลายมาเป็นนวัตกรรมสำคัญในการลดขยะพลาสติกของชุมชน

ทุกเช้า เจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสวัดป่าบุกจะนำรถเข็นตู้กับข้าว ที่มีถ้วยจาน ชาม อยู่ข้างใน มารับเอาอาหารจากชาวบ้าน เป็นการรณรงค์ไม่ให้ญาติโยมนำอาหารใส่ถุงพลาสติก ที่กลายเป็นขยะสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม

“ตั้งแต่ใช้ตู้กับข้าวมา เราเอาถ้วยไปเปลี่ยน มันจะลดปัญหาถุงพลาสติกได้เยอะเลย ถ้ามีคนเอาถุงมา เขา (ชาวบ้าน) ก็จะเตือนกันเอง ช่วงหลัง ๆ นี่ก็คือเป็นศูนย์ไปเลย พลาสติก”

Buddhist monks at Pa Book Temple in Lamphun, Thailand, use a mobile food cabinet to collect alms.

พระสมุห์ณัฐธีร์ สุขวฑฒโก รองเจ้าอาวาสวัดป่าบุกเล่าว่า นอกจากจะลดขยะถุงพลาสติกแล้ว พระยังแบ่งโซนนิ่งเส้นทางในหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดการตักบาตรอย่างพอเพียงทั้งผู้ให้และผู้รับ และไม่ให้เกิดขยะเปียกสะสม

“เมื่อก่อนพระสงฆ์สามเณรวัดป่าบุกจะเยอะ หลัง ๆ มาพระ สามเณรลดน้อยลง เราก็ลดปริมาณอาหารที่เราบิณฑบาตได้ ก็เลยแบ่งสาย แบ่งสายการบิณฑบาตเป็นหกสาย ก็เวียนกันไป เป็นการลดค่าใช้จ่ายของคนในหมู่บ้านด้วย เจ็ดวันจะได้ใส่บาตรหนึ่งครั้ง”

หลังจากที่ออกบิณฑบาตโดยใช้ตู้กับข้าวเคลื่อนที่ จนได้ฉายา “นักบิณฑ์พิชิตโลกร้อน” พระสมุห์ณัฐธีร์ หรือ “ตุ๊เล็ก” บอกว่าวัดป่าบุกในวันนี้ แทบจะไม่มีขยะพลาสติก เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นหลายปี ก่อนที่การรณรงค์ “ประเทศไทยไร้ขยะ” หรือ ซีโร่ เวสต์ (Zero Waste) จะแพร่หลายอย่างในปัจจุบัน

“เฉพาะของวัดป่าบุก หนึ่งปี เราลดได้เจ็ดพันกว่าถุง ตอนนั้นคือยังไม่มีเลย ซีโร่ เวสต์ แต่เราทำก่อน ซีโร่ เวสต์ มาแล้ว”

A sign is erected to celebrate the community's zero waste achievement at Pa Book village, Thailand

ในประเทศไทย หลายภาคส่วนมีความตื่นตัวกันมากขึ้น ในการลดใช้ถุงพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อเริ่มงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่ทางการหวังว่าจะช่วยลดถุงพลาสติกได้ 9,000 ล้านใบภายในสิ้นปี

แต่การลดขยะและขยะพลาสติกยังคงเป็นปัญหาใหญ่ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยใช้ถุงพลาสติกโดยเฉลี่ยมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี ขยะพลาสติกมีประมาณ 2 ล้านตัน จากปริมาณขยะทั้งหมดในประเทศ 28 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก

Pa Book Temple's Buddhist monks use a mobile food cabinet to collect alms to reduce plastic waste.

รองเจ้าอาวาสวัดป่าบุกมองว่า การลดปริมาณขยะอย่างมีนัยยะและยั่งยืน สามารถเริ่มต้นได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และวิถีชีวิตในระดับเล็ก ๆ ของสังคม เช่น จากครอบครัว โรงเรียน และชุมชน

ด้าน สนั่น สมจันทร์​ ผู้ใหญ่บ้านป่าบุก เล่าว่าความพยายามและความสำเร็จของวัด ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนหันมาจัดการกับขยะในหมู่บ้าน

“แรกเริ่มเดิมที มีที่ว่าง มีข้างถนนไหน ก็ทิ้งกัน แบบไม่สนใจใยดี ไม่คิดถึงชุมชน และไม่คิดถึงอนาคตของชุมชนในวันหน้าข้าง ตอนนี้ไม่ว่าจะเดินไปที่ไหน ป่าบุกทุกตารางนิ้วสะดวกสบาย ลดปริมาณขยะ แยกทุกอย่าง”

Pa Book resident Saisupan Maneekan shows a broken rice cooker that has been repurposed as a planter.

ทุกวันนี้หมู่บ้านป่าบุกเป็น “ต้นแบบชุมชนปลอดขยะ” ที่ได้รับรางวัลระดับชาติมากมาย และยังมีแขกทั้งไทยและเทศแวะเวียนมาศึกษาดูงานไม่ขาดสาย

แต่ละบ้านทำการคัดแยกขยะกันเอง โดยนำเศษอาหารและเศษใบไม้มาทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดเลิกการเผา ขยะพลาสติก แก้ว กระป๋อง ถูกแยกไว้รีไซเคิล และมีการนำของใช้ในบ้านที่ผุพัง หรือใช้การไม่ได้แล้ว เช่น หม้อหุงข้าว ถุงผงซักฟอก หรือตะกร้าจักรยาน มาดัดแปลงเป็นกระถางปลูกพืชผักสวนครัว เป็นต้น

ป่าบุกยังมี “สารวัตรขยะ” หรือเยาวชนในหมู่บ้านที่ช่วยเก็บขยะ และรักษาความสะอาดในชุมชนทุกสัปดาห์

Wittaya Noisapung, 54, Pa Book resident, supports zero waste campaign pioneered by Pa Book Temple.

นายวิทยา น้อยสะปุ๋ง ชาวบ้านป่าบุกบอกว่าสิ่งที่เขาภูมิใจยิ่งกว่ารางวัลทั้งหลาย คือการได้เห็นชุมชนร่วมมือกันและรักษาความสะอาดอย่างแข็งขันยิ่งกว่าก่อน เขามองว่าความสำเร็จของป่าบุก สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกชุมชน หากทุกคนเริ่มต้นที่ตัวเอง

“แนวความคิดที่ว่า เราทำแค่คนเดียว คนทั้งโลกเขาไม่ทำกัน เราไม่ต้องไปเปรียบเทียบแบบนั้นหรอก เอาตัวเราว่าดีกว่า ถ้าเราเริ่มทำสักคนหนึ่ง สิ่งต่าง ๆ ก็จะตามมา”

หลายคนยกคุณงามความดีของหมู่บ้านป่าบุกปลอดขยะในวันนี้ ให้กับ รถเข็นตู้กับข้าว ที่เจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาส พระสงฆ์ที่เหลือเพียง 2 รูปของวัดป่าบุกบอกว่าจะยังใช้บิณฑบาตต่อไป เพราะยิ่งใช้นานเท่าไหร่ ยิ่งลดขยะพลาสติกได้มากขึ้นเท่านั้น

วรางคณา ชมชื่น VOA Thai รายงานจากบ้านป่าบุก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน