สื่อต่างประเทศรายงานข่าวกรณีที่ ไอซ-รักชนก ศรีนอก ส.ส.พรรคก้าวไกลและอดีตนักเคลื่อนไหว ถูกศาลตัดสินจำคุก 6 ปีไม่รอลงอาญาเมื่อวันพุธ จากข้อหาหมิ่นสถาบันและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปมโพสต์รีทวิตและทวีตในโซเชียลที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบัน
รอยเตอร์รายงานว่า น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส.ก้าวไกล วัย 29 ปี มีความผิดจาก 2 โพสต์เมื่อปี 2020 ในแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ X อ้างอิงจากคำตัดสินของศาลเมื่อวันพุธ
ด้านอัลจาซีราห์รายงานว่า ส.ส.หญิงพรรคก้าวไกล ถูกตัดสินคำคุก 6 ปีจากความผิดฐานดูหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเธอปฏิเสธถูกข้อกล่าวหา
โพสต์ที่เป็นประเด็น คือ น.ส.รักชนกได้ทวีตบนแพลตฟอร์ม X ได้กล่าวหารัฐบาลในการใช้การแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของราชวงศ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาลพิจารณาว่าเข้าจ่ายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ และอีกโพสต์เป็นการรีทวีตคำพูดต่อต้านสถาบันโดยนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 บนแพลตฟอร์ม X ตามรายงานของเอพี
Your browser doesn’t support HTML5
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์รายงานว่า ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวส.ส.หญิงจากพรรคก้าวไกลชั่วคราว วงเงินประกัน 500,000 โดยมีเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการหรือร่วมกิจกรรมลักษณะเดียวกันกับข้อหาตามคำฟ้องและหรือมีพฤติการณ์ใด ๆ ในลักษณะและข้อหาเดียวกัน ซึ่งเปิดทางให้เธอกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในสภาได้ ตามการเปิดเผยของทนายความของน.ส.รักชนก
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นหนึ่งในกฎหมายที่เข้มงวดที่สุดในโลก เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์จากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยมีโทษจำคุก 15 ปี ซึ่งบรรดาผู้ที่คัดค้านกฎหมายดังกล่าวมองว่าสิ่งนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือในการปิดปากผู้เห็นต่าง ขณะที่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในไทยก็ถูกวิจารณ์โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นการหยิบยื่นอำนาจให้กับทางการในการกีดกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามรายงานของอัลจาซีราห์
ที่ผ่านมา ได้มีการตั้งข้อหาผู้กระทำผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 มากขึ้นเรื่อย ๆ และนำไปสู่การประท้วงเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเมื่อปี 2020
น.ส.รักชนก เคยเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และผลักดันการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วงการการเมืองในสังกัดพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบัน และได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ในสภา ตามรายงานของบลูมเบิร์ก
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีผู้คนอย่างน้อย 262 คนที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นสถาบัน ตั้งแต่ปี 2020
- ที่มา: รอยเตอร์, เอพี, อัลจาซีราห์, บลูมเบิร์ก