Your browser doesn’t support HTML5
หลังการเริ่มกระบวนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในสหรัฐฯ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นกลุ่มแรกที่ทยอยได้รับวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค (Pfizer/BioNTech) ไปแล้วส่วนหนี่ง
จักรี กั้วกำจัด พยาบาลผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกอาวุโสประจำโรงพยาบาล South County รัฐโรดไอแลนด์ ถือเป็นบุคลากรทางการแพทย์เชื้อสายไทย รายแรกๆที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งรัฐโรดไอแลนด์ เป็นหนึ่งใน 4 รัฐนำร่อง คือ เท็กซัส นิวเม็กซิโก และเทนเนสซี ที่จะได้รับวัคซีนก่อนที่อื่นๆมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
“เราเป็นกลุ่มเสี่ยง บุคลากรด้านสาธารณสุข หรือ คนทำงานทางการแพทย์ เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต้องสัมผัสติดต่อกับคนไข้ ต้องดูแลคนไข้โดยตรง อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อได้ง่าย เราเลยได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ เป็นโดสแรก มันต้องใช้เวลาอีก 14 วันหรือ 2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีอาการแพ้อะไรก็จะได้รับโดสที่สอง ในอีก 14 วัน”
เช่นเดียวกับ นันทกา คูหาทอง ผู้ช่วยพยาบาล แผนกพักฟื้น- สถานดูแลผู้สูงอายุ Vinson Hall Retirement ของมูลนิธิ Navy and Coastguard ชานกรุงวอชิงตัน ก็เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเช่นกัน
“เป็นกลุ่มแรกค่ะ ก็จะเป็นแผนกแรกที่จะได้รับ (วัคซีน) แต่จริงๆแล้วแผนกแรกคือกลุ่มดูแลระยะยาว (Long Term Care) แต่ตอนนี้ก็ย้ายให้ตัวเองมาอยู่แผนกนี้ และเราจะได้วัคซีนก่อน แต่ก่อนจะได้วัคซีนเขาก็ให้แบบฟอร์มมาให้เราซักถามข้อมูลส่วนตัว อาการแพ้ยา หรือประวัติการติดเชื้อโควิดหรือไม่"
ขณะที่ความกังงวลในเรื่องผลข้างเคียงหลังจากการฉีดวัคซีนโควิดนั้น นันทกา บอกว่าไม่กังวลมากนัก
“จริงๆแล้วไม่กังวล เพราะว่ากลัวโควิด-19 มากกว่าที่จะกลัวฉีดวัคซีน อยากฉีดมาก เพราะรอมาตั้งนานแล้ว แต่บางคนที่ทำงาน ก็จะมีพยาบาลหลายคนที่ไม่ยอมฉีด เขาจะรอฉีดปีหน้า แต่ตัวเองคือกลัวโควิดมากกว่า ส่วนผลข้างเคียงมันจะไม่ใช่ทุกคนนะคะ จะมีประมาณร้อยละ 1 ของคนที่ฉีดวัคซีน จะเฉพาะคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ อย่างภูมิแพ้ แต่ถ้ามีอาการแพ้แค่กินอาหารแพ้ เช่นอาจจะมีอาการผื่น ก็ยังมีโอกาสฉีดได้”
ขณะที่ ระวี โรจน์รุ่งสัตย์ นักกายภาพบำบัดเชื้อสายไทย ที่นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนไปแล้วเช่นกัน เปิดเผยผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า หลังการได้รับวัคซีนเข็มแรกนั้น ไม่มีอาการข้างเคียงที่น่าเป็นห่วง
“มันมีความรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เป็นไข้ขึ้นมานิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้เป็นไข้อะไร แค่ประมาณว่าไปอาบน้ำกลับมาก็รู้สึกหายดีแล้ว และก็เมื่อคืนความระบมของแขน(ที่ฉีด) ในความรู้สึกผมก็ยังธรรมดาเหมือนฉีดฟลูช็อต (วัคซีนไข้หวัดใหญ่) ทั่วไป ส่วนคนอื่นๆมีพี่ๆคนไทยอีกประมาณเกือบ 10 คนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนครั้งนี้ ทุกคนมีความรู้สึกปกติไม่มีอาการแพ้ยาใดๆทั้งนั้น
"พอดูอีเมล์ของเครือ Advocate Aurora Health ที่ผมทำงานอยู่ด้วยประมาณ 6,000 คนที่ได้รับการฉีดวัคซีน มีรายงานว่ามีคนที่แสดงอาการแพ้ ประมาณ 4 คน มี 1 คนที่ต้องเข้าดูแลและเฝ้าสังเกตอาการจากคุณหมอ แต่อาการก็ดีขึ้นภายใน 6 ชั่วโมง ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงใดๆ" ระวี โรจน์รุ่งสัตย์ นักกายภาพบำบัดเชื้อสายไทย ที่นครชิคาโก กล่าว
จักรี กั้วกำจัด พยาบาลผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกอาวุโส ที่ รัฐโรดไอแลนด์ บอกเพิ่มเติมถึงการเตรียมตัวหลังการได้รับวัคซีน ว่า ยังคงต้องระมัดระวังในชุดป้องกันเหมือนเดิม จนกว่าจะมั่นใจได้ถึงภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากวัคซีน
“ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่า วัคซีนจะปลอดภัยขนาดไหน เพราะว่าเพิ่งได้รับวัคซีนเข็มแรกไป ยังไม่ได้ครบโดสที่ 2 แต่ทีนี่ขั้นตอนการปฏิบัติหลังจากที่เราได้รับวัคซีนก็ยังเหมือนเดิม มีการระมัดระวังเตรียมตัวล่วงหน้าเหมือนเดิม ใส่ชุดป้องกัน หน้ากากเหมือนเดิม ขั้นตอนการปฏิบัติจะไม่เปลี่ยนเลยหลังได้วัคซีน บางคนเข้าใจว่าการได้วัคซีน ก็จะมีภูมิคุ้มกันเลย จริงๆไม่ใช่ เพราะCDC ก็แนะนำว่าหลังจากวัคซีนให้ป้องกันเต็มที่เหมือนเดิม อยู่โรงพยาบาลก็ยังใส่หน้ากาก N-95 เพื่อป้องกันเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง”
จักรี บอกด้วยว่า แม้จะมีทางเลือกให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจเองว่าจะรับการงฉีดวัคซีนหรือไม่ แต่ก็ถือเป็นข้อบังคับในการทำงานที่จำเป็นต้องให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน
“คือสำหรับคนที่ปฏิเสธที่จะขอรับวัคซีน สามารถทำได้ แต่คุณจำเป็นต้องอยู่ที่บ้านมาทำงานตามปกติไม่ได้ เพราะเป็นข้อกำหนดของทางโรงพยาบาลที่จะเป็นต้องปฏิบัติ ถามว่ามีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์บางคนไม่รับวัคซีนหรือไม่ ตอบได้ว่ามี แต่ก็ต้องยื่นใบลา หรือ ขอขึ้นบัญชีว่างงานชั่วคราวไป เหมือนข้อกำหนดการฉีดวัคซีนประจำปี ที่ทุกคนจำเป็นต้องมีเอกสารรับรองการฉีด และทีนี้มันเป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) ซึ่งเป็นนโยบายของสถานพยายาลที่กำหนดให้ทุกคนต้องรับวัคซีน หากไม่ปฏิบัติตามก็ไม่สามารถให้เข้ามาทำงานได้”
บุคลากรด้านสาธารณสุขถือเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับวัคซีนชุดแรกในจำนวนเกือบ 3 ล้านโดส ในสหรัฐอเมริกา ขณะที่กลุ่มที่สองจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 75 ปีขึ้นไป ที่จะได้รับวัคซีน