วีโอเอไทยคุยกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองทั้งที่กลับไทยแล้วและยังไม่กลับ เพื่อสอบถามถึงชีวิต มุมมองต่อการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ และความคิดเรื่องการ “กลับบ้าน” ในขวบปีที่ 18 ของการรัฐประหาร 2549 ที่ผลักดันให้ผู้คิดต่างต้องเดินทางออกจากไทยหลายระลอก
นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประเทศไทยผ่านสารพัดผลพวงที่ตามมาจากความไม่ปกติในทางการเมือง การชุมนุมที่จบด้วยการบาดเจ็บ เสียชีวิต ที่จบลงด้วยการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557
ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว หนึ่งในผลพวงของความขัดแย้งที่ร้าวลึก คือจำนวนของคนไทยที่ตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ทั้งเพื่อหลบหนีภัยคุกคามทั้งในและนอกกฎหมาย
Your browser doesn’t support HTML5
ในวันครบรอบ 18 ปีของการยึดอำนาจ การเมืองไทยเดินทางมาถึงข้อสรุปใหม่ รัฐบาลไทยรักไทยที่ถูกรัฐประหารครั้งนั้น ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน ในนามพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของบุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกทหารโค่นล้ม 18 ปีก่อน
ไม่เพียงเท่านั้น ทักษิณเองก็เดินทางกลับไทยหลังใช้เวลากว่า 15 ปี ลี้ภัยในต่างแดนเพื่อหลบหนีคดีความ และปัจจุบันก็มีพื้นที่สื่อสารสู่สาธารณะ
ความเป็นไปทางการเมืองเหล่านี้ถูกรับรู้อย่างแตกต่างกันไปในสายตาของผู้ลี้ภัยไทย
จักรภพ เพ็ญแข อดีตโฆษกรัฐบาลและอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเดินทางกลับไทยราวเดือนมีนาคมปีนี้ กล่าวกับวีโอเอไทยว่า มีความสุขที่ได้กลับบ้าน และจะเดินหน้ามีบทบาทในทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทยต่อไป
“ความสุขนั้นก็คือการได้กลับบ้าน การได้สัมผัสกับความจริงที่ว่านี่แหละคือรากของเรา คือที่กำเนิดของเรา มันได้ความรู้สึกที่อิ่มเอิบใจบอกไม่ถูก ความดีใจเรื่องได้เจอหน้าคนรักได้ใกล้ชิดครอบครัว ได้เผาแม่ ได้กลับมาเจอประชาชน ได้กินอาหารไทยอร่อย มันยังไม่เท่ากับความรู้สึกที่อธิบายไม่ได้ว่ามันเกิดความอิ่มทิพย์ขึ้นมาอย่างไร แต่มันคล้ายๆ อย่างนั้น คืออิ่มทิพย์” จักรภพกล่าว
ในทางส่วนตัว จักรภพยังเดินหน้าติดต่อสอบถามผู้ลี้ภัยหลายคน เพื่อสอบถามความต้องการและประเมินความปลอดภัยในการกลับไทย โดยมีทั้งคนที่บอกว่าไม่กลับ เช่น อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จรัล ดิษฐาอภิชัย ที่อยู่ที่ฝรั่งเศส รวมถึงคนที่อยากกลับ เช่น จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ที่อยู่ที่สหรัฐฯ
อดีตผู้ลี้ภัยรายนี้มองบรรยากาศทางการเมืองปัจจุบันว่าเปิดกว้างขึ้นในแง่การบริหารประเทศ เทียบกับสภาพเมื่อ 15 ปีก่อนที่เขาตัดสินใจลี้ภัย เพราะไม่มีขบวนการประชาชนมาทิ่มแทงการทำงานนอกจากบนโซเชียลมีเดีย แต่มีความกังวลเรื่องความเห็นที่แตกต่างของประชาชนที่ถึงขั้นเกลียดชังจนอาจอยู่ร่วมกันไม่ได้
“หากเมื่อไหร่ก็ตามที่มันไม่สามารถจะอยู่ด้วยกันได้ หรือไม่ประสงค์จะอยู่ด้วยกัน อะไรบางอย่างที่เคยร่วมกันอยู่ได้บ้าง จะแยกกันอยู่ นี่คือสิ่งที่เป็น Recipe for disaster (สูตรของความหายนะ) เป็นทางนำไปสู่ความหายนะ
“หากเราแข่งขันกับวงจรอุบาทว์นี้ด้วยการทำนโยบายด้วยการรู้สึกว่าลืมตาอ้าปากได้ โงหัวขึ้นมาจากอดีตที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วงโควิด รู้สึกว่าบ้านเมืองมีอนาคต ลูกหลานมีทางที่จะหวังอะไรมากขึ้นกว่ารุ่นพ่อแม่ ผมว่าความรู้สึกทางการเมืองอาจจะดีขึ้นด้วย” จักรภพกล่าว
จอม เพชรประดับ ปัจจุบันอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ หลังลี้ภัยการถูกเรียกตัวโดยคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 ตอนนี้ในวัย 63 ปี เขาได้รับสถานะพลเมืองอเมริกัน และประกอบอาชีพช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเป็นชีวิตที่เขาเล่าว่าไม่เคยคิดว่าจะได้ทำในวัยเลขหก
จอมมองการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่า เป็นเพียงความคลี่คลายทางการเมืองในระดับชนชั้นนำ ที่ประชาชนเองก็รู้และตาสว่างแล้ว หลังการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557
“เป็นบรรยากาศการเมืองที่ผมว่าเป็นการคลี่คลายในหมู่ชนชั้นนำ ชนชั้นปกครอง ชนชั้นผู้ควบคุมกลไกเศรษฐกิจและสังคมการเมืองของประเทศเท่านั้นเอง แน่นอน ความคลี่คลายในหมู่พวกเขาก็คงเป็นบรรยากาศของการคลี่คลายที่ยังคงมีการแบ่งปันแย่งชิงแสวงหากันอยู่ในกลุ่มพวกนั้น จึงไม่เห็นว่ามันเป็นบรรยากาศที่มันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เห็นหัวประชาชนจริง ๆ”
“ผมต้องการเห็นประชาธิปไตยที่ทุกคนในประเทศไทยมีเสียงพอที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงสังคมไปได้อย่างที่เขาคาดหวัง ที่ต้องการจะเป็น ต้องการที่จะให้เปลี่ยนแปลง แต่ถามว่าที่เห็นอยู่ ณ เวลานี้ มันเป็นภาพของการพยายามจะ reconcile (สมานฉันท์) ของผู้มีอำนาจ จากคนที่เป็นศัตรูก็มาจับมือกัน”
อดีตสื่อมวลชนรายนี้กล่าวว่าไม่ได้รับการติดต่อสอบถามเรื่องการกลับไทยจากจักรภพ โดยส่วนตัวนั้นต้องการกลับประเทศ แต่หากไม่มีหลักประกันความปลอดภัย ว่าเขาจะไม่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกในอดีต ความฝันที่จะกลับอย่างถาวรก็คงยากเต็มที
หนึ่งในเงื่อนปมที่ทำให้คนไทยต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ คือการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาฟ้องร้องกัน ซึ่งสภาพปัญหานี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะได้รับการแก้ไขในทางการเมือง นับตั้งแต่พรรคก้าวไกลถูกยุบพรรคจากการนำเรื่องการแก้ไขกฎหมายนี้ไปหาเสียง
ภัคภิญญา แก้วมาตย์ ถูกศาลพิพากษาเมื่อปี 2565 ว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญา ม.112 จำคุก 9 ปี จากการแชร์โพสต์บนโซเชียลมีเดีย 6 โพสต์ ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทกษัตริย์ ทำให้ตัดสินใจมาขอสถานะผู้ลี้ภัยที่ออสเตรเลีย และเพิ่งเริ่มทำงานเพื่อเลี้ยงตัวเองขณะที่ปรับตัวกับบริบทชีวิตใหม่
เธอมองว่าหากไม่มีหลักประกันความปลอดภัยว่าจะไม่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออก ก็คงไม่รู้สึกปลอดภัยที่จะกลับไทย แม้จะอยากกลับไปหาชีวิตและงานที่รักและคุ้นเคยในที่ ๆ จากมาก็ตาม
“พูดตรง ๆ เลยว่าความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตที่นี่ คือประเทศเจริญแล้ว เราอยู่แล้วรู้สึกเลยว่ามันอยู่ง่ายกว่า คุณภาพชีวิตมันดีกว่าที่ไทยอยู่แล้ว อะไรก็ดีกว่า ใช้คำว่าคุณภาพชีวิต อย่างแค่อากาศก็ต่างกันแล้ว การดูแลอื่น ๆ อะไรแบบนี้ ขนาดเราไม่ใช่คนของที่นี่เรายังรู้สึกว่าเราใช้ชีวิตไม่ยากขนาดนั้น แต่ถ้ามองในแง่แบบโฮม ความเป็นโฮมยังไงเราเราก็รู้สึกว่าเราอยากกลับบ้านมากกว่า” ภัคภิญญากล่าว
ปัจจุบันมีคนไทยที่ลี้ภัยการเมืองในต่างแดนอย่างน้อย 104 คน อ้างอิงข้อมูลเดือนมิถุนายน 2567 ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวบรวม โดยจำนวน 67 คน มีเหตุต้องลี้ภัยจากคดี ม.112 รองลงมาเป็นคดีเกี่ยวกับอาวุธหรือระเบิด กฎหมายยุยงปลุกปั่น ไม่รายงานตัวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคดีอื่น ๆ หรือการถูกคุกคาม
แม้บรรยากาศทางการเมืองแบบพลเรือนที่หวนคืนมา อาจทำให้ผู้ลี้ภัยตัดสินใจที่จะกลับบ้านเกิดเมืองนอน แต่บรรยากาศอึมครึมที่สะท้อนจากคนที่ยังไม่แน่ใจยังคงเป็นโจทย์ที่น่าจับตามองว่าจะได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
ภายใต้ทรรศนะที่แตกต่าง การ "กลับบ้าน" จึงเป็นทั้งต้นสายของชีวิตที่ต้องเดินต่อไป และเป็นทั้งปลายทางที่จะมาถึงหลังได้รับหลักประกัน ว่าการใช้ชีวิตที่บ้านเกิดจะปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี