มัมดิว: คอสเพลย์ ลี้ภัย และแรงกดดันของ ม. 112

นายกิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ หรือ 'มัมดิว' ในเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ละม้ายคล้ายคลึงกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อดีตบรมราชินีแห่งราชอาณาจักรไทย ถ่ายหลังจากเดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว (Courtesy)

วีโอเอไทยคุยกับ ‘มัมดิว’ ผู้สร้างชื่อบนสื่อโซเชียลจากการคอสเพลย์อดีตราชินีไทย และต่อมาตัดสินใจลี้ภัยเพราะถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เธอได้สะท้อนมุมของการใช้กฎหมายนี้ในห้วงเวลาที่การเมืองไทยร้อนระอุจากประเด็น ม.112

“ข้าพเจ้าขอปฏิเสธการโดนกระทำชำเราด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นสากล และปฏิเสธการยัดเยียดอาชญากรรมอันป่าเถื่อนนี้ และจะขอต่อสู้ด้วยแนวทางของข้าพเจ้าเพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมต่อไป”

ข้อความข้างต้นคือหนึ่งในถ้อยแถลงของนายกิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ ครูสอนร้องเพลงอายุ 35 ย่าง 36 ปี ที่ชาวเน็ตรู้จักในฐานะ ‘มัมดิว’ หรือ ‘หม่อมดิว’ เจ้าของเพจ “มัมดิวไดอารี่” ที่เป็นที่รู้จักจากการแต่งกายและแสดงออกในท่าทางที่คล้ายคลึงกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อดีตบรมราชินีแห่งราชอาณาจักรไทย

นายกิตติคุณอ่านแถลงการณ์เมื่อ 14 กรกฎาคม กรณีการลี้ภัยไปยังเยอรมนี (บันทึกหน้าจอจากการถ่ายทอดสดในเพจเฟซบุ๊ค มัมดิวไดอารี่)

มัมดิวอ่านแถลงการณ์ดังกล่าวจากสหพันธรัฐเยอรมนี สถานที่ที่เธอตัดสินใจลี้ภัยหลังถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ - ม.112) จากงานถ่ายภาพโฆษณาเมื่อปี 2022 ที่ถูกมองว่าเป็นการดูหมิ่นสมาชิกราชวงศ์

วีโอเอไทยคุยกับมัมดิว เพื่อจะค้นหาแง่มุมชีวิตของนักคอสเพลย์ชื่อดัง ซึ่งสะท้อนถึงข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในเรื่องม.112 ที่การบังคับใช้มีความวูบไหวไปตามกระแสการเมืองที่แหลมคม

จากรสนิยมส่วนตัว สู่ความนิยมในภาพกว้าง

“ชื่นชอบในพระจริยวัตรของพระพันปีหลวงมานานแล้ว แล้วก็แต่งแบบนี้มาตั้งแต่อายุ 22 ปี ที่จำได้ แต่งมาเรื่อยๆ เรียนจบมหาลัยก็แต่งมาเรื่อยๆ”

มัมดิวกล่าวผ่านการสัมภาษณ์ทางไกล เธอเล่าว่าความชื่นชอบพระพันปีทำให้เพื่อนฝูงในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอวยฉายา ‘หม่อมดิว’ ให้

รสนิยมดังกล่าวเคยตกเป็นประเด็นมาแล้วเมื่อปี 2018 ที่เธอเล่าว่ามีคนไปแจ้งความกับตำรวจ เพราะเห็นภาพในโซเชียลมีเดียขณะแต่งกายแบบที่เธอชื่นชอบไปเที่ยวย่านสีลม ซอย 2 จนมีตำรวจแฝงตัวมาตักเตือนถึงที่ทำงานว่าให้ระมัดระวังเรื่องการแต่งตัวที่อาจทำให้เสื่อมเสียถึงเบื้องบน

‘หม่อมดิว’ กลายสภาพมาเป็นเพจเฟซบุ๊ค ‘มัมดิว’ เมื่อเดือนกันยายน 2021 ซึ่งได้รับทั้งการสนับสนุนทั้งในแง่คำชื่นชมและงานรีวิวสินค้าจากคนที่ชื่นชอบ และคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่เห็นว่าเป็นการมิบังควร

มัมดิว ภาพถ่ายหลังจากเดินทางออกจากประเทศไทย (Courtesy)

กระทั่งกลางปี 2022 เธอได้รับการว่าจ้างจากนายอนิวัติ ประทุมถิ่น หรือ ‘นารา เครปกะเทย’ แม่ค้าออนไลน์ที่ปัจจุบันถูกคุมขังจากคดีฉ้อโกง ให้ไปถ่ายภาพและคลิปวิดีโอโฆษณาสินค้า โดยโฆษณาดังกล่าวถูกจัดฉากให้เธอแต่งตัวในชุดไทย และร่วมฉากกับนางธิดาพร ชาวคูเวียง หรือ ‘หนูรัตน์’ เน็ตไอดอลสายตลกที่รับบทให้ใส่ชุดไทยและนั่งรถเข็น

เนื้อหาดังกล่าวกลายเป็นปัญหาขึ้นหลังมีโฆษณาโปรโมตแคมเปญชอปปิ้งของลาซาดา (LAZADA) ที่นาราและหนูรัตน์ไปถ่ายทำโฆษณาในลักษณะคล้ายกัน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งจากกองทัพ หน่วยงานราชการ ภาคประชาชน ไปจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น ดอยคำและโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ว่าเป็นการล้อเลียนและดูหมิ่นสมาชิกของราชวงศ์

ความอ่อนไหวของโฆษณาดังกล่าว ถึงขั้นส่งผลให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ออกคำสั่งให้กำลังพลทั่วประเทศงดสั่งสินค้าจากลาซาดา และห้ามรถส่งสินค้าเข้าไปในหน่วยทหาร

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุถึงประเด็นดังกล่าวเมื่อ 9 พฤษภาคม 2022 ว่ารับไม่ได้กับโฆษณาของลาซาดา

ทั้งสองโฆษณากลายเป็นปมที่ศรีสุวรรณ จรรยา นักร้องเรียนชื่อดัง นำไปแจ้งความดำเนินคดี ม.112 กับมัมดิวและหนูรัตน์เมื่อปี 2022 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหากับบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาอีก 2 บริษัทในเวลาต่อมา ส่วนนารา ถูกตั้งเป็นคดีแยกอีกคดีหนึ่งต่างหาก

ต้องคดี

ม.112 เป็นประมวลกฎหมายอาญาที่อยู่ในหมวดคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ศูนย์ทนายฯ) กล่าวว่าเพราะบทลงโทษที่หนัก การตีความความผิดอย่างกว้างขวางเกินเนื้อความ และเงื่อนไขที่อนุญาตให้ใครเป็นผู้ร้องเรียนก็ได้ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหามักไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม

ข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ดังขึ้นนับจากการชุมนุมของประชาชนในปี 2020 ตามมาด้วยแรงปฏิกิริยาจากมวลชนอีกฝั่ง ทำให้สังคมไทยกลับมาเห็นการใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือจัดการกับการแสดงความเห็นทางการเมืองอีกครั้ง สะท้อนจากการดำเนินคดี ม.112 กับบุคคลถึง 255 รายใน 275 คดีในช่วงเวลาเพียง 2 ปีครึ่ง (พฤศจิกายน 2020 - สิงหาคม 2023) ในจำนวนคดีทั้งหมด คดีความที่มีประชาชนเป็นผู้ไปร้องทุกข์เองมีจำนวน 133 คดี รองลงมาเป็นการกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง

เมื่อเทียบกับช่วงเวลา 5 ปี ภายใต้รัฐบาลทหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีผู้ถูกดำเนินคดี 169 ราย ในช่วงปี 2014-2019 และสถานการณ์อื่นๆ ก่อนหน้า นางสาวพูนสุขกล่าวว่า การดำเนินคดีด้วย ม.112 ในระลอกล่าสุดนั้น “มีมากกว่าที่เคยปรากฏมาก่อน”

ผู้ชุมนุมเดินผ่านซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อ 26 กรกฎาคม 2020 (ที่มา: รอยเตอร์)

ศูนย์ทนายฯ บันทึกข้อมูลตัวอย่างการตีความพฤติกรรมที่เข้าข่ายว่าเป็นความผิดอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัยเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การทำโพลสำรวจความเห็นว่าได้รับความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จหรือไม่โดยไม่ได้กล่าวเจาะจงไปถึงสมาชิกราชวงศ์พระองค์ใด หรือการปราศรัยที่ไม่กล่าวถึงกษัตริย์พระองค์ใดเป็นการเฉพาะ แต่ศาลก็พิพากษาว่า “มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่กษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์”

ในกรณีของมัมดิว คำฟ้องของอัยการระบุว่า มัมดิวและหนูรัตน์จงใจจาบจ้วง ล่วงเกิน ด้อยค่า ดูหมิ่น และหมิ่นประมาท ต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ แม้ ม.112 จะคุ้มครองกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างเฉพาะเจาะจง แต่อัยการระบุว่าการกระทำดังกล่าวด้อยค่า ดูหมิ่น และทำให้พระบรมวงศานุวงศ์และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสื่อมพระเกียรติ

นางสาวพูนสุขกล่าวว่า หลังปี 2020 มีผู้ลี้ภัยหลังถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองแล้ว 23 ราย โดย 17 รายถูกดำเนินคดีด้วย ม.112

จำนวนข้างต้นยังไม่รวมผู้ที่ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองหลังเกิดการรัฐประหารปี 2014 ที่มีอย่างน้อย 9 รายที่สูญหายแบบไม่ทราบชะตากรรมขณะลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และมีอย่างน้อย 2 รายที่ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตแล้ว จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษได้แต่อย่างใด

ต้องลี้ภัย

มัมดิวและเพื่อนอีกรายตัดสินใจขอลี้ภัยที่เยอรมนี หลังเดินทางมาร่วมงานไพรด์ที่เมืองโคโลญจน์เมื่อราวเดือน ก.ค. 2023 ผ่านการช่วยเหลือและสนับสนุนจากผู้ลี้ภัยไทยรุ่นก่อนหน้า

สิ่งที่ทำให้เธอและเพื่อนตัดสินใจลี้ภัยคือการถูกบุคคลไม่ทราบฝ่ายไปติดตามทั้งที่บ้านและที่ทำงานจนทั้งสองรายหวาดกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ในกรณีของมัมดิว เธอเล่าว่าสถาบันร้องเพลงที่เธอทำงานอยู่ขอให้เธอไม่ต้องมาทำงานอีก

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ ศาลยุติธรรม ให้ข้อมูลกับวีโอเอไทยเมื่อ 21 กรกฎาคมว่า เนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่ถึงวันนัดตรวจพยานหลักฐาน จึงยังไม่มีคำสั่งอะไรต่อมัมดิว

ต่อมา อานนท์ นำภา ทนายความของจำเลยในคดีดังกล่าวให้ข้อมูลกับวีโอเอไทยเมื่อ 3 สิงหาคมว่า ศาลได้มีคำสั่งออกหมายจับมัมดิวแล้วหลังไม่ปรากฏตัวในวันนัดตรวจพยานหลักฐานที่นัดหมายไว้เมื่อ 24 กรกฎาคม

ณ วันที่สัมภาษณ์ในเดือนกรกฎาคม 2023 มัมดิวและเพื่อนอยู่ในสถานะผู้ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย จากนี้ไปคือการรอคอยการเรียกไปให้ข้อมูลและเอกสารกับเจ้าหน้าที่ แม้ไม่ทราบว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ แต่เธอเล่าว่า ณ สถานที่พักพิงผู้ลี้ภัยขณะนี้ เธอยังมีอาหารกินครบ 3 มื้อและสามารถเดินทางไปเที่ยวในเมืองใกล้ๆ ได้

นางสาวกัลยมน สุนันท์รัตน์ หรือ ‘มินท์’ นักกิจกรรมกลุ่ม ‘นาดสินปฏิวัติ’ ผู้ซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยที่ฝรั่งเศส กล่าวกับวีโอเอไทยว่าเธอใช้เวลา 6 เดือนเพื่อดำเนินการจนได้สถานะดังกล่าว ซึ่งถือว่าไม่นานเมื่อเทียบกับผู้ลี้ภัยรายอื่น เพราะเธอมีเอกสารที่จำเป็นครบถ้วนและเดินทางเข้าฝรั่งเศสแบบถูกกฎหมาย แต่ในช่วงที่เธอต้องรอคอย ก็ไม่มีคำตอบเช่นกันว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่

กัลยมน สุนันท์รัตน์ (Courtesy)

กัลยมนเคยเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ผ่านกิจกรรมนาฏศิลป์ ก่อนที่จะถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 จำนวน 4 คดี สุดท้ายเธอตัดสินใจลี้ภัยในปี 2022 หลังถูกทั้งเจ้าหน้าที่และคนไม่ทราบฝ่ายติดตาม และได้รับจดหมายขู่เอาชีวิตจากการทำร้ายทางเพศ

“เราใช้ชีวิตเหมือนมีคนจับจ้องเฝ้าระวังเราเหมือนเป็นผู้ก่อการร้าย” กัลยมนกล่าว

กฎหมาย-การเมือง เรื่องเดียวกัน?

หลังได้สถานะผู้ลี้ภัย มัมดิวมีความฝันว่าอยากเป็นครูสอนร้องเพลง เปิดร้านอาหารเล็กๆ หรือดูแลคนชราในเยอรมนี ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังอยากใช้ช่วงเวลาในต่างประเทศเพื่อต่อสู้ให้ไทยเป็นประชาธิปไตยในแนวทางของตัวเอง

มัมดิว ถ่ายภาพคู่กับสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมชาวไทย (Courtesy)

“ดิวว่าคุ้ม ดีกว่าเราไปเจอกับอะไรก็ไม่รู้ในปัญหาในประเทศไทยซึ่งมันแก้ไม่ได้สักทีหนึ่ง แล้วก็เจอคดีที่ไม่เป็นธรรม เกิดการกลั่นแกล้งกัน ใครที่อยากจะหมั่นไส้ใคร หรืออะไรยังไงก็ไปแจ้งความได้” เธอกล่าว

ปัญหาที่แก้ไม่ได้ อาจสะท้อนจากภาพของการเมืองในรัฐสภาหลังผลเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด ที่พรรคที่มีจุดยืนการแก้ไข ม.112 ถูกต่อต้านอย่างหนักจากสมาชิกวุฒิสภาและนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลเก่าจนไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เรื่อยมาถึงสมการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ที่มีการระบุชัดเจนว่าจะไม่มีการทำอะไรกับ ม.112 ทั้งสิ้น

ศ.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน วิทยาเขตเมดิสัน ที่ศึกษาเรื่องความรุนแรงทางการเมืองของไทยมามากกว่าสองทศวรรษ กล่าวว่าการใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองในช่วงรัชสมัยใหม่ ไม่เพียงสะท้อนถึงวิกฤตในการใช้กฎหมายครั้งใหญ่ แต่ยังสะท้อนถึงความกลัวการสูญเสียอิทธิพลของกลุ่มอำนาจเดิมที่จะตามมาหลังการตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ด้วย

Tyrell Haberkorn, professor of Southeast Asia Studies, University of Wisconsin-Madison, researches and writes about politics in Thailand.

“การที่มีคนในรัฐสภาตั้งคำถามไม่ได้เพราะ ม.112 เพราะการกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาต่อผู้แทนแต่ละคน หรือโดยพรรคที่ใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือในการทำให้พรรคหยุดพูด หยุดเคลื่อนไหว ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง”

“รัฐสภาควรเป็นพื้นที่ที่ ส.ส. ได้แลกเปลี่ยนทุกเรื่อง เพราะว่ามันเป็นบทบาทและหน้าที่ของเขา ก็คือการพูดในสิ่งที่สำคัญต่อประเทศชาติ และแน่นอนว่าเรื่องนี้สำคัญกับประเทศชาติ แค่ดูจำนวนคดีก็จะรู้แล้วว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องมีการพูดถึง” ฮาเบอร์คอร์นกล่าว

นางสาวพูนสุขเสนอว่าการแก้ไข ม.112 ในทางตัวบทก็เป็นสิ่งที่อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือการทำให้กฎหมายไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และสิ่งแรกที่ควรทำคือทำความเข้าใจกับสังคมให้มาก

“สังคมไทยก็ต้องใช้สติและพิจารณากลั่นกรองให้ดีว่าการแก้ไข ไม่ใช่การยกเลิก และทั้งการแก้ไขและการยกเลิกก็ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์หรือล้มล้างการปกครอง อันนี้จะต้องเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องทำความเข้าใจร่วมกันและก้าวข้ามผ่านประเด็นนี้ไปให้ได้ และจับมือกันแก้ปัญหา ไม่ใช่ฟาดฟัน”

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก: บีบีซี ประชาไท พีพีทีวี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน