เปิดห้องเรียน Kent State’s Thai Ensemble กับภารกิจเผยแพร่ดนตรีไทยสู่หัวใจอเมริกัน

Priwan Nanongkhan teaches a group of American students in a Thai ensemble at Kent State University, OH.

Your browser doesn’t support HTML5

KSU Thai Ensemble


การเรียนการสอนดนตรีไทย ในระดับอุดมศึกษาของสหรัฐฯ เริ่มขึ้นครั้งแรกเกือบ 60 ปีก่อน โดยมีนักวิชาการอเมริกันเป็นผู้บุกเบิก ก่อนที่จะได้รับการสานต่อโดยอาจารย์ไทย รายงานพิเศษของวีโอเอไทย จะพาไปรู้จักกับวงปี่พาทย์ หรือ Thai ensemble ที่ Kent State University รัฐโอไฮโอ หนึ่งในสามมหาวิทยาลัยที่สอนให้นักศึกษาอเมริกันได้สัมผัสดนตรีไทยอย่างใกล้ชิด

เสียงระนาด เสียงฆ้อง จากห้องเรียนของมหาวิทยาลัย Kent State University ในรัฐโอไฮโอ อาจจะทำให้ใครต่อใครเผลอคิดว่านี่เป็นฝีมือของนักดนตรีไทยไกลบ้าน แต่สิ่งที่เราได้เห็น คือกลุ่มนักศึกษาอเมริกัน ที่กำลังนั่งล้อมวงฝึกซ้อม ประกอบกันเป็นวงปี่พาทย์

Your browser doesn’t support HTML5

Kent State’s Thai Ensemble ภารกิจเผยแพร่ดนตรีไทยสู่หัวใจอเมริกัน

ไมเคิล เอ็มเน็ตต์ (Michael Emnett) นักศึกษาดุริยางคศิลป์ชั้นปีที่ 4 หัวเราะ และรีบออกตัวเมื่อเราถามถึงฝีมือการเล่นระนาดเอกของเขา "ผมว่าฝีมือของผมคงเทียบเท่ากับเด็กคนหนึ่ง แต่ผมว่ามันสนุกมากเลยครับ"

ส่วน อเล็กซิล ฮิลล์ (Alexis Hill) นักศึกษาปริญญาโทผู้เล่นฆ้องวง บอกว่าเธอไม่เคยฟังเพลงไทยคลาสสิคหรือไทยเดิมมาก่อน "ตอนแรกมันเป็นความช็อคทางวัฒนธรรม (culture shock) เลย ถ้าพูดตรง ๆ ก็คือฉันไม่เข้าใจดนตรีไทยมาก่อนเลย แต่หลังจากที่ฉันมาซ้อมกับวง ตอนนี้ฉันก็เข้าใจแล้วก็รู้สึกซาบซึ้งในดนตรีไทยมากขึ้น"

วงดนตรีไทย หรือ Thai ensemble เป็นวิชาเลือกของภาควิชามานุษยดุริยางควิทยา (Ethnomusicology) ที่เน้นไปที่การเรียนดนตรีปี่พาทย์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ไพรวัลย์ นาหนองขาม เป็นผู้กำกับดูแลการสอนมากว่า 20 ปี

ดร. ไพรวัลย์ เติบโตมากับเสียงพิณ เสียงแคน ดนตรีอีสาน ก่อนจะหลงรักและเริ่มเรียนดนตรีไทยที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ จ.ร้อยเอ็ด จนจบการศึกษาปริญญาตรี ด้านดนตรีศึกษา จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.​2538 / เมื่อ 25 ปีก่อน เขาเดินทางมาเป็นครูอาสาสมัครสอนดนตรีให้คนไทยในสหรัฐฯ ก่อนที่จะได้รับทุนเรียนต่อที่ Kent State University ตามคำชักชวนของ ดร. เทอร์รี่ มิลเลอร์ (Terry E. Miller) นักวิชาการอเมริกันผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นผู้บุกเบิกการสอนดนตรีไทย ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้

Music students Alexis Hills (L) and Michael Emnett (R) play in Thai ensemble at Kent State University, OH.

“ปกติจะหาเด็กที่มาเรียนดนตรีไทยนี่ก็ไม่ง่าย ที่ไม่ง่ายเพราะเขาไม่รู้ว่าดนตรีไทยคืออะไร และสองคือเขาฟังดนตรีไทยแล้วมันไม่ไพเราะ เหมือนเราที่ฟังดนตรีไทยคลาสสิคของเราเนี่ย เราก็พูดจูงใจนะ ขอรับรองว่าสนุกแน่ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยเรียนมาก่อน เป็นโอกาสดีนะที่จะได้เรียนดนตรี แล้วอีกอย่างหนึ่งก็บอกเขาว่า วงดนตรีไทยในอเมริกามันมีไม่กี่วงในมหาวิทยาลัย”

"บางครั้งนักศึกษาอเมริกันก็มีจิตสงสาร เอาหน่อย ๆ แต่พอมันมาแล้วเนี่ย เราก็ต้องสอนให้มันสนุก แต่จริง ๆ ดนตรีมันสนุกอยู่แล้ว"

Priwan Nanongkhan is an assistant professor of ethnomusicology and director of Thai ensemble at Kent State University, OH.

สมาชิกวงปี่พาทย์ที่นี่ บอกกับวีโอเอไทยว่าการเล่นเครื่องดนตรีไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้หลายคนจะมีพื้นฐานเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกประเภทเครื่องเป่าและเครื่องตีมาก่อนก็ตาม

อเล็กซิล ฮิลล์ บอกว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือการถือไม้นวมตีฆ้องวง ที่ดูเหมือนจะเบา แต่เธอบอกว่าจริงๆ แล้วหนัก แล้วเธอก็ต้องพยายามตีฆ้องให้มีเสียงก้องกังวาน ไม่ให้ถูกเสียงเครื่องดนตรีอื่น ๆ กลบอีกด้วย

การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี ทำให้มหาวิทยาลัยต้องยกเลิกการเรียนการสอนในห้องเรียนไปหลายเดือน ก่อนที่จะอนุญาตให้นักศึกษากลับมาฝึกซ้อมดนตรีได้ ในภาคเรียนนี้ โดยต้องรักษาระยะห่างและสวมหน้ากากตลอดเวลา ซึ่งหลายคนบอกว่าดีใจมากที่ได้กลับมาเล่นดนตรีและพบปะเพื่อนร่วมวงทุกสัปดาห์อีกครั้ง

Kaitlin Nordstrom plays a Thai flute for Thai ensemble at Kent State University, OH.

พวกเขายังบอกว่า การมาร่วมวงปี่พาทย์เป็นการเปิดโลก ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับดนตรี สังคม และวัฒนธรรมของไทย ประเทศที่ห่างออกไปกว่าหนึ่งหมื่นกี่โลเมตร ​

เคทลิน นอร์ดสตรอม (Kaitlin Nordstrom) นักศึกษาดุริยางคศิลป์ชั้นปีที่ 2 บอกว่าสิ่งที่เรียกว่า “ดนตรีคลาสสิค” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บทเพลงของนักประพันธ์ตะวันตกอย่าง โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) หรือ ลุดวิค ฟาน เบโทเฟน (Ludwig van Beethoven) แต่ยังมีดนตรีคลาสสิคของประเทศอื่น ๆ อีกมากมายที่ควรค่าแก่การรับฟัง

“การเรียนดนตรีมันไม่ใช่ดนตรีอย่างเดียว มันเป็นอะไรที่เปิดหน้าต่างให้เขารู้จักคนไทยว่าเขาคือใคร" ดร. ไพรวัลย์กล่าว "มาเล่นดนตรีก่อน คุ้นกับดนตรีก่อน พอคุ้นกับดนตรีแล้วก็คุ้นกับคนต่อไป พอคุ้นกับคนแล้วก็ คุ้นกับอาหาร ไปเรื่อย ๆ เป็นวิชาแห่งความรัก ถ้าจะว่าไป โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ”

Priwan Nanongkhan directs Thai ensemble at Kent State University, OH.

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย ดร. ไพรวัลย์ หรือ อาจารย์เขียว ยอมรับว่าตนรู้สึกเป็นห่วงอยู่บ้างที่นับวันยิ่งจะหาดนตรีไทยคลาสสิคฟังได้ยากขึ้น ด้วยสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป แต่ก็ดีใจที่ตนมีโอกาสได้สืบสานดนตรีไทยในต่างแดน

“ผมก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องภูมิใจอะไรมากมาย เรารู้สึกแค่ว่า อันนี้เป็นงานที่เราทำในสิ่งที่เราชอบ ทำแล้วแฮปปี้มีความสุข แล้วก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งดีที่จะมอบให้มนุษยชาติ คิดแค่นั้นนะ จะว่าไปจริง ๆ”

การเรียน Thai ensemble ในภาคเรียนนี้ต้องสิ้นสุดเร็วกว่ากำหนด เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม นักศึกษาและ ดร. ไพรวัลย์ ยังพอจะมีโอกาสฝากฝีมือไว้ในการแสดงคอนเสิร์ตปิดภาคเรียน บรรเลงขับกล่อมผู้ฟังทางออนไลน์ ด้วยเพลงหน้าพาทย์ อย่างเพลงเหาะ เพลงรัว และเพลงปฐม ที่ตั้งใจฝึกซ้อมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา