รู้จัก 'รศ.มาณิศา พิพัฒนสมพร' อาจารย์และนักวิจัยแถวหน้าแห่ง 'มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค'

Dr.Manisa Pipattanasomporn Asst. Professor of Virginia Tech talks with VOA Thai.

Your browser doesn’t support HTML5

Thai Education

รศ.มาณิศา พิพัฒนสมพร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical and Computer Engineering) รับบทบาทด้านการสอนและทำวิจัย ที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค (Virginia Tech) ในรัฐเวอร์จิเนียมากว่า 15 ปีแล้ว

”คือเริ่มจากเป็นนักเรียนปริญญาเอกที่เวอร์จิเนียเทค หลังจากที่จบก็ทำวิจัยหลังปริญญาเอก (Postdoctoral researcher) อีก 1 ปี แล้วก็ต่อไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (Assistant Professor) และ รองศาสตราจารย์ (Associate Professor)” ดร.มาณิศา เล่าให้วีโอเอ ไืทย ถึงเส้นทางสายวิชาการในต่างประเทศของเธอ

จบ ป.เอก เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในอเมริกาด้วยวัยไม่ถึง 30 ปี

โอกาสครั้งใหญ่ที่ ดร.มาณิศา ได้รับในเกือบจะทันทีหลังจากเรียนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่เวอร์จิเนียเทค คือจุดเริ่มต้นสำคัญของการก้าวขึ้นมาเป็นอาจารย์คนไทยที่ต้องสอนนักเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯด้วยวัยเพียงไม่ถึง 30 ปี

“ก็ถือว่าอายุน้อยเพราะว่าตอนเรียนจบปริญญาเอก อายุ 26 ปี พอเริ่มสอนจะอายุประมาณ 28 ปี ตอนที่เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ เด็กที่นี่ก็จะช่างถาม อยากรู้ คือเค้าถามเราก็ตั้งใจบอก ในคลาสแรก ก็ตื่นเต้นเพราะว่าเราเป็นคนต่างชาติมา แล้วเด็กๆก็เป็นฝรั่งและชาวต่างชาติ..

..บรรยากาศก็จะไม่เหมือนทั่วไปเพราะว่าเราสอนอยู่ที่วิทยาเขตนอร์ทเทิร์นเวอร์จิเนีย ขณะที่มีเด็กๆอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่วิทยาเขตหลักที่ แบล็กส์เบิร์ก (Blacksburg) ที่สอนผ่านวีดิโอ ก็คือจะต้องสอนในห้องส่งผ่านวิดิโอ หากมีการถาม ก็จะถามผ่านวีดิโอ ซึ่งก็ผ่านไปด้วยดี แต่คลาสแรกที่เตรียมหนักมากเพราะว่าเนื่องจากเราก็ต้องเริ่มเตรียมเอกสารการเรียนการสอนทุกอย่างใหม่ทั้งหมด และก็ด้วยความตื่นเต้นด้วย เราก็ต้องฝึกคล้ายกับฝึกการสอนมาก่อนกับตัวเอง"

Dr.Manisa Pipattanasomporn Associate Professor of Virginia Tech - Advanced Research Institute

เชี่ยวชาญด้านงานวิจัย และค้นคว้าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

นอกจากการเรียนการสอนที่ต้องรับผิดชอบ รศ.มาณิศา ยังรับหน้าที่หลักในด้านการค้นคว้าและวิจัยขั้นสูงภายในห้องปฏิบัติการ ของศูนย์วิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค วิทยาเขตที่ตั้งอยู่ในย่านอาร์ลิงตัน ไม่ไกลจากกรุงวอชิงตัน โดยจะเน้นการเขียนเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนางานวิจัยทางเทคโนโลยีให้ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายโครงการ

“ก็คือหน้าที่หลักจะเป็นทำวิจัย และก็สอนจะเป็นหน้าที่รอง ที่นี่จะมีองค์กรที่ให้เงินจะมีกระทรวงพลังงาน มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และกระทรวงกลาโหม เป็นหลักในการสนับสนุนงบประมาณ แล้วเขาจะมี การเชิญชวนออกมาว่าต้องการให้พัฒนางานวิจัยแบบไหนเพื่อที่งานวิจัยจะเป็นประโยชน์ในภารกิจขององค์กรนั้น คล้ายกับแนวทางว่าต้องการอะไร เราก็นำเสนอไปตามความสามารถหรืองานวิจัยที่เท่าเราอยู่ และหากเขาชอบก็จะได้พัฒนาความรู้และพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม” ดร.มาณิศา กล่าว

A computer screen of BEMOSS-Building Energy Management Open Source Software project.

ความรู้ในห้องเรียนที่ขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยคือการเรียนรู้ใหม่ๆตลอดเวลา

ประสบการณ์การเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศหลายปี ทำให้ กร.มาณิศา มองเห็นแรงพลวัตรการขับเคลื่อนด้านความรู้ที่ปรับตัวได้รวดเร็วมากกว่าการเรียนการสอนในเมืองไทย

การศึกษาของเมืองไทยค่อนข้างตายตัว จะ 10-20 ปีผ่านมาก็ยังสอนเหมือนเดิม แต่เนื่องจากที่นี่ การเรียนการสอนจะถูกผลักดันด้วยงานวิจัย จะมีงานวิจัยใหม่ๆขึ้นมาตลอด อาจารย์ที่ได้รับทุนวิจัยมาก็จะพัฒนาความรู้ตลอด และเมื่อมีการพัฒนาความรู้ อาจารย์ก็สามารถที่จะเอาสิ่งที่พัฒนาแล้วไปใส่ไว้ในห้องเรียน ในการเรียนการสอนที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา"

ใช้ประสบการณ์และความรู้ตอบแทนบ้านเกิด

แม้จะเป็นคนไทยที่มาอาศัยและทำงานในแวดวงวิจัยระดับสูงในต่างแดน แต่ที่ผ่าน ดร.มาณิศา ก็ประสานความร่วมมือกับสถาบันหลายแห่งในการใช้ประสบการณ์และความรู้กลับมาเป็นประโยชน์ให้กับประเทศบ้านเกิดอยู่บ่อยๆครั้งเช่นกัน

“ใจจริงเราเก็บสะสมประสบการณ์ พวกสมาร์ทกริด ระบบบ้านอัจฉริยะมากว่า 10 ปีแล้ว ก็คือตอนนี้ก็อยากจะทำประโยชน์ให้กับเมืองไทย คือการให้ความรู้ในสิ่งที่เรารู้”

รศ.ดร.มาณิศา พิพัฒนสมพร สำเร็จการศึกษาปริญสาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT ก่อนจะเดินทางมาศึกษาต่อปริญญาเอกและทำงานเป็นที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทคแห่งนี้

รายงานพิเศษการศึกษาของวีโอเอ พรุ่งนี้ติดตามเรี่องราวของ หนึ่งในลูกศิษย์ของ ดร.มาณิศา ที่หลังจากสำเร็จปริญญาเอกที่เวอร์จิเนียเทคแห่งนี้ ก็กลับไปเมืองไทยพร้อมกับความรู้ขั้นก้าวหน้าที่มีส่วนช่วยพัฒนาวงการเทคโนโลยีอาคารอัจฉิยะให้กับหน่วยงานต้นสังกัดได้อย่างโดดเด่นในช่วงปีที่ผ่านมา