‘หมอนิว’ พบ ‘ไบเดน’ หนุนกฎหมายเปิดทางให้ ‘ดรีมเมอร์’ สู่สถานะพลเมืองอเมริกัน

Jirayuth Latthivongskorn, a "dreamer" recipient originally from Thailand, met on May 14, 2021 with President Joe Biden, who renewed his call for Congress to codify DACA.

Your browser doesn’t support HTML5

Thai Dreamer Biden Meeting


“ตอนนี้ผมทำงานอยู่ในโรงพยาบาล และเดือนนี้ค่อนข้างยุ่งครับ ตอนเช้าวันอังคาร ประมาณแปดโมงเช้า ระหว่างกำลังคุยเรื่องคนไข้อยู่ ก็ได้รับข้อความเข้ามาจากคนทำงานเรื่อง immigration (คนเข้าเมือง) ที่รู้จักกันว่า เขาบอกว่าอยากพามาเจอประธานาธิบดีไบเดน วันศุกร์นี้ได้ไหม พูดตรง ๆ เลย นิวมาวันศุกร์ได้ไหมใน (กรุงวอชิงตัน) ดีซี จากซานฟรานซิสโก เรามองเห็นข้อความนี่ งงอยู่พักนึงเลย หยุดพูดเรื่องคนไข้"

การติดต่ออันฉุกละหุกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ นายแพทย์จิรายุทธ ลัทธิวงศกร “ดรีมเมอร์” เชื้อสายไทยในสหรัฐฯ มีโอกาสเข้าไปใน Oval Office ห้องทำงานรูปไข่ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ทักทายเขาด้วย fist bump หรือการเอากำปั้นชนกันเบา ๆ ก่อนที่จะพูดคุยถึงร่างกฎหมายที่จะส่งผลต่ออนาคตของ “ดรีมเมอร์” (Dreamer) หลายล้านคนในประเทศ

“ประธานาธิบดีไบเดนเหมือนเป็นคุณลุง คุณตาคุณปู่ ตามที่คิดไว้เลย ตอนที่เดินเข้าไป Oval Office เป็นห้องวงกลม มีหน้าต่าง ไฟสว่างมาก เขาก็ทักทายสวัสดีกับทุกคน พอถึงเราคนสุดท้ายเขาก็เรียกเลยว่า ‘Hey, Doc’ ทั้ง meeting (การพูดคุยกัน) เรียกเราว่า Doc, Doctor ตลอด ก็ทักทายสวัสดีและ fist bump กับเขา ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน (ไบเดน) เป็นคนที่อบอุ่นและเปิดเผยมาก โดยเล่าเรื่องราวชีวิตและครอบครัวของเขา เพื่อที่จะให้พวกเราเชื่อมโยงถึงกันได้กับสิ่งที่เราเล่าให้เขาฟัง"

การพบปะระหว่างประธานาธิบดีไบเดนและกลุ่มดรีมเมอร์ 6 คน ที่ทำงานในแวดวงการเกษตร การศึกษา และสาธารณสุข เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผู้นำสหรัฐฯ ต้องการกดดันให้รัฐสภาผ่านกฎหมาย ที่จะปูทางให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมายราว 11 ล้านคน ได้เป็นพลเมืองสหรัฐฯ ในที่สุด

Jirayuth Latthivongskorn and 5 other DACA recipients met with President Joe Biden on May 14, 2021.

ในจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งเป็น “ดรีมเมอร์” หรือ ผู้ที่อพยพติดตามครอบครัวเข้ามาอยู่ในอเมริกาอย่างผิดกฎหมายตั้งแต่ยังเด็ก เช่นเดียวกับ จิรายุทธ ที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียโดยไม่มีวีซ่าตั้งแต่อายุเพียง 9 ขวบ และได้รับความคุ้มครองจากโครงการ Deferred Action for Childhood Arrivals หรือ DACA โครงการที่ริเริ่มโดยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ทำให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดีหรือส่งตัวออกนอกประเทศ

อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองทางกฎหมาย และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ของโครงการ DACA เช่น การอนุญาตให้เรียนหนังสือ และการขอใบประกอบอาชีพ (work permit) มีอายุเพียงครั้งละ 2 ปีเท่านั้น โดยสามารถต่ออายุได้ แต่ไม่ได้นำไปสู่การเป็นพลเมืองถาวรแต่อย่างใด

“มันถึงเวลาแล้วที่เราควรจะผ่านกฎหมาย permanent solution เพื่อช่วยเป็นล้าน ๆ คน เพราะจะให้คนเป็นล้าน ๆ คนาแล้วครอบครัวมานั่งใช้ชีวิตกันทุกสองปี ๆ แพลนว่าสองปีหน้า หลังจากนั้นไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น It’s not the humane way to live (มันไม่ใช่การใช้ชีวิตอยู่อย่างมีมนุษยธรรม) เราอยากจะให้เขาจบเรื่องตรงนั้น”

Jirayuth Latthivongskorn, a DACA recipient, speaks to the press after the Supreme Court's hearing

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ จิรายุทธ มีโอกาสเป็นตัวแทนผู้เข้าร่วมโครงการ DACA และดรีมเมอร์คนอื่น ๆ ในการเคลื่อนไหวระดับประเทศ เมื่อปีที่ผ่านมาเขาเคยเป็นโจทก์ร่วมในการฟ้องรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในคดีที่ขึ้นไปถึงศาลสูงสหรัฐฯ หลังจากที่รัฐบาลของทรัมป์พยายามยกเลิกโครงการ DACA แต่ถูกศาลสูงตัดสินปฏิเสธคำร้องไป

รัฐบาลของทรัมป์ มองว่า DACA เป็นโครงการที่ผิดกฎหมาย เพราะโอบามาประกาศใช้ตามอำเภอใจ โดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐบาลทรัมป์ยังอ้างว่า DACA เป็นโครงการที่กระตุ้นให้มีเด็กและเยาวชนลักลอบเข้าอเมริกาผิดกฎหมายมากขึ้น และแย่งงานไปจากชาวอเมริกัน

จิรายุทธ หรือหมอนิว ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงฝึกเป็นแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในซานฟรานซิสโก ได้เล่าเรื่องราวและประสบการณ์ชีวิตของตนให้ไบเดนได้ฟัง โดยเฉพาะบทบาทการเป็นบุคลากรด่านหน้าในช่วงการระบาดของโควิด-19

Jirayuth Latthivongskorn, a DACA recipient, is a resident at ZSFG hospital, San Francisco

“มีสามอย่างที่อยากให้เขารู้ หนึ่ง เนื้อเรื่องของนิวเองและครอบครัว มายังไง มาจากไทย พ่อแม่ทำงานร้านอาหาร ให้เขารู้เลย อย่างที่สอง ตอนนี้เป็นหมอ ทำที่โรงพยาบาล ปีกว่าที่ผ่านมา pandemic (มีการระบาดของโควิด-19) เราก็ทำงานอยู่ตลอดเลย ตรงนี้สำคัญ เราอยากบอกประธานาธิบดีว่า มีหลายแสนคนที่มี DACA ที่ได้ทำงานใน health care ได้ช่วยคนอเมริกันอื่น นี่ก็เป็นจุดใหญ่ที่อยากจะบอกให้เขารู้ไว้ อย่างที่สามคือ บอกว่าในที่สุดแล้ว ที่นิวได้มาจุดนี้ได้ ได้เป็นหมอ อยากจะบอกว่ามันไม่ได้ง่ายเลย ทุก step จะมีอุปสรรคทั้งหมดเลย Nobody else should have to fight like that (ไม่ควรจะมีใครต้องต่อสู้ฝ่าฟันแบบนั้น)”

การผลักดันให้ความคุ้มครองถาวรแก่คนหนุ่มสาวที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องใหม่ สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้พยายามผ่านร่างกฎหมายในลักษณะเดียวกันหลายครั้ง ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา แต่กลับไม่เคยได้รับเสียงสนับสนุนมากพอจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในขณะที่คนอเมริกันประมาณ 3 ใน 4 สนับสนุนการให้สถานะผู้อยู่อาศัยถาวรแก่หนุ่มสาว “ดรีมเมอร์” เหล่านี้ ตามการสำรวจของ Pew Research Center ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2563

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีพรรคเดโมแครตคุมเสียงข้างมากผ่านร่างกฎหมาย Dream and Promise Act 2021 ที่คาดว่าจะทำให้ดรีมเมอร์ 2.5 ล้านคนเข้าสู่หนทางการเป็นพลเมืองสหรัฐฯ (citizenship) และประมาณ 4.4 ล้านคนมีสิทธิได้เป็นผู้พำนักถาวร (permanent resident) ของประเทศ ตามการวิเคราะห์ของสถาบัน Migration Policy Institute แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าเสียงส่วนใหญ่ของวุฒิสภาสหรัฐฯ จะให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวหรือไม่

ในระหว่างการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสมาชิกสภาคองเกรสในเดือนเมษายน ไบเดนย้ำให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมายในปีนี้ เพื่อให้ความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างถาวรแก่ดรีมเมอร์ ที่ไบเดนมองว่า อเมริกา คือบ้านหลังเดียวของเยาวชนคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้

U.S. President Joe Biden's first address to a joint session of Congress

ถึงแม้ต่อจากนี้อนาคตของดรีมเมอร์ จะอยู่ในมือรัฐสภาสหรัฐฯ แต่จิรายุทธ บอกว่าเขารู้สึกมีความหวัง และมั่นใจว่าผู้นำสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนเต็มที่

"ประธานาธิบดีแสดงให้เห็นว่าเขาสนับสนุนชุมชนของผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารเข้าเมืองที่ถุกต้อง โดยเฉพาะดรีมเมอร์ และผู้ที่เข้าร่วมโครงการ DACA และเขายังมองด้วยว่าสภาคองเกรสและวุฒิสภาควรจะให้การสนับสนุนด้วยเช่นกัน และควรจะผ่านกฎหมายออกมา"

การพบปะกับไบเดนในครั้งนี้ ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวหรือบันทึกภาพ และมีกำหนดเวลาเดิมเพียง 45 นาทีเท่านั้น แต่ในท้ายที่สุด ผู้นำสหรัฐใช้เวลาพูดคุยกับดรีมเมอร์ทั้ง 6 คน ถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ซึ่งจิรายุทธเรียกว่าเป็นประสบการณ์ “ครั้งเดียวในชีวิต”

"การที่ได้มีโอกาสที่ได้นั่งใน Oval Office ในออฟฟิศที่เป็นพื้นที่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของรัฐบาลอเมริกัน แล้วไปพูด ไปแชร์เนื้อเรื่องของนิวเอง เรื่องของพ่อแม่ พี่ชาย พี่สาว That’s a once in a lifetime opportunity (นั่นเป็นโอกาสที่ในชีวิตนี้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวเท่านั้น) ผมคิดว่าผมภูมิใจมากที่ได้มีโอกาสที่ได้ใช้ประสบการณ์ของเรา ใช้อุปสรรคที่เราได้เอาชนะ และใช้ปัญหาอื่น ๆ ที่เรายังคงต้องประสบพบเจอ มาเป็นอีกเสียงหนึ่งที่จะเปลี่ยนใจประธานาธิบดีไบเดน และย้ำเตือนว่าทำไม (หนทางสู่การเป็นพลเมืองและการคุ้มครองอย่างถาวร) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ"