หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่พยายามกดดันให้ ติ๊กตอกขายหุ้นที่ถือโดยบริษัทแม่สัญชาติจีน ไบต์แดนซ์ คนไทยในแถบนครลอสแอนเจลิสพูดคุยถึงกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย
ผู้ใช้บางคนกล่าวว่า ติ๊กตอกเป็นแอป ที่ช่วยเชื่อมการสื่อสารกับเพื่อน ๆ ทำให้ไม่ตกเทรนด์ และจะเสียดาย ถ้า TikTok ถูกแบนในอเมริกาจริง ๆ แต่ก็มีจำนวนหนึ่งเข้าใจเหตุผลด้านความปลอดภัยของข้อมูล ท่ามกลางอันตรายของการเสพสื่อออนไลน์อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
สุภาพ นุชิต หรือบิลลี่ เจ้าหน้าที่ในโรงเรียน Los Angeles Unified School ชอบใช้ติ๊กตอกในการติดตามข่าวสารและกระเเสใหม่ ๆ ของประเทศไทย โดยเขามีบัญชีสื่อโซเชียลหลัก ๆ เเทบทุกแอป
"ถ้าถูกปิดไปนี่ก็ต้องเสียดาย ต้องเสียดายมาก ๆ เพราะพี่บิลลี่เองกับติ๊กตอกนี่ เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว ตื่นมาต้องกดละ มากกว่าไอจีซะอีก มากกว่าเฟซบุ๊ก" บิลลี่กล่าว
ในเวลานี้ร่างกฎหมายกดดันให้ไบต์เเดนซ์นำหุ้นติ๊กตอกออกขายรอการพิจารณาจากวุฒิสภาสหรัฐฯ อยู่ ซึ่งวุฒิสมาชิกอเมริกันหลายคน เช่น ผู้นำเสียงข้างมากในสภาสูง สว.ชัค ชูเมอร์ที่กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เขาจะปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องเสียก่อน
SEE ALSO: อดีต รมว.คลังสหรัฐฯ เล็งรวมกลุ่มนายทุนเข้าซื้อหุ้น TikTokสำหรับชุมชนไทยในสหรัฐฯ มีคนหลากหลายอาชีพ และช่วงอายุ ซึ่งแต่ละคนมองถึงแอปนี้ ด้วยบทบาทชีวิตที่ต่างกัน
ขณะที่บิลลี่ผู้ซึ่งมักทำหน้าที่พิธีกรและโฆษกให้กับงานที่วัดไทยเเอลเอ บอกว่าติ๊กตอกคือแหล่งของเนื้อหาบันเทิงและเรื่องน่ารู้ ธีรพิมล เสรีรังสรรค์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมชาวไทย เล่าว่าเธอให้ลูก ๆ ของเธอเข้าถึงติ๊กตอกได้เช่นกัน ตั้งเเต่พวกเขายังเล็กอยู่
"คือหนูคิดว่าติ๊กตอกก็ยังสามารถอยู่ได้ เป็นโซเชี่ยลมีเดีย เพียงแต่ว่าอาจมีการกรองข้อมูลที่มัน sensitive ลงสำหรับลูกอะไรอย่างนี้คะ คือช่วยพ่อแม่ในการกรองแทนนิดนึง" ธีรพิมล กล่าว
เธอพยายามทำความเข้าใจถึงเหตุผลที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่อเมริกันเห็นว่า การที่ติ๊กตอกมีสัญชาติจีนเป็นความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของข้อมูล อย่างไรก็ตามติ๊กตอกปฏิเสธข้อกังวลนี้ และรัฐบาลอเมริกันเองก็ไม่เคยเเสดงหลักฐานที่ชี้ว่าแอปดังกล่าว เเบ่งปันข้อมูลผู้ใช้ในสหรัฐฯ ให้กับทางการจีน
ธีรพิมล บอกด้วยว่า "สำหรับหนู มองว่าถ้ามันไม่เป็นติ๊กตอก ที่มัน effect ลูกสาวอะไรอย่างนี้ เราก็รู้สึกว่าการที่เค้าแบนเค้าอาจจะมีเหตุผลในส่วนของการที่ owner เป็นคนจีนรึเปล่าอะไรอย่างนี้ คือเราอาจจะรู้สึกว่ามันอาจจะมี political issue ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการตัดสินของอเมริกา… แต่ว่าสำหรับเรา ถ้าเป็นตัวแอปพลิเคชั่นเอง เรารู้สึกว่า มันค่อนข้าง sensitive กับความรู้สึกพ่อแม่ ถ้าลูกสาว ลูกหรือบุตรเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายเกินไป"
ชาวไทยในสหรัฐฯ ที่ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ยังมีทั้งคนที่มองสื่อออนไลน์เพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจ และผู้บริโภคที่ดูโฆษณาสินค้าบนฟีดโซเชียลมีเดียด้วย
“เห็นส่วนมากเนี่ย หลายบริษัทเค้าก็ใช้ติ๊กตอกในการทำวิดีโอตัดต่อ แล้วคนก็ follow ตาม" พิราวุฒิ สังเกตุ เจ้าของธุรกิจตู้แช่ความเย็นตามร้านอาหาร กล่าวถึงโอกาสจากการโฆษณาผ่านติ๊กตอก
ส่วนวรรณวิมล แสตนลีด์ คุณครูสอนเด็กก่อนวัยเรียน มองถึงแอปนี้ในมุมผู้บริโภค
"ถ้า Government จะเชื่อไปในทางที่ว่า ทางจีนเค้าจะเอาข้อมูลอะไรไปหมด มันก็มีส่วนเป็นไปได้ เพราะอย่างทุกวันนี้... แค่คุยกับเพื่อนอยู่ ในรถว่าอุ๊ย อยากได้ ยกตัวอย่างนะ อุ๊ยมุกอันนี้ หรือสร้อยเครื่องประดับอะไรอย่างนี้ อยู่ ๆ มันไม่เคยมีในฟีดของเรามาก่อน อยู่ ๆ มันก็โผล่ขึ้นมา ทั้งติ๊กตอก ทั้งเฟซบุ๊ก ทั้งอะไรอย่างนี้ มันขึ้นมาหมด" วรรณวิมลกล่าว
เธอยังเป็นอีกหนึ่งคนที่คิดว่าจะปรับตัวได้ถ้าไม่มีต๊อกตอกให้ใช้ในสหรัฐฯ "อยู่ได้ เพราะว่าพี่เกิด ถ้าเป็นปีไทย 2521 เราเกิดมาในปีที่เรายังไม่มีไฮเทคโนโลยีขนาดนี้ เราอยู่ได้… เราอยู่แบบเพย์โฟน อยู่แบบเขียนจดหมาย เขียนอะไรอย่างนี้เราอยู่ได้"
เเละถ้าตราบใดตลาดยังมีความต้องการ แอปใหม่ก็พร้อมเกิดขึ้นมาทดแทนคลื่นลูกเก่า
"รู้สึกว่าไม่ได้สะเทือนอะไรมาก เพราะเชื่อว่าแอปพลิเคชั่นที่เป็นลักษณะคล้ายติ๊กตอกมีมันอาจเกิดขึ้นต่อไปได้...ได้โดยเร็วด้วย ที่มันจะมาแทนติ๊กตอกได้" ธีรพิมลกล่าวทิ้งท้าย