Your browser doesn’t support HTML5
หลังจากที่ พ.ท.หญิง แทมมี ลัดดา ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เชื้อสายไทย ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกถึงความชัดเจนของจำนวนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่สหรัฐฯ ได้อนุมัติความช่วยเหลือส่งให้ไทยเพิ่มจากจำนวน 1.5 ล้านโดส เป็น 2.5 ล้านโดส เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ในระหว่างงานเสวนาออนไลน์ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทยสหรัฐฯ ที่จัดโดย สถานเอกอัครราชทูตไทย ร่วมกับ ศูนย์อีสต์เวสต์ (East West Center) องค์กรวิชาการ ในกรุงวอชิงตัน กลายเป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในความร่วมมือที่เกิดขี้น
ทูตไทย เผยเบื้องหลัง ดีลวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก
นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน เปิดเผยกับ ‘วีโอเอ ไทย’ ถึงเบื้องหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มเติมจากจำนวน 1.5 ล้านโดส ว่า ได้รับแจ้งข่าวดีจาก วุฒิสมาชิกเชื้อสายไทย แทมมี ดักเวิร์ธ มาก่อนหน้านี้ ในเวลาไล่เลี่ยกับการได้รับแจ้งจากทำเนียบขาว
“ทางสถานทูตฯ ได้รับข่าวดีจากทางทำเนียบขาวโดยตรงว่าเขาจะให้บริจาควัคซีนในไทยเดิมทีที่ 1.5 ล้านโดส หลังจากนั้นพอเขาประกาศเราก็เริ่มหารือเพื่อที่จะลำเลียงวัคซีนเหล่านั้นไปเมืองไทยอีกสักพักหนึ่ง ท่าน ส.ว. แทมมี (แทมมี ลัดดา ดักเวิร์ธ) ก็โทรมาหาผม ท่านก็แจ้งข่าวว่า ในนามของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทางสหรัฐมีความห่วงใยกับประชาชนคนไทย ถือว่าเป็นมิตรเก่าแท้ของสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นเขาก็จะขอเพิ่มวัคซีนให้เราเองอีกต่างหากอีก 1 ล้าน ก็โดยรวมแล้วก็เป็น 2.5 ล้านล็อตแรก 1.5 ล้านก็ไปถึงเมืองไทยแล้วสัปดาห์นี้ แล้วก็หาล็อตที่ 2 เราก็กำลังประสานกับทางทำเนียบขาวอยู่เพื่อให้เขาเร่งรัดให้รีบส่งให้เมืองไทย” นาย มนัสวี บอกกับ 'วีโอเอ ไทย'
ประสานสิบทิศ ทั่วสหรัฐฯ เพื่อเข้าถึงวัคซีน
เอกอัครราชทูตไทย ที่กรุงวอชิงตัน เปิดเผยว่า ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างหนัก ในทุกช่องทางที่เป็นไปได้ในการประสานกับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ในสหรัฐฯ เพื่อเจรจาเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของทุกประเทศทั่วโลก
“ทางสถานทูตเองที่ผ่านมาเราเราเกือบจะเรียกว่าทุกวัน ประสานกับทั้งฝ่ายบริษัทโดยตรง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและทำเนียบขาวกับกระทรวงต่างประเทศ และกับ ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทน) และ ส.ว (สมาชิกวุฒิสภา) ของสหรัฐฯ เพื่อผลักดันให้เขา ให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยเข้าถึงวัคซีนเหล่านี้ได้เพราะมันจะเป็นคำตอบในหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องของสาธารณสุขและก็ในเรื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มันกระทบทั่วโลก เราก็พยายามเต็มที่นะ และที่สำคัญก็คือเราก็สนับสนุนให้ชุมชนไทยก็พยายามสื่อกับทางนักการเมืองของสหรัฐฯ ให้ช่วยนึกถึงประเทศไทยให้เป็นผลักดันกับทางรัฐบาลสหรัฐฯ อีกทางหนึ่งด้วย”
“วิธีที่จะเข้าถึงฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ เนี่ยมันก็ไม่ใช่แค่แค่ข้าราชการด้วยกันเองมันก็ต้องไปถึงกลุ่มต่างๆ ภาคเอกชน เข้าถึงภาคสถาบันวิชาการซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการส่งข้อมูลให้กับทางสภา หรือให้กับทางรัฐบาล เราก็เห็นว่าการที่ผมไปพบกับฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายรัฐสภาไม่เพียงพอ เราต้องพยายามหาแนวร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งของไทยกับของสหรัฐฯ ที่จะช่วยโน้มน้าวรัฐบาลในการในการเดินหน้าความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ”
ลุ้นขอรับวัคซีน 20 ล้านโดสเร็วกว่ากำหนด
นายมนัสวี กล่าวต่อไปว่า วัคซีนที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในจำนวนดังกล่าว ไม่ใช่ส่วนเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดสที่รัฐบาลไทยได้ลงนามจัดซื้อและมีกำหนดส่งมอบในไตรมาสที่ 4 หรือในปลายปีนี้ โดยทางสถานทูตกำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะขอให้มีการส่งมอบได้เร็วขึ้นหากเป็นไปได้ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย
“ในขณะเดียวกันเราก็วิงวอนทางรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ช่วยเร่งส่งวัคซีนที่เราขอซื้อ ให้มันเร็วขึ้น ให้มันทันกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มันเกิดขึ้นในตอนนี้ ซึ่งแล้วเราก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้นเราก็ยังอาศัยเครือข่ายเพื่อนประเทศไทย (Friends of Thailand) บุคคลที่เรารู้จักชาวสหรัฐฯ ที่เรารู้จักที่เขามีเส้นสายต่างๆ ให้เขาช่วยรณรงค์ให้ประเทศไทยอีกรอบหนึ่ง..
..อันนี้ก็เราก็ต้องชมพวกบริษัทอเมริกาที่อยู่ในเมืองไทยเพราะเขาก็มีความเป็นห่วงต่อธุรกิจของเขาด้วย ต่อคนงานของเขาด้วยก็เราก็ใช้ทุกรูปแบบ ที่ผ่านมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่งตอนนี้ก็เป็นเรื่องของการเข้าถึงวัคซีนที่เราลงนามสัญญาสั่งซื้อว่าถ้าเราได้เร็วขึ้นช่วยบรรเทาบรรเทาสถานการณ์ได้” นายมนัสวี กล่าว
..คือก่อนหน้านี้ทางทูตอาเซียนกับทำเนียบขาวก็มีการปฏิสัมพันธ์กันเกือบจะทุก 2 สัปดาห์ 3 สัปดาห์ต่อเดือนก็มีความใกล้ชิดผ่าน แต่นี่ผ่านวงของทูตอาเซียน 10 ประเทศเราก็ตอกย้ำเรื่องการเข้าถึงและซีนของเขาเขาก็บอกว่าเนี่ยเมื่อการผลิตเริ่มเพิ่มขึ้นเนี่ยเขาก็จะหาทางเพิ่มความช่วยเหลือทางด้านวัคซีนให้กับโลกอีกอีกรอบนึงนะ เพราะฉะนั้นขอให้ใจเย็นๆ แล้วก็แล้วก็เดี๋ยวเขาก็จะประกาศออกมาเป็นระยะๆ…”
เดินหน้าผลักดันไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนร่วมสหรัฐฯ
นอกจากนี้ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย มองไปถึงความร่วมมือในขั้นต่อไปที่จะพัฒนาและเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรด้านการวิจัยของไทย กับ บริษัทเอกชนในสหรัฐฯ ในการตั้งฐานการผลิตวัคซีนหรือเวชภัณฑ์เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในประเทศไทย
“เราได้ติดต่อกับทุกบริษัทวัคซีนของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขอซื้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการร่วมกันวิจัยและผลิตวัคซีน ซึ่งก็เดินหน้าไปต่อไป ตอนนี้แล้วก็พยายามจับเชื่อมโยง องค์การ หรือสถาบันหรือบริษัทต่างๆ ที่มีความชำนาญ ที่จะสามารถมาช่วยเป็นพันธมิตรในการผลิตวัคซีนในประเทศไทยแล้วก็ทางกรุงเทพฯ เองก็ได้มีการติดต่อโดยตรงกับบริษัทเหล่านี้ที่มีตัวแทนอยู่ในเมืองเมืองไทย..
“ผมคิดว่าเรามีโอกาสในสถาบันต่างๆ ที่มีมาตรฐานสูง และมีผลงานที่เด่นชัดแล้ว ประสบการณ์จากในอดีตของเราที่ร่วมผลิตยารักษามาลาเรีย ซึ่งทางฝ่ายสหรัฐแม้กระทั่งอดีตท่านทูต ดีซอมบรี (ไมเคิล จอร์ช ดีซอมบรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย) ท่านก็ตระหนักว่าประเทศไทยเรามีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากกับทางสหรัฐฯ หรือ ทาง ซีดีซี (ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ-CDC) เองเขาก็มีสำนักงานอยู่ที่ที่เมืองไทยเหมือนกัน”