เทเลนอร์ ตัดสินใจขายกิจการโทรคมนาคมในเมียนมาเพราะรัฐประหาร

Telenor Telecommunication company

Your browser doesn’t support HTML5

Business News


บริษัทโทรคมนาคม เทเลนอร์ จากนอร์เวย์ ตัดสินใจขายธุรกิจของตนในเมียนมาทิ้ง โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะสภาพการทำธุรกิจที่ยุ่งยากขึ้นภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร

สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า เทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในเมียนมา ได้ขายธุรกิจของตนให้กับ M1 Group ซึ่งเป็นบริษัทจัดการการลงทุนสัญชาติเลบานอน ในราคา 105 ล้านดอลลาร์ พร้อมประกาศถอนตัวออกจากประเทศนี้ที่ยังคงอยู่ในภาวะวุ่นวายหลังกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เทเลนอร์ เป็นหนึ่งในบริษัทต่างชาติไม่กี่แห่งที่กล้ามาลงทุนในเมียนมาเมื่อ 10 ปีก่อน หลังสถานการณ์ในประเทศเริ่มขยับมาในทิศทางของระบอบประชาธิปไตยเมื่อการปกครองแบบเผด็จการทหารที่ดำเนินมานานหลายสิบปียุติลง โดยธุรกิจในเมียนมาทำรายได้ในสัดส่วน 7 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดที่เทเลนอร์ทำได้จากทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว

ซิกเว เบรกเก ซีอีโอ ของ เทเลนอร์ บอกกับ รอยเตอร์ว่า เหตุผล 3 ข้อที่ทำให้บริษัทตัดสินใจขายธุรกิจในเมียนมาทิ้งคือ ความปลอดภัยของพนักงาน เงื่อนไขการกำกับดูแลกิจการของรัฐบาล และการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี

เบรกเก เปิดเผยด้วยว่า เมื่อบริษัทตัดสินใจทำการลดมูลค่าทางบัญชี (Write-off) เมื่อเดือนพฤษภาคม ผู้บริหารรู้สึกว่า ยังมีโอกาสที่จะดำเนินธุรกิจในเมียนมาต่อไปได้แม้จะมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้น สถานการณ์ก็กลับเลวร้ายลงไปอีก

รายงานข่าวระบุว่า เทเลเนอร์ บันทึกตัวเลขขาดทุนราว 738 ล้านดอลลาร์ ในเดือนพฤษภาคม หลังจากรัฐบาลทหารดำเนินการจำกัดการให้บริการโทรศัพท์มือถือในเมียนมาอย่างหนัก หลังก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และยังออกคำสั่งปิดระบบทั่วประเทศเมื่อวันที่ 15 มีนาคม เพื่อป้องกันไม่ให้นักเคลื่อนไหวผู้เรียกร้องประชาธิปไตยทั้งหลายส่งต่อข้อความเชิญชวนประชาชนให้ออกมาประท้วงกองทัพและสนับสนุนรัฐบาลพลเรือนที่ถูกยึดอำนาจไป

Anti-coup protesters turn on the LED light of their mobile phones during a candlelight night rally in Yangon, Myanmar Sunday, March 14, 2021.

รอยเตอร์ รายงานเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลทหารเมียนมาเพิ่งออกคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้บริหารอาวุโสของบริษัทโทรคมนาคมหลักๆ เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมๆ กับกดดันให้ทุกบริษัทใช้เทคโนโลยีดักสัญญาณเพื่อช่วยทางการจับตาดูผู้ใช้งานในประเทศด้วย

ขณะเดียวกัน บรรดานักเคลื่อนไหวทั้งหลายแสดงความกังวลหนักเกี่ยวกับการตัดสินใจทิ้งธุรกิจในเมียนมาของเทเลนอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสองผู้ให้บริการมือถือจากต่างประเทศ และเป็นบริษัทที่ผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาส่วนใหญ่พึ่งพาในการติดต่อสื่อสารกัน เพราะเทเลนอร์ “ให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน”

(ที่มา: สำนักข่าว รอยเตอร์)