Your browser doesn’t support HTML5
งานแสดงหุ่นยนต์ที่ว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระหว่างประเทศเรื่อง Robotics and Automation หรือวิทยาการหุ่นยนต์และเครื่องมืออัตโนมัติ
เมื่อเกือบ 14 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นทำความตื่นตะลึงให้กับผู้คนด้วยการเผยโฉม Asimov หุ่นยนต์เดินได้ วิ่งได้ และใช้มือทั้งสองจับของทั้งที่อ่อนนุ่มและแข็งได้ด้วย
จนทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีหุ่นยนต์ที่จะช่วยทำงานบ้านได้ แต่ในการผลิตทางอุตสาหกรรมและการแพทย์ กำลังมีเครื่องมืออัตโนมัติทั้งที่เป็นเครื่องกลและเครื่องไฟฟ้าให้ใช้กันได้มากขึ้นเรื่อยๆ
การออกแบบแขนและมือที่เป็นเครื่องกลสำหรับการใช้งานด้านต่างๆ เหล่านี้ มีจุดมุ่งหมายสำคัญร่วมกันอย่างหนึ่ง คือจะต้องปลอดภัยในการใช้ในที่ที่มีมนุษย์อยู่ใกล้ๆ ในขณะที่เครื่องกลเหล่านี้มีความแข็งแกร่งและแม่นยำมากกว่าแขนและมือมนุษย์
แขนยนต์ของ Barrett Technology เคลื่อนไหวเลียนแบบแขนมนุษย์ได้อย่างแนบเนียน รวมทั้งความแข็งขันในการจับถือด้วย
Brian Zenowich วิศวกรวิทยาการหุ่นยนต์อธิบายว่าเราควบคุมกำลังของแขนยนต์ที่ใช้กับมนุษย์นี้ได้ และที่มนุษย์ใช้กับแขนยนต์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอุปกรณ์ที่ดีเยี่ยมสำหรับกายภาพบำบัด หรือศัลยกรรม
Jenssen Chang ผู้จัดการใหญ่ของ Shanghai Gaitech Scientific Instruments บอกว่าจะมีหุ่นยนต์ที่สามารถเรียนรู้การทำงานที่สลับซับซ้อนโดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ใหม่มาให้ใช้แทนมนุษย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เขาบอกว่า ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องฝึกอบรมให้มนุษย์ทำงานก้าวหน้ามากขึ้น เรียกว่าเป็นการพัฒนาสังคม
ในขณะที่หุ่นยนต์ที่เราเห็นกันทั่วไปในเวลานี้ อาจจะทำได้แค่พูดและเตะลูกบอล แต่ Jason Jin วิศวกรและนักวิจัยเชื่อว่า หุ่นยนต์ระดับนี้เป็นเครื่องดึงดูดความสนใจของนักเรียนชั้นประถมเป็นอย่างดี
นักวิจัยผู้นี้บอกว่า วิทยาการหุ่นยนต์เป็นวิชาที่รวมสาขาวิชาอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน รวมทั้งไฟฟ้า เครื่องกล และวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางการศึกษามาก
ทำให้หวังว่า เมื่อถึงเวลาที่นักเรียนชั้นประถมเหล่านี้เติบโตขึ้นมาเป็นวิศวกรหุ่นยนต์ได้แล้ว ก็อาจคิดประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่ทำงานในบ้านมาให้ได้ใช้กัน