Your browser doesn’t support HTML5
ปลาสิงโตแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วในทะเลเเคริบเบียนมานานหลายสิบปี
Erika Ebbel นักชีวเคมีและนักธุรกิจ กล่าวว่า ปลาชนิดนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในเบอร์มิวด้าอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปลาสิงโตจากเอเชียขยายพันธุ์ในอัตราที่รวดเร็วมาก โดยปลาหนึ่งตัวจะวางไข่ได้ถึงสามหมื่นถึงสี่หมื่นฟองทุก 3 – 4 วัน
นอกจากนี้ ปลาสิงโตยังไม่มีศัตรูตามธรรมชาติในเเถบแคริบเบียนที่เข้าไปเเพร่พันธุ์
แต่ขณะนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ สร้างหุ่นยนต์ใต้ทะเลที่ควบคุมด้วยระบบรีโมทคอนโทรล เพื่อออกล่าปลาสิงโตซึ่งเป็นปลาล่าเหยื่อกินปลาเล็กตามแนวปะการังในทะเลเเคริบเบียน
หุ่นยนต์ใต้น้ำตัวนี้พัฒนาโดย Robots in Service of the Environment เเละใช้คำขวัญว่า "You have to eat them to beat them" และได้ชื่อว่า Guardian มีเเขนที่ยื่นไปข้างหน้าและถูกควบคุมด้วยระบบรีโมทคอนโทรลจากทีมงานที่อยู่บนผิวน้ำ
หุ่นยนต์จะใช้แขนจี้ปลาสิงโตด้วยกระเเสไฟฟ้าก่อนที่จะดูดปลาเข้าไปเก็บในช่องว่างตรงกลางลำตัวของหุ่นยนต์
ปลาสิงโตที่หุ่นยนต์จับได้จะถูกนำไปประกอบเป็นอาหาร
Colin Angle ประธานบริหารของบริษัท Robots in Service of the Environment กล่าวว่า เราจำเป็นต้องค้นหาวิธีจับปลาชนิดนี้ เพราะสร้างความเสียหายเเก่ระบบนิเวศวิทยา และนำปลาไปเป็นอาหารแก่คน
หากทำได้เช่นนี้ เขาเชื่อว่าจะสามารถเเก้ปัญหาการขยายพันธุ์ของปลาต่างถิ่นที่เป็นอันตรายต่อปลาท้องถิ่นได้
ในงานสาธิตการทำงานของหุ่นยนต์ใต้น้ำในการจับปลาสิงโตเมื่อเร็วๆ นี้ผู้เข้าชมงานได้ลองชิมเนื้อปลาที่จับได้ โดยมีสูตรการปรุงที่หลากหลาย
และผู้พัฒนาหุ่นยนต์ใต้น้ำ Guardian ยอมรับว่าหุ่นยนต์ที่พวกเขาคิดค้นขึ้น อาจจะไม่ช่วยเเก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาต่างถิ่นในทะเลเเคริบเบียนได้ทั้งหมด
แต่หากหุ่นยนต์มีราคาถูกลงกว่านี้ ชาวประมงท้องถิ่นจะสามารถจับปลาสิงโตไปขายในตลาดได้และสร้างรายได้แก่คนในพื้นที่
(รายงานโดย George Putic / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)