Your browser doesn’t support HTML5
แวดวงเทคโนโลยีในปี 2021 นั้น นำเสนอเรื่องราวใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่กรณีการเปิดเผยเอกสารข้อมูลลับ Facebook Papers ไปจนถึงการเปิดตัวนวัตกรรมหุ่นสมองกลใหม่ๆ รวมทั้ง non-fungible tokens (NFTs) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่แต่ละหน่วยมีความแตกต่างเฉพาะตัว
Facebook Papers
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อดีตพนักงานรายหนึ่งของบริษัท เฟสบุ๊ค (Facebook) ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น เมตา (Meta) แล้ว ออกมากล่าวหาบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ชั้นนำแห่งนี้ว่า ทำการเพิกเฉยต่อผลงานวิจัยของตนเองที่ชี้ว่า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ และนโยบายของบริษัทนั้นอาจส่งผลร้ายต่อผู้ใช้งานได้
ฟรานซิส เฮาเกน อดีตนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลของบริษัท คือ ผู้ที่ออกมาเปิดเผยประเด็นดังกล่าวพร้อมเอกสารต่างๆ ที่นำเสนอต่อสภาคองเกรส ซึ่งกลายมาเป็นที่รู้จักกันในนาม Facebook Papers
เฮาเกน กล่าวว่า เอกสารทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า แพลตฟอร์มเฟสบุ๊คสามารถขยายความรู้สึกเกลียดชังและการแพร่กระจายข้อมูลผิดๆ ไปสู่ผู้ใช้งาน ทั้งยังสามารถทำให้ความแตกแยกทางการเมืองรุนแรงขึ้นได้ พร้อมชี้ว่า เฟสบุ๊ค ไม่ซื่อสัตย์ต่อสาธารณะ ในขณะที่ประกาศว่า ตนพยายามที่จะต่อสู้กับการเผยแพร่ hate speech หรือ วาจาที่ทำให้เกิดความเกลียดชังและข้อมูลผิดๆ ขณะที่ทางบริษัทดำเนินธุรกิจเพียงเพื่อหวังผลกำไรเท่านั้น โดยทางเฟสบุ๊ค ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด
นวัตกรรมหุ่นสมองกล
ภาพคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นหุ่นยนต์เต้นรำที่กลายเป็นกระแสนิยมทางอินเตอร์เน็ตเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่สูงขึ้นของเครื่องจักรกลในการทำกิจกรรมเลียนแบบมนุษย์ โดยหุ่นยนต์ที่ว่านั้นได้รับการพัฒนาและประดิษฐ์ขึ้นโดย บริษัท Boston Dynamics ของสหรัฐฯ
มาร์ค ไรเบอร์ ประธานบริษัทแห่งนี้ ยอมรับว่า ขณะที่ภาพที่ทุกคนได้รับชมนั้นดูสนุกและน่าชม สิ่งที่ตนรู้สึกว่า เป็นความสำเร็จที่แท้จริงก็คือ บทเรียนล้ำค่าต่างๆ ที่ทีมงานได้เรียนรู้จากการทดลองครั้งนี้
ทั้งนี้ Boston Dynamics ยังได้เปิดตัวหุ่นยนต์ใหม่ๆ ตามออกมาอีกหลายรุ่น เช่น รุ่นที่พัฒนาออกมาเพื่อช่วยงานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจสอบอุณหภูมิของร่างกายของคนจรจัดในเมืองฮอนโนลูลู รัฐฮาวาย เพื่อค้นหาผู้ที่อาจติดเชื้อโคโรนาไวรัส รวมทั้งหุ่นยนต์ที่ชื่อ Stretch ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่ขนย้ายลังบรรจุของในพื้นที่จัดเก็บที่มีขนาดกว้างใหญ่ โดยหุ่นดังกล่าวสามารถเคลื่อนย้ายลังที่มีน้ำหนักสูงสุด 23 กิโลกรัมได้ถึง 800 ลังภายในเวลา 1 ชั่วโมง
นอกจากบริษัทในสหรัฐฯแล้ว นักวิจัยในอิตาลีและฮ่องกงก็ประสบความสำเร็จกับการทดลองพัฒนาหุ่นสมองกลต่างๆ ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งทำงานช่วยเหลือผู้คนในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เป็นต้น
กำเนิดใหม่ของ NFTs
หุ่นสมองกลที่ได้รับการออกแบบโดยบริษัท Hanson Robotics ที่ชื่อ โซเฟีย (Sophia) ช่วยสร้างงานศิลป์ชิ้นใหม่ออกมาที่เรียกกันว่าเป็น non-fungible tokens (NFTs) ซึ่งกลายมาเป็นงานศิลป์ดิจิทัลที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ NFT ถูกจัดทำในรูปแบบของบล็อกเชนที่ใช้ในการรักษาความเป็นเจ้าของของสินทรัพย์นั้น ๆ เช่น งานศิลปะดิจิทัล หรือของสะสมต่าง ๆ โดยการมีเอกลักษณ์เฉพาะตนของสินทรัพย์ประเภทนี้ทำให้ช่วยพิสูจน์ได้ว่า งานศิลป์นั้นๆ เป็นของจริงแท้หรือไม่ได้ด้วย
และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บีเปิล (Beeple) ศิลปินชาวอเมริกันทำสถิติขายผลงาน NFT ของตนได้เป็นเงินถึงเกือบ 70 ล้านดอลลาร์ ผ่านการประมูลโดยสำนักประมูลคริสตี้ส์ (Christie’s) ซึ่งกลายมาเป็นการประมูลครั้งแรกของงานศิลป์ที่ไม่มีรูปแบบทางกายภาพให้จับต้องได้โดยบริษัทประมูลชั้นนำด้วย